สินเชื่อ ‘รถ‘ดิ่ง ทีทีบี หันโฟกัสมนุษย์เงินเดือน-ลูกค้ากทม.-หัวเมืองใหญ่
‘แบงก์’หนีสินเชื่อรถยนต์ดิ่ง ‘ทีทีบี’ ซบมนุษย์เงินเดือน เน้น ‘กทม.-หัวเมืองใหญ่’ หวัง “มอเตอร์ เอ็กโป” ปลายปี หนุนยอดขายผงกหัว-ลดดอกเบี้ยกระตุ้นตลาด
ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยยอดขายรถยนต์ในประเทศ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยรถยนต์ทุกประเภทอยู่ที่ 1.1 ล้านคัน ลดลง18.62% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หากดูเฉพาะเดือนก.ย.ยอดขายในประเทศอยู่ที่ 39,048 คัน
ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 53 เดือน หรือกว่า 4 ปี โดยเหตุผลหลักมาจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน หลังหนี้เสีย และหนี้จับตาเป็นพิเศษหรือ SM เพิ่มขึ้นสูงมากขึ้น
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวว่า สินเชื่อรถยนต์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ และยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวลดลง ถือว่ามีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม
ส่งผลให้ธนาคารได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะยอดขายในกลุ่มรถกระบะ ที่ลดลงมากกว่ารถเก๋ง
ทั้งนี้ คาดไตรมาส 4 ปี 2567 ภาพรวมอาจจะปรับตัวดีขึ้น จากปลายปีจะมีการจัดมหกรรมรถยนต์ หรือ motor expo ที่อาจจะช่วยกระตุ้นยอดขายใหม่สู่ตลาดได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมองปีหน้ายังไม่คิดว่าจะเห็นการดีดกลับของอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือ อาจจะทรงตัวคล้ายๆ ปีนี้ จากอานิสงส์ดอกเบี้ยลดลง
ในด้านการปล่อยสินเชื่อธนาคารไม่ได้มีการเข้มงวด หรือปรับเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อเป็นพิเศษ มีเพียงการปรับเข้มขึ้นในเรื่องของ Scoring ของลูกค้า
แต่โดยรวมการไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ยังเป็นปัญหาที่คุณภาพของลูกค้า ที่ภาระหนี้ยังสูง และรายได้ของลูกค้ากลุ่มรายได้ไม่ประจำ ที่ยังไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้การผ่อนรถอาจตึงตัว ซึ่งส่งผลให้ธนาคารปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งไปเจาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และ เป็นลูกค้ากทม. และ หัวเมืองใหญ่มากขึ้น
“ในด้านการเข้มงวดเราไม่ได้ปรับอะไรเป็นพิเศษ เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นปัญหามาจากคุณภาพของลูกค้า ที่ภาระหนี้ยังสูง รายได้ของลูกค้ากลุ่มรายได้ไม่ประจำ อาจยังไม่กระเตื้องขึ้นทำให้การผ่อนรถอาจตึงตัว มีบางที่เราเข้มเรื่อง scoring ของลูกค้า ทำให้ต้องหันไปหาลูกค้ามนุษย์เงินเดือน และกลุ่มที่เป็นลูกค้ากทม.และหัวใหญ่มากขึ้น”
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ระบุว่า ภายใต้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่มีความยากมากขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับการขาดทุนจากรถยึด ทำให้ธนาคารมีการเข้มงวดมากขึ้นในการเรียกหลักประกัน โดยเฉพาะการให้เพิ่มเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 15-20% เพื่อลดความเสี่ยง จากเดิมที่ปล่อยสินเชื่อผ่านแบงก์ 100%
ส่วนของธนาคารทิสโก้ และธนาคารเกียรตินาคินภัทร ก็มีการปรับกลยุทธ์ในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากความเสี่ยงจากการยึดรถ หลังจากปล่อยสินเชื่อแล้วเป็นหนี้เสีย โดยการให้ลูกค้ามีการวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้น เป็นระดับ 20-25% จากเดิมอยู่ที่ 15% ขณะที่รถยนต์อีวีการปล่อยสินเชื่ออาจให้วางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 25-30%
นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ก่อนหน้านี้ว่า ยังคงมองสินเชื่อรถยนต์ยังคงชะลอตัว ทั้งรถใหม่ และรถเก่า โดยยอดปล่อยสินเชื่อรถใหม่ก็จะสอดคล้องกับยอดขายรถใหม่ โดยเฉพาะรถกระบะ ที่ยังฉุดยอดขายของตลาด
สำหรับสินเชื่อรถมือสอง ราคารถมือสองยังคงผันผวน และอุปสงค์ของการซื้อรถยังคงลดลง ซึ่งทำให้การขอสินเชื่อรถมือสองลดลง และธนาคารยังคงพิจารณาการให้สินเชื่อรถมือสองอย่างรอบคอบ ทั้งด้านคุณสมบัติลูกค้า และคุณภาพรถ
ด้านพิจารณาสินเชื่อธนาคารยังพิจารณาอนุมัติสินเชื่อตามศักยภาพของลูกค้า โดยภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อ และความสามารถในการผ่อนชำระ ดังนั้น การอนุมัติสินเชื่อจึงเป็นไปโดยระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ลูกค้ามีภาระหนี้ที่เกินความสามารถในการผ่อนชำระ