ค่าเงินบาทวันนี้ 24 ก.ย.67 ’แข็งค่า‘ แรงขายทองคำทำกำไร หลังราคาทำออลไทม์ไฮ

ค่าเงินบาทวันนี้ 24 ก.ย.67 ’แข็งค่า‘ แรงขายทองคำทำกำไร หลังราคาทำออลไทม์ไฮ

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ก.ย.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 32.96 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้หลังราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำออลไทม์ไฮ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ท่ามกลางความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด มองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.85-33.05 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.96 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.00 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.05 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย (กรอบการเคลื่อนไหว 32.88-33.02 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ท่ามกลางความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด (ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้อีกราว -75bps ในอีกสองการประชุมที่เหลือในปีนี้) 

ค่าเงินบาทวันนี้ 24 ก.ย.67 ’แข็งค่า‘ แรงขายทองคำทำกำไร หลังราคาทำออลไทม์ไฮ

รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงร้อนแรงอยู่ ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามจังหวะการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินหลัก Cross-THB อาทิ เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังในช่วงนี้ เงินเยนญี่ปุ่นได้ทยอยอ่อนค่าลงมาพอสมควร เมื่อเทียบกับเงินบาท (JPYTHB ต่ำกว่า 23 บาท/100 เยน)

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินบาทจะมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เมื่อตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งเรามองว่า มีความเสี่ยงที่ตลาดอาจต้องปรับลดมุมมองต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับจากนี้ไป ไม่ได้ออกมาเลวร้ายนัก หรือ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้บ้าง

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เราประเมินว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติบ้าง โดยเราเริ่มเห็นการปรับลดสถานะ Net Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ผ่านการทยอยขายบอนด์ระยะสั้น ส่วนในฝั่งหุ้นก็เริ่มเห็นความเสี่ยงที่ดัชนี SET อาจเข้าสู่ช่วงพักตัวในระยะสั้น ตามที่เราประเมินไว้ในวันจันทร์ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้บรรดาสกุลเงินหลัก (Cross THB) อ่อนค่าลงพอสมควร เช่น เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบรรดาสกุลเงินดังกล่าวได้บ้าง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงได้รับแรงหนุนและสามารถทยอยปรับตัวขึ้นได้ 

 

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด (รวมถึงย้ำความจำเป็นของการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมที่ผ่านมา) อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent 7) อยู่ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.28% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.40% แม้ว่ารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุดของยูโรโซน ในเดือนกันยายน จะออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน แต่ภาพดังกล่าวก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ เพื่อประคองเศรษฐกิจ หนุนให้หุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวกับแนวโน้มดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น อาทิ กลุ่มเทคฯ และอสังหาฯ เป็นต้น ขณะที่หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินต่างปรับตัวลดลง 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้างเข้าใกล้โซน 3.80% ตามรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการ เดือนกันยายน ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงบรรยากาศโดยรวมของตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยง ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง ก่อนที่จะย่อลงสู่ระดับ 3.75% หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มเติม อนึ่ง เราคงประเมินว่า ในระยะสั้น ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวลงหนักที่ชัดเจน จนทำให้เฟดจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่ตลาดอาจต้องปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้าง โดยเรายังคงมองว่า กลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว จะสร้างความได้เปรียบให้กับผู้เล่นในตลาด 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นในช่วงบ่ายวันก่อนหน้า หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ในเดือนกันยายนของฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงบ้าง ทว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกจำกัดลงโดยบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 100.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.7-101.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงตลาดเผชิญสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง ก่อนที่จะถูกขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยรวมยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,651 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนกันยายน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB 

ส่วนทางฝั่งเอเชีย ในส่วนนโยบายการเงินนั้น ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มการชะลอตัวของเงินเฟ้อ ส่วนทางฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของผู้ว่าฯ BOJ หลังล่าสุด BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOJ จะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีกครั้งในช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป     

สำหรับในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) เดือนสิงหาคม ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องได้หรือไม่ ในส่วนของยอดการส่งออก ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

และในฝั่งสหรัฐฯ ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนกันยายน