Climate Tech : ความหวังยุคใหม่ สู้ภัยโลกเดือด
การจะอยู่รอดในสมรภูมิน่านน้ำสีแดงที่ทั้งผู้เล่นหน้าใหม่และเก่ากำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดเช่นนี้ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่า ใครจะมีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากกว่ากันเพียงอย่างเดียว สตาร์ทอัพโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้จำเป็นต้องตอบโจทย์ทั้งความยั่งยืนและความต้องการทางธุรกิจ
สวัสดีครับ
ในยุคโลกเดือดเช่นนี้ "Climate Tech" หรือ เทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นหนึ่งในความหวังในการแก้ไขปัญหาและสร้างอนาคตสีเขียวที่ยั่งยืน แต่การดำเนินธุรกิจในด้านนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงโมเดลธุรกิจที่เป็นความฝันของคนรุ่นใหม่อย่างสตาร์ทอัพซึ่งต้องฝ่าฟันกับความท้าทายมากมายทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ต้องตอบโจทย์ตรงตามความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้งาน การบริหารจัดสรรเงินทุนที่ได้รับมา หรือด้านมาตรฐานและกฎระเบียบในบางเรื่องที่ยังซับซ้อนและไม่มีความชัดเจนมากนักครับ
หลายท่านพอจะทราบมาบ้างว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน CB Insights แพลตฟอร์มด้านข้อมูลธุรกิจได้สำรวจและรายงานข้อมูลที่น่าสนใจว่า สาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพมากกว่าครึ่งต้อง “คว้าน้ำเหลว” พับโปรเจ็คเก็บเข้ากรุไปในปี 2023 คือผลิตภัณฑ์หรือบริการไม่ตรงกับความต้องการของตลาดเป้าหมาย (Misaligned Product-Market Fit) คิดเป็นร้อยละ 42 นอกเหนือจากนั้นเป็นประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ เช่น การขาดแคลนเงินทุน การตั้งราคาที่ไม่สามารถแข่งขันได้ หรือการที่สมาชิกในทีมขาดทักษะบางประการ เป็นต้น
ดังนั้น การจะอยู่รอดในสมรภูมิน่านน้ำสีแดงที่ทั้งผู้เล่นหน้าใหม่และเก่ากำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดเช่นนี้ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่า ใครจะมีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากกว่ากันเพียงอย่างเดียว สตาร์ทอัพโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้จำเป็นต้องตอบโจทย์ทั้งความยั่งยืนและความต้องการทางธุรกิจ หรือถ้าจะพูดให้เห็นภาพ สตาร์ทอัพต้องสร้างเทคโนโลยีที่สามารถ “ช่วยโลก” และ “ทำเงิน” ได้ในเวลาเดียวกัน และต้องยอมรับว่า ณ จุดนี้ การจะบรรลุจุดประสงค์ทั้งสองข้อนี้ บอกได้เลยว่าหืดขึ้นคอครับ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญนั่นคือสตาร์ทอัพนั้นไม่สามารถเป็น One-Man Show ได้ แต่ต้องอาศัยระบบนิเวศทางธุรกิจที่แข็งแกร่งซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายทั้ง วิศวกรระบบ นักพัฒนาด้านไอที หรือนักบัญชีที่จำเป็นต้องเข้ามาดูแลเรื่องการบริหารงบการเงิน ซึ่งประเด็นที่กล่าวมาเปรียบเสมือน “จุดสลบ” ของสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อย โดยการมีมืออาชีพที่มีความสามารถในด้านต่างๆ เข้ามาร่วมงานตั้งแต่ต้นจะช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนสำนวนที่ว่า “เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ครับ
สิ่งที่สตาร์ทอัพจำเป็นต้องทำในช่วงแรกคือการมุ่งค้นหาจุดแข็งของตนเองและพัฒนาโมเดลธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด ในปัจจุบัน ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) มักจะเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต และต้องเริ่มแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนถึง “ความสำเร็จ” บางประการ ดังนั้นสตาร์ทอัพต้องฉายภาพให้นักลงทุนเห็นถึงความเป็นไปได้เชิงธุรกิจและผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน
แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่ปัจจุบันเราเริ่มเห็นธุรกิจสตาร์ทอัพบางรายที่มีแนวโน้มจะทำได้ดีอยู่บ้าง เช่น Climeworks บริษัทสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ที่พัฒนาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรง (Direct Air Capture : DAC) ทำหน้าที่กรองคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ น่าสนใจว่าสตาร์ทอัพแห่งนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Microsoft และ Stripe ในการจ่ายเงินเพื่อใช้งานเทคโนโลยีสุดล้ำนี้ สะท้อนว่า เมื่อพูดถึง “ความยั่งยืน” ยังคงมี “อุปสงค์” หรือความต้องการซื้ออยู่เสมอ
ขณะเดียวกัน Northvolt บริษัทผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนรายใหญ่ของสวีเดน ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน เป็นอีกหนึ่งรายที่กำลังร่วมมือกับบริษัทยานยนต์ชั้นนำเพื่อพัฒนาระบบแบตเตอรี่ แม้ในปัจจุบันอาจจะเผชิญกับความท้าทายด้านการดำเนินธุรกิจจากการแข่งขันจากบริษัทฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะจากจีน กระนั้น สตาร์ทอัพในประเทศไทยอาจใช้ Northvolt เป็นกรณีศึกษาทั้งด้านความเสี่ยงและโอกาสได้ เนื่องจากระบบขนส่งของเรากำลังเปลี่ยนผ่านจากรถเครื่องยนต์สันดาปไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยได้หลากหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่สำคัญคือการให้เงินทุนและการลงทุน ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของเงินร่วมลงทุน หรือการให้ทุนเพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถขยายเทคโนโลยีของตนได้ รวมถึงเสนอพันธบัตรสีเขียวหรือสินเชื่อพิเศษที่มีเงื่อนไขในการสนับสนุนโครงการด้านเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ
ที่สุดแล้ว ความสำเร็จของสตาร์ทอัพขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้าง “สมดุล” ระหว่างนวัตกรรม ความยั่งยืน และผลตอบแทนทางธุรกิจ ที่สำคัญคือต้องพยายามหาจุดแข็งของตนให้เร็วที่สุด รวมถึงกลับไปตั้งคำถามแต่ละช่วงของการพัฒนานวัตกรรมว่าเทคโนโลยีที่กำลังทุ่มแรง ทุ่มเวลาพัฒนานั้นตอบโจทย์ที่กล่าวมาหรือไม่ ขณะเดียวกัน ภาคการเงินอาจเข้ามาช่วยในเรื่องการให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา รวมถึงเสริมความแข็งแกร่งของสตาร์ทอัพไทยในการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างตรงจุดครับ