หลักเกณฑ์เสียภาษีสำหรับ "ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย" ในจุดผ่อนปรน
หาบเร่แผงลอยในจุดผ่อนปรนของกรุงเทพฯ จะต้องยื่นเสียภาษีตามกฎหมายและทำตามเงื่อนไข เปิดหลักเกณฑ์เสียภาษี พร้อมเงื่อนไขต่างๆ อ่านที่นี่
การสร้างความมั่นคงในอาชีพการงานของแต่ละคนไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจัยเรื่องเงินเป็นตัวแปรสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทำให้หลายคนต้องเริ่มธุรกิจขนาดเล็ก อย่างเช่นอาชีพค้าขายที่เรามักเห็นตั้งร้านแผงลอยอยู่บนพื้นที่สาธารณะ ถนนริมทางเดินเพื่อประหยัดค่าเช่าที่ แล้วเก็บเล็กผสมน้อยไปก่อนจึงค่อยขยับขยายธุรกิจ พื้นที่ค้าขายของตนเอง
และเมื่อร้านแผงลอยเข้าจับจองพื้นที่สาธารธณะมากขึ้น ในมุมของความสวยงามและความสะดวกในการเดินทางสัญจร กลับสร้างปัญหาให้กับผู้คนไม่น้อย จึงทำให้เกิดการประชุมทบทวนเรื่องหาบเร่แผงลอยที่จะประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพฯ ขึ้น
ซึ่งหลังจากประชาพิจารณ์และปรับปรุงตามความเห็นในเรื่องอื่นเพิ่มเติมเสร็จสิ้นแล้ว จะลงนามและรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
โดยเบื้องต้นหากมีการหาบเร่แผงลอยในจุดผ่อนปรนของกรุงเทพฯ จะต้องยื่นเสียภาษีตามกฎหมายและทำตามเงื่อนไขคือ ถ้ารายได้น้อยเกินกว่าจะเสียภาษี ก็ยังมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีหากเข้าหลักเกณฑ์เพื่อให้รัฐบาลรู้ว่ามีรายได้เท่าไหร่ และหากหาบเร่แผงลอยในจุดผ่อนปรนมีรายได้เกิน 25,000 บาท/ปี หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะต้องย้ายไปเช่าพื้นที่อื่นทำมาหากินแทน
คุณสมบัติและเงื่อนไขสำหรับผู้ค้าขายหาบเร่แผงลอยในจุดผ่อนปรน
เงื่อนไขและคุณสมบัติสำหรับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยในจุดผ่อนปรนที่ต้องปฏิบัติตามมีดังนี้
คุณสมบัติ
- เป็นผู้มีสัญชาติไทย
- เป็นบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ณ วันที่ลงทะเบียนดังต่อไปนี้
1) เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2) เป็นคู่สัญญาในการซื้อบ้านที่อยู่อาศัยกับการเคหะแห่งชาติในโครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและยังมีภาระผูกพันในการชําระของมนุษย์
3) เป็นบุคคลที่ได้รับเงินสวัสดิการจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง
4) เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 180,000 บาทต่อปี โดยให้อ้างอิงหลักฐาน จากรายได้พึงประเมินการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ทั้งนี้ หากผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการแต่ยังไม่เคยยื่นภาษี สามารถใช้หลักฐานการยื่นภาษีในปีถัดไปมาเป็นหลักฐานได้
เงื่อนไขต่างๆ
- ต้องเป็นผู้ค้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อสรรพากรทุกปีตามที่กฎหมายกำหนด และนำเอกสารหลักฐานมายื่นต่อสำนักงานเขต หากเงินได้พึงประเมินเกินกว่าที่กำหนดให้ถือว่าสิทธิในการทำการสิ้นสุดลง
- หากผู้ค้าหลีกเลี่ยงโดยไม่ส่งเอกสารภายในเวลาที่กหนด จะถือว่าเป็นผู้มีรายได้เกินกว่าที่กำหนดไว้
- ผู้ค้าต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขโดยให้มีผู้ช่วยจำหน่ายสินค้าได้ 1 คน
- การได้รับอนุญาตให้ทำการค้าให้ถือเป็นการเฉพาะตัวและไม่สามารถขาย จำหน่าย และเปลี่ยน ให้เช่า โอนหรือให้บุคคลอื่น รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขอื่นตามที่กรุงเทพมหานครกำหนด
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยต้องเสีย
จากประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขสำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ใช้พื้นที่ในเขตผ่อนปรนของกรุงเทพมหานคร จะต้องยื่นภาษีและเสียภาษีตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และนำส่งเอกสารหลักฐานกับสำนักงานเขตที่ใช้พื้นที่หาบเร่แผงลอยในเขตผ่อนปรนนั้นๆ
โดยการยื่นภาษีตามกฎหมายกำหนดว่า เมื่อผู้มีรายได้ที่ได้รับค่าจ้าง รายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือน มีเฉพาะเงินประเภทอื่น อย่างเช่นเงินจากการขายของ หากเกิน 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษี แต่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี และหากรายได้สุทธิหลังจากหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วเกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษี
ทั้งนี้ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยจัดอยู่เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) การเสียภาษีจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเพื่อยื่นภาษี และไม่ต้องเก็บเอกสารประกอบเพื่อใช้ยื่นภาษี เพราะไม่ต้องพิสูจน์รายได้ โดยเหมาะกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีต้นทุน-ค่าใช้จ่าย น้อยกว่า 60% และมีกำไรมากถึง 40%
2) แบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง ลักษณะนี้เหมาะกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีต้นทุนสูง และมีกำไรน้อยกว่า 40% โดยจะต้องทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายและกำไรทุกเดือน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณยื่นภาษี และต้องเก็บเอกสารทุกใบที่มีข้อมูลระบุชัดเจนและถูกต้องตามที่กรมสรรพากรกำหนด
จากนั้นนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามสูตร คือ
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
= ภาษีที่ต้องจ่าย
โดยสามารถเปรียบเทียบจากตารางอัตราภาษีก้าวหน้า ดังนี้
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามอัตราภาษีก้าวหน้าหรือแบบขั้นบันได ดังนี้
เงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาท (ได้รับการยกเว้นภาษี)
เงินได้สุทธิ 150,001 – 300,000 บาท (อัตราภาษี 5%)
เงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 บาท (อัตราภาษี 10%)
เงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาท (อัตราภาษี 15%)
เงินได้สุทธิ 750,001 – 1,000,000 (อัตราภาษี 20%)
เงินได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000(อัตราภาษี 25%)
เงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 (อัตราภาษี 30%)
เงินได้สุทธิเกิน 5,000,000 ขึ้นไป(อัตราภาษี 35%)
สรุป...ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในพื้นที่ผ่อนปรน อย่าลืมยื่นภาษี
ดังนั้น เมื่อหลักเกณฑ์ดังกล่าวเริ่มใช้จริง ใครที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวโดยการเลือกใช้พื้นที่ผ่อนปรนของกรุงเทพมหานคร ในการค้าขายหาบเร่แผงลอยเพื่อให้ประหยัดค่าเช่าพื้นที่ อย่าลืมไปขอขึ้นทะเบียนที่สำนักงานเขตนั้นๆ และยื่นภาษีประจำปีหากรายได้เกิน 60,000 บาท และเสียภาษีเมื่อเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเกิน 150,000 บาท พร้อมกับส่งหลักฐานให้กับสำนักงานเขตที่ค้าขายแผลอยอยู่ทุกปี เพื่อรักษาสิทธิในการใช้พื้นที่ผ่อนปรนอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบบังคับ
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting