‘หนี้เสีย‘ แบงก์ทะลัก 5.3 แสนล้าน ’กรุงเทพ-กสิกร-กรุงศรี‘ หนี้ค้างยังไหลต่อ

‘หนี้เสีย‘ แบงก์ทะลัก 5.3 แสนล้าน ’กรุงเทพ-กสิกร-กรุงศรี‘ หนี้ค้างยังไหลต่อ

เปิดภาพรวม “หนี้เสีย” ระบบแบงก์พาณิชย์ไทยยังไหลต่อเนื่อง ล่าสุด ไตรมาส 3 ปี 67 หนี้เสียทั้ง “10 แบงก์” แตะ 5.3 แสนล้าน เพิ่มขึ้นเฉียด 6% “กรุงเทพ-กสิกรไทย-กรุงศรี” หนี้เสียยังไหลไม่หยุด

หากดูสถานการณ์ “หนี้เสีย” หรือ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) ถือว่ายังคง “น่าห่วง” อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการเผยแพร่ข้อมูลของ “เครดิตบูโร” ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ที่ยังพบว่าหนี้เสียยังไหลลงต่อเนื่อง มาแตะ 1.2 ล้านล้านบาทเรียบร้อยแล้ว หรือจากข้อมูลการประกาศผลการดำเนินงานของ “กลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย” ที่ยังพบว่าหนี้เสียโดยรวมยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ๆ ที่หนี้เสียยังคงไหลต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาจะมีการบริหารจัดการหนี้เสียมากขึ้นแล้ว สะท้อนจากทั้งผ่านการปรับโครงสร้างหนี้, การขายหนี้ออกมาต่อเนื่อง แต่หนี้เสียก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของ “แบงก์” เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ที่ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ที่มีสัญญาณด้อยคุณภาพลงต่อเนื่อง

ล่าสุด นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดเผยข้อมูลของหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งยังไม่รวมข้อมูล หรือ ผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา พบว่า หนี้เสียกลับไปทำ “สถิติสูงสุดใหม่” อีกครั้ง อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท จากเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ที่หนี้เสียอยู่ที่ 1.18 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นราว 8.7% ของสินเชื่อรวม 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีหนี้ที่กำลังจะเสีย ที่ยังต้องจับตาเป็นพิเศษ หรือ ​SM ในเดือนส.ค.​ 2567 ในระบบของเครดิตบูโร ​อยู่ที่​ 6.4 แสนล้านบาท คิดเป็น​ 4.7%

อย่างไรก็ตาม หากดูจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือ​ DR หรือ​ Preemptive​ Debt​ Restructure ที่เริ่มให้มีการบันทึกข้อมูล​ในระบบเครดิตบูโรตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567​ พบว่า มียอดสะสมจนถึงเดือนส.ค. เป็นราว 1 ล้านบัญชี คิดเป็นกว่า 5.4 แสนล้านบาท ​ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นเหมือนฝายทดน้ำไม่ให้​ SM ไหลไปเป็น​ NPLs เพราะตามเกณฑ์​การให้สินเชื่อที่รับผิดชอบ​เจ้าหนี้ต้องยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้ถ้าเห็นว่าลูกหนี้จะผ่อนตามเงื่อนไขเดิมไม่ได้แล้ว 

หนี้เสียไตรมาส3แตะ5.3แสนล้านบาท 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาดูข้อมูลหนี้เสีย ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ ที่เพิ่งประกาศไปหมาดๆพบว่า หนี้เสียทั้ง 10 ธนาคารพาณิชย์ คือธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) บมจ. เอสซีบี เอกซ์ (SCB) กลุ่มการเงินทิสโก้ (TISCO) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMB) 

โดยหนี้เสียทั้ง 10 ธนาคาร ณ สิ้นไตรมาส 3 โดยรวมอยู่ที่ 537,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.36% หากเทียบกับช่วงสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา ที่หนี้เสียอยู่ที่ 510,523 ล้านบาท ขณะที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นเช่นกันหากเทียบกับไตรมาสก่อน อยู่ที่ 0.38% จาก 535,856 ล้านบาท

“แบงก์ใหญ่”หนี้เสียไหลต่อเนื่อง 

โดยพบว่า ธนาคารส่วนใหญ่ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีหนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ใหญ่ๆ อย่าง ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรีฯ , ธนาคารทหารไทยธนชาต 

