‘4 อดีตผู้ว่าการ ธปท.‘ ร่วมนักวิชาการ 227คน ค้านคนการเมืองนั่ง ปธ.แบงก์ชาติ

‘4 อดีตผู้ว่าการ ธปท.‘ ร่วมนักวิชาการ 227คน ค้านคนการเมืองนั่ง ปธ.แบงก์ชาติ

4 อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ออกโรงค้านร่วมนักวิชาการ 227 คน ให้คนการเมืองนั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หวั่นนำมาสู่ความเสียหายประเทศ

 สำหรับการคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ แทนที่นายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระไปเมื่อวันที่ 16 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ที่ล่าสุดใช้เวลามาแล้วกว่า 3 เดือน 

การคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น  ประกอบกับนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ รวมถึงอดีตผู้ว่าการ ธปท. สำคัญๆ ของประเทศ ที่ออกมาแสดงความเห็นในการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพื่อให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ปราศจากแรงกดดันทางการเมือง และให้คำนึงถึงประเทศในระยะข้างหน้าให้มากที่สุด

เพราะการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สำคัญยิ่ง ที่อาจนำมาสู่ความเสียหายของประเทศในระยะข้างหน้าได้ หากเลือกคนจากฝั่งคนใกล้ชิดทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่ง

เช่นเดียวกับการออกมาเคลื่อนไหวของ กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ที่ร่วมลงชื่อคัดค้านถึง 227 คน เพื่อมิให้ บุคคลที่ใกล้ชิดจากฝั่งการเมืองมานั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 

โดยในรายชื่อนี้ มี 4 บุคคลสำคัญ ที่ร่วมลงชื่อคัดค้านครั้งนี้ด้วย คือ ปรีดิยาธร เทวกุล, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, วิรไท สันติประภพ, ธาริษา วัฒนเกส ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการ ธปท.ที่ลงชื่อแสดงความห่วงใย ธปท.เพราะหวั่นจะถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง 

 

ในแถลงการของกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมระบุว่า 

"แถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง"

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม และภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองซึ่งอาจเน้นเพียงผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก

 ในขณะที่การเน้นผลระยะสั้นนั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพ และการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

การรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจเป็นภารกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตามหลักสากลธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ อันนำไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนในระยะยาว

บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญหลายด้าน ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงานภายในองค์กร การบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ

และการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการนโยบายที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน หรือคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และต้องการ การกำกับดูแลที่โปร่งใส และปราศจากผลประโยชน์ทางการเมือง

 หากประธานกรรมการหรือคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขหรือย้อนกลับได้

นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทชิดใกล้ทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมขอเรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกที่กำลังจะทำการพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายน นี้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันจากการเมือง เพื่อรักษาสถาบันที่สำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยที่สังคมไทยในอดีตได้ร่วมกันพัฒนา และปกป้องมาอย่างดี

พร้อมกันนี้เราขอเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืนโดยการร่วมลงนามในด้านล่างของแถลงการณ์นี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมืองและสามารถรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว รวมทั้งธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาของนานาอารยประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์