นศศ.หวั่น ตลาดรถยนต์ซึมยาวถึงกลางปี68 กำลังซื้อระดับกลาง-ล่างอ่อนแอหนัก

นศศ.หวั่น ตลาดรถยนต์ซึมยาวถึงกลางปี68 กำลังซื้อระดับกลาง-ล่างอ่อนแอหนัก

“นักเศรษฐศาสตร์”ชี้ยอดขายรถยนต์ดิ่ง สะท้อนกำลังซื้ออ่อนแอ เศรษฐกิจทรุด “เคเคพี” มองยอดขายต่ำ จากเศรษฐกิจชะลอ และ “แบงก์” เข้มปล่อยกู้ เหตุเสี่ยงขาดทุนรถยึด

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ

โดยระบุว่า สถิติการผลิตรถยนต์ 9 เดือน ระหว่าง ม.ค. - ก.ย.2567 มีจำนวนรวมรถยนต์ทุกประเภทอยู่ที่ 1.1 ล้านคัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวน 1.3 ล้านคัน ลดลง 18.62%

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าจากสถิติสะสมการผลิตรถยนต์ดังกล่าว ยังห่างจากเป้าหมายที่ ส.อ.ท.กำหนดไว้ในปีนี้จะผลิตรถยนต์จำนวน 1.7 ล้านคัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหารือเพื่อปรับเป้าหมายดังกล่าวลง

โดยคาดว่าจะมีการประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้  และในเดือน ต.ค.2567 จะมีตัวเลขเป้าหมายใหม่ออกมา เบื้องต้นอาจจะปรับลดลงหลายหมื่นคัน หรือเฉียดแสนคันซึ่งเป็นการปรับยอดการผลิตทั้งในประเทศและส่งออก

เนื่องจากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกรถยนต์ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้าง ทำให้หลายประเทศคู่ค้ามียอดการขายภายในประเทศลดลง และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น               

ส่วนยอดขายภายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% สถาบันทางการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อรถยนต์ 50 – 60% และยังไม่มีสัญญาณบวกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

“สถานการณ์ผลิตรถยนต์ปีนี้ยังน่าเป็นห่วง เดิมเราตั้งเป้าผลิตเพื่อขายในประเทศ 5.5 แสนคัน อาจจะเป็นไปไม่ได้ อาจต้องปรับเป้าผลิตขายในประเทศ ด้านส่งออกหลายประเทศมียอดขายในประเทศลดลง ระมัดระวังการใช้จ่ายจากสงครามตะวันออกกลาง คงต้องปรับเป้าส่งออกด้วย ซึ่งภาพรวมก็น่าจะปรับลดลงหลายหมื่นคัน ถึงเฉียดแสนคัน”

ก.ย.ผลิตรถยนต์ได้ 1.2 แสนคน

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า จำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือน ก.ย. 2567 มีทั้งสิ้น 122,277 คัน ลดลงจากเดือน ก.ย. 2566 ประมาณ 25.48% ลดลงจากการผลิตเพื่อส่งออกลดลง 15.78% และผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 42.31% ตามจำนวนส่งออกและขายในประเทศที่ลดลง แต่เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 2567 ประมาณ 2.17%

ในส่วนของการผลิตเพื่อส่งออก เดือน ก.ย.2567 ผลิตได้ 87,666 คัน เท่ากับ 71.69% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือน ก.ย. 2566 ประมาณ 15.78% ส่วนเดือน ม.ค. - ก.ย. 2567 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 774,175 คัน เท่ากับ 68.63% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ระยะเวลาเดียวกัน 4.42%

ด้านการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ในเดือน ก.ย. 2567 ผลิตได้ 34,611 คัน เท่ากับ 28.31% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือน ก.ย. 2566 ประมาณ 42.31% และเดือน ม.ค. – ก.ย. 2567 ผลิตได้ 353,851 คัน เท่ากับ 31.37% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือน ม.ค. – ก.ย. 2566 ประมาณ 38.57%

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ก.ย. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 39,048 คัน ต่ำสุดในรอบ 53 เดือน หรือกว่า 4 ปี

โดยลดลงจากเดือน ส.ค.2567 ประมาณ 13.59% ลดลงจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์เพราะหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 208,575 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์อยู่ที่ 259.330 ล้านบาท ในเดือน ก.ค. 2567

ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไตรมาสสองปี 2567 ที่โตต่ำแค่ 2.3% และคาดว่า 2567 จะเติบโตแค่ 2.7 - 2.8% เท่านั้น และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 2567 หดตัว 1.91%

แสดงถึงรายได้คนทำงานยังคงอ่อนแอ และส่งผลให้ยอดขายในเดือน ก.ย. 2567 ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 37.11%

การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ในรอบเดือน ก.ย. 2567 ส่งออกได้ 80,254 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 6.75% และลดลงจากเดือน ก.ย. 2566 ประมาณ 17.67% ลดลงจากการขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ จำนวนเที่ยวเรือลดลงและมีการใช้จ่ายลดลงในตลาดประเทศคู่ค้าหลายประเทศมียอดขายรถยนต์ลดลง จึงส่งออกลดลงทุกตลาดยกเว้นตลาดออสเตรเลียที่ยังเพิ่มขึ้น

แบงก์”ปล่อยกู้ฝืดเสี่ยงขาดทุนรถยึด

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องต่ำสุดรอบกว่า 4 ปี ถือเป็นภาพสะท้อนภาพเศรษฐกิจไทย และการปล่อยสินเชื่อของแบงก์

ภายใต้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว และมีหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขึ้นมากในหลายภาคส่วน บวกกับราคารถที่ปรับลดลงต่อเนื่อง จากการเข้ามาแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เหล่านี้ทำให้ตลาดสินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวต่อเนื่อง

ในมุมของสถาบันการเงิน ยังเห็นการระมัดระวัง และการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจาก “รถยึด” หากลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย การยึดรถมาเพื่อขายต่อ เสี่ยงขาดทุนสูง จึงเป็นผลให้แบงก์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ จนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจ และหนี้เสียรถยนต์จะปรับตัวดีขึ้น ถึงจะช่วยคลายความกังวลในตลาดรถยนต์ได้

“สถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้นได้ เศรษฐกิจต้องดี หนี้เสียรถยนต์ต้องดีขึ้น แต่ตอนนี้หนี้รถยนต์ก็ยังไหล ราคามือสองก็ยังคง ดังนั้นต้องรอให้ทุกอย่างมีเสถียรภาพ ราคาเริ่มคงที่ก่อน เพราะแบงก์เวลานี้ก็เหนื่อยมาก ดังนั้นจะเห็นว่าหลังจากนี้แบงก์คงไม่ปรับโหมดเร็ว จนกว่าจะเห็นสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นถึงจะกลับมาคลายความกังวลมากขึ้น”

กำลังซื้อซึมยาวถึงกลางปีหน้า

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย ยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวลดลง สะท้อนกำลังซื้อระดับล่าง ระดับกลาง และคนทั่วไปว่าอ่อนแอค่อนข้างมาก แม้จะมีการแจกเงินเฉพาะกลุ่ม มาตรการภาครัฐที่เริ่มออกมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้เงินกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากนัก อีกทั้งยังมีน้ำท่วมในภาคเหนือ ที่เป็นปัจจัยกระทบซ้ำที่ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน นอกจากทำให้คนซื้อรถยากลำบากมากขึ้น บวกกับความเชื่อมั่นของประชาชนตกต่ำลง จากความกังวลด้านราคา ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทั้งราคามือหนึ่ง มือสอง และรถอีวี ทียังเห็นการปรับลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นเวลานี้เข้าสู่ภาวะที่ “คนที่มีเงินก็ไม่ซื้อ คนที่อยากซื้อก็กู้ไม่ผ่าน”

ระยะถัดไปมองว่า สัญญาณการฟื้นตัวน่าจะอยู่ในภาวะซึมตัวต่อเนื่องไปถึงกลางปีหน้า แม้ดอกเบี้ยลดลง แต่ความมั่นใจต่างๆ คงไม่กลับมาโดยเร็ว

นอกจากนี้ จากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง กระทบกำลังการผลิตให้ชะลอตัวต่อเนื่อง และเริ่มเห็นผลกระทบลามไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้น ทั้งภาคการจ้างงาน กำลังซื้อ การบริโภคต่างๆที่ถูกกระทบมากขึ้น

“ตอนนี้ที่น่าห่วงกว่าคือ การซื้อรถบรรทุก กระบะปรับตัวลดลงต่อเนื่องสะท้อนกำลังซื้อระดับล่างที่แย่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำมาหากิน ทำอาชีพ เกษตรกร ที่ยังไม่กลับมา เหล่านี้สะท้อนถึงกำลังซื้อระดับล่างที่อ่อนแอชัดเจน”

คาดไทยเสียแชมป์ส่งออกให้ “จีน-ญี่ปุ่น” 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 2567 เป็นหนึ่งปีที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย เพราะนอกจากยอดขายในประเทศจะหดตัวแรงแล้ว ยอดการส่งออกของไทยก็หดตัวเช่นกัน โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกไปตลาดหลักอันดับ 2 ของไทยอย่าง อาเซียนที่ลดลงมาก (ตลาดอาเซียนคิดเป็น 25% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ไทย) นั่งไปอาเซียน ซึ่งช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมาติดลบถึง 19% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ รถเพื่อการพาณิชย์ส่งออกลดลง 3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นั่นแปลว่า รถยนต์นั่งไทยอาจกำลังเจอความเสี่ยงในตลาดนี้ ส่งออกรถยนต์นั่งไทยไปอาเซียน คาดเสียแชมป์ให้ “จีนและญี่ปุ่น” ในปีนี้

แม้ตั้งแต่ปี 2560 ไทยจะครองตำแหน่งแชมป์ส่งออกรถยนต์นั่งไปอาเซียนมาโดยตลอด ทว่าหลังผ่าน 7 เดือนแรกของปี 2567 มา กลับพบจีนและญี่ปุ่นขยับส่วนแบ่งขึ้นนำไทยได้เป็นครั้งแรก ขณะที่อินโดนีเซียแม้ยังมีส่วนแบ่งน้อยกว่า แต่ก็ขยับเข้ามาใกล้ไทยมากขึ้น

โดยจีนคาดขึ้นอันดับ 1 แทนที่ไทยในตลาดอาเซียนปีนี้ หลังส่งออกรถยนต์นั่ง BEV ได้ เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ญี่ปุ่นขยับขึ้นอันดับ 2 นำโดยการส่งออกรถยนต์นั่งไฮบริด (HEV) อาศัย

ปัจจัยหนุนสำคัญจากมาตรการส่งเสริมรถยนต์ลดมลพิษของรัฐบาลแต่ละประเทศที่ออกมาในช่วงนี้ส่งผลกดดันให้ไทยตกลงมาอยู่อันดับ 3 เนื่องจากไทยเพิ่งเริ่มผลิต BEV และแม้จะมีการผลิตรถยนต์นั่งไฮบริดแล้ว แต่ที่ผลิตได้ก็เน้นรองรับตลาดในประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นก่อน

ขณะที่ อินโดนีเซียแม้ปัจจุบันอยู่ในอันดับ 4 แต่พบการส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กใช้น้ำมันล้วน (ICE) ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนแบ่งขยับเข้าใกล้ไทยมากขึ้น หลังความต้องการรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรือรถอเนกประสงค์ราคาประหยัดเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรรายได้ยังไม่สูงนัก เช่น ฟิลิปปินส์และเวียดนาม