โดยหากดูตัวเลขของธนาคารกรุงเทพ มีหนี้เสียล่าสุด อยู่ที่ 103,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.99 % จากปลายปีที่ผ่านมา ที่มีหนี้เสียอยู่เพียง 85,955 ล้านบาท และหนี้เสียยังเพิ่มขึ้น หากเทียบกับช่วงไตรมาสที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.90% จาก 99,140 ล้านบาท หรือหากคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสีย พบว่า ปัจจุบันมาอยู่ที่ 3.40% จากเดือนมิ.ย.ที่ 320% และจากสิ้นปีอยู่ที่ 2.70%

ถัดมา ธนาคารกสิกรไทย หนี้เสียปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92,937 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.53% หากเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสัดส่วนหนี้เสียปัจจุบันอยู่ที่ 3.20% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมิ.ย. ที่อยู่ราว 3.18% และ 3.19% ในช่วงปลายปีก่อน

หรือ ธนาคารกรุงศรีฯ ที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยหนี้เสียล่าสุดอยู่ที่ 74,417 ล้านบาท หนี้เพิ่มขึ้น 21.4% จากปลายปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 1.98% จากหนี้เสียล่าสุดอยู่ที่ 72,973 ล้านบาท ทั้งนี้ หากดูในแง่ของสัดส่วนหนี้เสียพบว่า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่เหนือ 3.2% จากเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 3.05% และเดือนธ.ค. ปี 2566 อยู่ที่ 2.53%

ทั้งนี้ ธนาคารทหารไทยธนชาตเป็นอีกแบงก์ ที่หนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุด หนี้เสียอยู่ที่ 40,224 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.30% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสียล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ 2.74% จาก 2.64% และ 2.62% หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและปลายปีก่อ

สถานการณ์หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการ “ตั้งสำรอง” ของบางธนาคารที่ยังคงอยู่ระดับสูง เพื่อรองรับความเสี่ยงและป้องกันการไหลต่อเนื่องของหนี้เสีย

การ “ลดดอกเบี้ย” ของธนาคารพาณิชย์ ก็ถือเป็นอีกมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือ “ลดภาระหนี้” ประชาชนให้ลดลง แต่ในปัจจุบันเริ่มเห็นภาพของธนาคารพาณิชย์ออกมาส่งผ่านดอกเบี้ยสู่ระบบบ้างแล้ว โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับสินเชื่อรายย่อยสูงสุด 0.25% เท่ากับดอกเบี้ยนโยบาย

จ่อต่อมาตรการช่วยกลุ่มเปราะบาง

นอกจาก การลดดอกเบี้ยแล้ว จะเห็นว่า บางสถาบันการเงินยังพร้อมให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี ต่อเนื่องไปถึงปลายปี โดยการต่ออายุมาตรการไปถึงสิ้นปี 2567 เช่น ทีเอ็มบีธนชาต ซึ่งหากรวมกับการประกาศลดดอกเบี้ยครั้งนี้ 0.25% โดยรวมแล้วอัตราดอกเบี้ยสำหรับกลุ่มเปราะบาง และเอสเอ็มอีจะลดลงรวมราว 0.375-0.50% ต่อปี และธนาคารยังมีแผนที่จะปรับมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามความเหมาะสมต่อเนื่อง เมื่อมาตรการเดิมสิ้นสุดลง

เช่นเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ที่ต่อมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น ทั้งบุคคลธรรมดา และกลุ่มเอสเอ็มอีไปจนถึงสิ้นปีนี้ จากเดิมหมดอายุ 15 พ.ย. 2567 นี้

ลดดอกเบี้ยหนี้รายย่อยลด1.3 พันล้าน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากกรณีการที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยเฉพาะเงินกู้สูงสุด 0.25% โดยให้มีผลต้นเดือนพ.ย. 2567 พร้อมๆ กับต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางไปจนถึงสิ้นปี 2567

โดยถือเป็นหนึ่งในกลไกการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ปรับผ่อนคลายลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ตลาดสินเชื่อ โดยคาดว่า สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 40.9% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย

ขณะที่ ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้ จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อย และภาคธุรกิจปรับลดลงเกือบ 1,300 ล้านบาท (คำนวณผลของภาระดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงเฉพาะช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2567 โดยยังไม่ได้นับรวมสินเชื่อส่วนที่จะเข้าสู่ช่วงการปรับอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า)

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ไทยลงในรอบนี้ อาจไม่มีผลทำให้ค่างวดผ่อนของลูกหนี้ในแต่ละเดือนเปลี่ยนแปลง แต่มองว่าลูกหนี้จะได้รับอานิสงส์ในด้านอื่นๆ เข้ามาแทน