“รายได้” หรือ “กำไร” ลักษณะไหนต้องเสียภาษีอะไรกันแน่!

“รายได้” หรือ “กำไร” ลักษณะไหนต้องเสียภาษีอะไรกันแน่!

ไม่อยากตกม้าตาย ถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ต้องทำความเข้าใจระหว่างคำว่า “รายได้” กับ “กำไร” ในทางภาษี ต่างกันอย่างไร และคุณเข้าลักษณะต้องเสียภาษีแบบบไหนบ้าง

ช่วงนี้ต้องยอมรับว่ามีข่าวผู้ค้าขายทั้งรายเล็ก รายย่อยที่ทำในรูปแบบบุคคลธรรมดา ถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกันถ้วนหน้า เนื่องจากมีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดที่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่ไม่ได้ไปเสียภาษีให้ถูกต้อง

ตัวอย่างข่าวพ่อค้าร้านยำถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เนื่องจากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท แต่ไม่ได้ไปขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และเสียภาษีนั่นเอง โดยเจ้าตัวชี้แจงว่าเกิดจากความเข้าใจผิดคิดว่ากำไรเกิน 1.8 ล้านบาท จึงต้องจด VAT ทำให้ปล่อยล่วงเลยมานานถึง 6 ปี และถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังสูงถึง 2.5 ล้านบาท

แต่ความจริงแล้ว หน้าที่เสียภาษีของผู้มีรายได้ มีอยู่หลายภาษีที่ต้องเสียหากเข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยภาษีแต่ละประเภทมีเกณฑ์ในเรื่องของ “รายได้” และ “กำไร” แตกต่างกัน

ดังนั้น วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจระหว่างคำว่า “รายได้” กับ “กำไร” ในทางภาษีว่าต่างกันอย่างไร และคุณเข้าลักษณะต้องเสียภาษีแบบบไหนบ้าง ดังนี้

“รายได้” ในทางภาษี

รายได้ หมายถึง จำนวนเงินทั้งหมดที่เจ้าของธุรกิจ บริษัทนิติบุคคลได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น หนึ่งไตรมาสหรือรอบปีบัญชี โดยให้รวมถึงรายได้อื่นๆ ทุกแบบที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานตามปกติด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุน และแหล่งรายได้อื่นๆ

โดยรายได้หรือรายรับของกิจการ เป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนออก ดังนั้น รายรับทั้งหมดจะยังไม่ถือเป็นเงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณเพื่อเสียภาษี ต้องนำมาหักค่าใช้จ่ายแหรือต้นทุนก่อน และหักลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะถือเป็นเงินได้สุทธิเพื่อนำไปคำนวณภาษีต่อไป  

จากรายได้ดังที่กล่าวมา หากในมุมของภาษีจะมีภาษีที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.รายได้เกิน 1.8 ล้าน ต้องจดและเสีย “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)”

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เป็นภาษีที่ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องไปขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

โดยต้องย้ำว่า นับจาก “รายได้” ทั้งหมดตลอดทั้งปี โดยจะต้องไปขอจด VAT ภายใน 30 วัน หลังจากที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และนำส่ง VAT 7% ให้กรมสรรพากรทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แม้ว่าเดือนนั้นๆ จะไม่มีภาษีที่ต้องเสียก็ตาม

2.รายได้เกิน 60,000 บาท ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา​

สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมี “รายได้” และ “เงินได้สุทธิ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากพูดถึง “รายได้” ผู้ประกอบการที่มีรายได้ (ไม่นับเงินเดือน) เกิน 60,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีตามประเภทรายได้ มาตรา 40(2) – 40(8)   ​

3.เงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

​“เงินได้สุทธิ” สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เกิดจาก “รายได้ทั้งหมดตลอดทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อนอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด = เงินได้สุทธิ” ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษี โดยนำส่วนที่เกิน 150,000 บาท มาคำนวณตามอัตราภาษีก้าวหน้า หรือภาษีขั้นบันได จึงจะได้เป็นภาษีที่ต้องเสีย

“กำไร” ในทางภาษี

กำไร หรือ กำไรสุทธิ คือรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกิจการหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งหากหักค่าใช้จ่ายออกแล้วยังมีรายได้เหลือ นั่นคือกำไรที่เกิดขึ้นของกิจการ ในทางตรงกันข้ามหากนำรายได้หักค่าใช้จ่ายหมดแล้ว รายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ลักษณะนี้จะเรียกว่า ขาดทุน

ดังนั้น ในมุมของการเสียภาษีสำหรับกำไรที่เกิดขึ้นของกิจการ จะเกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กล่าวคือเมื่อนิติบุคคลมีกำไรก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ ซึ่งคำนวณจากรายได้ของกิจการที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และหักออกจากรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังไม่ได้มีการจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย

สรุป... “รายได้” และ “กำไร” มีความสัมพันธ์กันทางภาษี

​สรุปสุดท้าย “รายได้” ย่อมมีความสัมพันธ์กับ “กำไร” อย่างแน่นอน เพราะจะเกิดเป็นกำไรได้นั้น จะต้องนำรายได้ทั้งหมด – ค่าใช้จ่ายทั้งหมด = กำไร แต่การขอเข้าระบบภาษีและการคำนวณภาษีจะนำรายได้และกำไรมาใช้ต่างกัน เช่น

- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณจากรายได้ทั้งหมดตลอดทั้งปี
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม คำนวณจากรายได้ทั้งหมดตลอดทั้งปี
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากกำไรสุทธิ

ดังนั้น ผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา จำเป็นต้องเช็กเรื่องภาษีให้ดีว่าลักษณะไหนต้องใช้รายได้หรือกำไรในการคำนวณภาษีกันแน่ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดจนถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังในอนาคต

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting