เปิด 5 กลุ่มทุน ชิงไลเซนส์ Virtual Bank จับตา 3 ตัวเต็ง ‘กรุงไทย-ทรู-ซีกรุ๊ป‘

เปิด 5 กลุ่มทุน ชิงไลเซนส์ Virtual Bank จับตา 3 ตัวเต็ง ‘กรุงไทย-ทรู-ซีกรุ๊ป‘

ธปท.เผยหลังปิดคำขอผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาต “เวอร์ชวลแบงก์” เมื่อ 19 ก.ย. 67 พบมีผู้ยื่น 5 ราย คาดประกาศผล “ผู้ชนะ” กลางปีหน้า และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 69 “บล.เคจีไอฯ” เก็ง 3 ตัวเต็ง “กรุงไทย-ทรู-ซีกรุ๊ป” โอกาสคว้าไลเซนส์

ปิดไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาต หรือ “ไลเซนส์” ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ที่ปิดวันยื่นไปแล้วเมื่อ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาประกาศปิดการยื่นคำขอไลเซนส์อย่างเป็นทางการแล้ว 

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังและ ธปท.เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) มายัง ธปท.ถึงวันที่ 19 ก.ย.2567

ล่าสุด ธปท.ปิดรับคำขอและมีผู้ยื่นคำขอ 5 ราย ซึ่ง ธปท.จะพิจารณาคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567

โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยภาพรวมและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ก่อนเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณา

ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ตั้ง Virtual Bank ภายในกลางปี 2568 โดยผู้ได้รับความเห็นชอบต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

อย่างไรก็ตามการให้ไลเซนส์ Virtual Bank ก่อนหน้านี้ ธปท.กำหนดว่า จะให้ไลเซนส์เพียง 3 รายเท่านั้น ขณะที่กระทรวงการคลังต้องการให้ไลเซนส์หรือผู้เล่นจำนวนมากกว่าที่ ธปท.กำหนด เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในธุรกิจ Virtual Bank ในอนาคต

ยืนยันไลเซนส์ 3 รายเหมาะสม

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท.กล่าวว่า การให้ใบอนุญาต Virtual Bank เพียง 3 ราย เป็นสิ่งที่เหมาะสมเพราะหากมีจำนวนผู้เล่นมากเกินไปอาจเกิดความเสี่ยง ดังนั้น 3 รายจึงเป็นจำนวนที่ดูแลทั่วถึงและปลอดภัยกว่า

อย่างไรก็ตาม ธปท.ไม่ได้ปิดกั้นให้มีรายอื่นเข้ามาทำธุรกิจ Virtual Bank ในอนาคต ซึ่งผู้เล่นที่ได้ไลเซนส์ช่วงแรกบริหารจัดการดี ไม่มีความเสี่ยงต่อระบบ ครั้งต่อไป ธปท.ก็อาจมีการเปิดให้ไลเซนส์เพิ่มเติมได้

คาด 5 รายยื่นขอไลเซนส์แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากดูจำนวนของผู้ประกอบการที่มีการยื่นคำขอไลเซนส์จาก ธปท.ที่เปิดเผยรายชื่อก่อนหน้านี้มีทั้งสิ้น 5 ราย คือ

 1.“บมจ.เอสซีบี เอกซ์” (SCB) ที่มีพันธมิตรใหญ่ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน และ KakaoBank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้

2.“กรุงไทย-เอไอเอส-โออาร์” ที่มองตลาดนี้มีโอกาสอีกมากในการเข้ามาทำธุรกิจ

3.“กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่” ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (ซีพี) จับมือ “แอนท์ กรุ๊ป” (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทค เป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา (Albaba) จากจีน 

4.“ซี กรุ๊ป” ผนึก 4 พันธมิตร ชิงเวอร์ชวลแบงก์ ทั้งธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง หรือ BTS ที่ส่งบริษัทลูกอย่าง บริษัท วีจีไอ หรือ VGI เป็นผู้ลงสนามดังกล่าว , เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย

5.กลุ่ม Lightnet ภายใต้ “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” จับมือ WeLab ผู้นำด้าน Virtual Bank ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

คาดกลุ่ม “กรุงไทย-ทรู-ซีกรุ๊ป” เด่นสุด

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า 5 กลุ่ม ที่ยื่นขอใบอนุญาตชิง Virtual Bank ประเมิน KTB, CP และ BBL น่าจะได้ใบอนุญาต ในขณะที่ SCB และ Lightnet Group น่าจะต้องแข่งขันกัน ซึ่งใน 3 ธนาคารใหญ่ที่ยื่นขอใบอนุญาต (KTB, BBL, SCB) มองว่า Virtual Bank จะส่งผลดีกับ KTB และ BBL 

ส่วนกรณีของ BBL เนื่องจากธุรกิจรายย่อยของธนาคารมีสัดส่วนต่ำ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยที่น้อยกว่า 15% การเข้ามาของ BBL ยังมีโอกาสจะขยายฐานลูกค้ารายย่อยได้จากฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของพันธมิตรในกลุ่ม

ขณะเดียวกัน KTB และพันธมิตรมีแนวโน้มได้อานิสงส์มากที่สุดในแง่ของการใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) จาก ADVANC และ OR ส่วนที่นอกระบบธนาคาร การปรับปรุงยอดเก็บเงินสด และคุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงการขยายสินเชื่อเพิ่มในอนาคตด้วย 

อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ส่งผลดีกับ SCB ถ้าธนาคารนำ Virtual Bank ไปใช้ให้บริการด้านการธนาคารสำหรับรายย่อย เพราะถือว่าทับซ้อนกันกับหน่วยงานที่มีอยู่

ในต่างประเทศ3ปีแรกเผชิญขาดทุน 

สำหรับกรณีของสิงคโปร์ ธนาคารกลางออกใบอนุญาต virtual bank จำนวน 5 ใบเมื่อปี 2562 ส่วนมาเลเซียออก 6 ใบอนุญาตเมื่อปี 2565 ผู้เล่นหลักในสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นกลุ่มเดียวกัน คือ “Grab และ Singtel” ส่วนผู้เล่นรายอื่นมาจาก fintech startup ในประเทศ ขณะที่ virtual bank ในอินโดนีเซีย (ใบอนุญาต 9 ใบ) นำโดยธนาคารต่างประเทศ และ fintech startup ในประเทศ ทั้งหมดในทุกประเทศยังไม่มีกิจการไหนที่ทำกำไรได้เลย 

อย่างไรก็ตาม virtual bank ในเกาหลีใต้ (ใบอนุญาต 3 ใบ) สามารถทำกำไรได้ภายใน 3 ปีหลังเปิดดำเนินการ โดยเน้นธุรกิจเฉพาะ และ cryptocurrency โดยไม่มีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจ และขอบเขตของธุรกิจ

ทั้งนี้ จากเปรียบเทียบ virtual bank ของประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย พบว่า virtual bank ที่เปิดให้บริการอยู่ใช้โมเดลธุรกิจสองแบบ ได้แก่ 

1.แบบเฉพาะทาง (specialized virtual bank) และ 2.แบบทั่วไป (virtual bank for all) โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งจะมาจาก fintech startup (อย่างเช่นในอินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้) และกลุ่มบริษัท (อย่างเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ไทย)

แต่ไม่ว่าในกรณีใด virtual bank ก็เป็นธุรกิจที่จะมีขาดทุนไปอย่างน้อย 3-5 ปี (ยกเว้นเกาหลีใต้ ซึ่งในกรณีของ Kakao, K Bank, และ Toss Bank สามารถทำกำไรได้ภายในเวลา <3 ปี เนื่องจากการกำหนดตำแหน่งเป็นธนาคารเฉพาะทาง (specialized bank)

สุดท้ายแล้ว ก็ต้องจับตาว่าใครจะได้ “ไลเซนส์” จากธปท. ควบคู่กับที่ต้องลุ้นว่า ครั้งนี้ ธปท.จะใจอ่อนตาม “คลัง” ที่จะให้ใบอนุญาตกับผู้ให้บริการทั้งหมดที่ยื่นมาทั้ง 5 รายหรือไม่ เพราะหากดูคุณสมบัติทั้ง 5 รายก็เชื่อว่าไม่มีใครเป็นรองใคร ทั้งความเชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ทำ Virtual Bank มาแล้วหลากหลายกลุ่ม รวมถึงการมีความพร้อมทั้งโอกาสในการเข้าถึงลูกค้า และการมีเทคโนโลยีที่เป็นเลิศ ที่เป็นกุญแจสำคัญ ที่จะใช้เจาะลูกค้า Virtual Bank ได้