ผมขอมองต่างมุม "ปรับกรอบเงินเฟ้อ ‘ไม่จำเป็นเลย’?"

ผมขอมองต่างมุม "ปรับกรอบเงินเฟ้อ ‘ไม่จำเป็นเลย’?"

“จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องปรับเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่?...เรื่องนี้เราเห็นว่า “ไม่จำเป็นเลย” เพราะกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลกอยู่แล้ว ซึ่งหลายๆ ประเทศพยายามคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 2%

ในขณะที่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไทยอยู่ที่ 1-3% มีค่าเฉลี่ยตรงกลางก็คือ 2% นั่นเอง นับเป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องการความสมดุลอยู่แล้ว”

จากบทบรรณาธิการของกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ผมขอมองต่างมุมจากแนวคิดดังกล่าวว่า การกำหนดกรอบเงินเฟ้อที่ 1-3% กับการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% นั้น ให้ผลที่แตกต่างกันอย่างมาก 

หากจะมองอย่างง่ายๆ ก็คือ การที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อตายตัวที่ 2% ต่อปี (ไม่ใช่ 1-3%) ซึ่งมีผลในทางปฏิบัติคือ ปัจจุบันเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 2.5%

ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐยังไม่ยอมลดดอกเบี้ยลงมาอีก มากกว่าการลดเพียง 0.75% จากจุดสูงสุดที่ผ่านมาคือยังสูงอยู่ที่ 4.75% ในขณะที่เงินเฟ้ออยู่สูงเกินเป้าหมายคือ 2%

แต่ในทางกลับกัน เมื่อเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวเชื่องช้ากว่าที่คาด หลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 ก็ปรากฏว่าธนาคารกลางสหรัฐกดดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ใกล้ศูนย์ ติดต่อกันนานติดต่อกัน 6 ปี คือ 2553-2558 ซึ่งในช่วงดังกล่าวอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐมีดังนี้

ผมขอมองต่างมุม \"ปรับกรอบเงินเฟ้อ ‘ไม่จำเป็นเลย’?\"

จะเห็นได้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ จึงกดดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ค่อนข้างต่ำ แม้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐจะสูงกว่าเป้าที่ 2% ในปี 2554 และ 2555 ก็ไม่ได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น

เพราะเกิดวิกฤติการเงินที่ประเทศกรีก ที่กระทบต่อความมั่นใจในเงินยูโรของสหภาพยุโรป ธนาคารกลางสหรัฐรอไปถึงปี 2559 จึงได้เริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และปรับเพิ่มขึ้นอยู่อย่างเชื่องช้า โดยขึ้นมาถึงประมาณ 2.5% ในปี 2562

ก่อนที่จะเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็วกลับไปที่ศูนย์อีกในปี 2563

เรื่องของดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อนั้น ต้องดูกันยาวๆ คือการดูค่าเฉลี่ยในช่วงดังกล่าว เช่น ในช่วง 2553-2559 ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐนั้นเฉลี่ยเพียง 0.5% ในขณะที่เงินเฟ้อในช่วง 7 ปีเดียวกันนั้นเท่ากับ 1.63% ต่อปี แปลว่าเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าเป้า 2.0% ที่กำหนดเอาไว้

ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐจึงดำเนินนโยบายให้เหมาะสมคือ กดดอกเบี้ยนโยบายลงให้ต่ำมาก (เฉลี่ยเพียง 0.5%) เพราะเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีต่ำกว่าเป้าหมายคือ 2.0% ต่อปี

แต่หากนำเอาแนวคิดของบทบรรณาธิการของกรุงเทพธุรกิจมาเป็นบรรทัดฐาน ก็จะได้คำตอบที่แตกต่างกันอย่างมาก เพราะเงินเฟ้อที่ 1.6% นั้น ถือว่าเข้ากรอบ 1.0-3.0% ต่อปีไปแล้ว

ดังนั้น จึงเป็นข้ออ้างให้คงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ในภาวะปกติได้ ซึ่งที่สหรัฐอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติคือ 2.5% ไม่ใช่ประมาณ 0.5% 

สะท้อนให้เห็นว่า หากธนาคารกลางสหรัฐตั้งเป้าเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 1.0-3.0% ต่อปี ก็อาจจะดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดคือ กำหนดดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินไปที่ 2.5% แทนที่จะกำหนดดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ซึ่งเหมาะสมกว่าและช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ดีกว่าหลายประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

โดยที่ไม่ได้มีผลกระทบแต่อย่างใดต่อการมีวินัยทางการเงิน (ไม่จำเป็นต้องมาเรียกร้องให้ปกป้องความเป็นอิสระของธนาคารกลางแต่อย่างใด หากดำเนินนโยบายการเงินให้เข้าเป้าอย่างเหมาะสม)

เปรียบเทียบกับประเทศไทยในช่วงใกล้เคียงกันที่การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก (เช่น ปัญหาวิกฤติที่ยุโรปที่กล่าวถึงข้างต้น) บวกกับปัญหาการเมืองภายในของไทย (การยึดอำนาจในปี 2557) ทำให้เงินเฟ้อของไทยปรับลดลงอย่างมาก คือ

ผมขอมองต่างมุม \"ปรับกรอบเงินเฟ้อ ‘ไม่จำเป็นเลย’?\"

ในช่วงดังกล่าว เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่ากรอบที่กว้างมากคือ 1-3% อย่างเห็นได้ชัด คือเฉลี่ยเงินเฟ้อในช่วง 2557-2562 อยู่ที่ระดับต่ำเพียง 0.60% ต่อปี

แต่ ธปท.ก็เพียงแต่ต้องเขียนจดหมายถึงกระทรวงการคลัง 7-8 ฉบับในช่วงดังกล่าว เพื่ออธิบายเดี๋ยวเงินเฟ้อก็จะเข้ากรอบที่ 1% (ไม่ใช่ 2.0%) ในที่สุด

การที่ ธปท.กำหนดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงดังกล่าว เฉลี่ยสูงถึงประมาณ 1.6% ต่อปี แปลว่า ดอกเบี้ยนโยบายจริงของไทยในช่วงดังกล่าว คือประมาณ 1% สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายจริงของธนาคารกลางสหรัฐ (ที่ติดลบ 1.1%) อย่างมาก

ผลที่ตามมาคือ เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว ไม่ใช่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์เท่านั้น แต่เทียบกับเงินสกุลของประเทศอื่นๆ ที่ไทยค้าด้วย คือดัชนี NEER ที่ สะท้อนว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 17% ในช่วง 2557-2562 ดังกล่าว

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า เป้าเงินเฟ้อที่ 1-3% กับเป้าเงินเฟ้อที่ 2% ต่อปีนั้น มีผลในทางปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมากและหากยังไม่เปลี่ยนแปลง

คือควรทำให้ได้มาซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ 2.0% ต่อปี ไม่ใช่พอใจกับการปล่อยให้เงินเฟ้อค้างอยู่ที่ 0.5-1.0% ต่อปีไปอีกยาวนาน ซึ่งจะส่งผลที่แตกต่างกันอย่างมากกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยใน 2-3 ปีข้างหน้าครับครับ.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร