‘วิรไท‘ เตือน หากยอมให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติ อันตรายต่อเศรษฐกิจไทย
วิรไท‘ ย้ำ การเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ ชี้หากได้ผู้มีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติอยากแทรกแซงการทำงานแบงก์ชาติ เพื่อตอบโจทย์การเมือง เป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย
11 พ.ย.นี้ ถือเป็นนัดชี้ชะตา 'เลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' หลังเลื่อนมาแล้ว 3 ครั้ง มาถึงครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเลื่อนอีกหรือไม่
การเลือกประธานบอร์ดครั้งนี้ ถูกจับตาอย่างมาก จาก สาธารณะ ประชาชน และเหล่านักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และมีแรงต้านจากสังคมไม่น้อย เกี่ยวกับตัว 'ผู้สมัคร' ที่ 'คนใกล้ชิด'ฝ่ายการเมือง ทำให้ถูกครหาว่า การส่งผู้ใกล้ชิดฝ่ายการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่ง 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' มาเพื่อผลประโยชน์และหวังตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น
ที่ล้วนคำนึงถึง 'ผลระยะสั้น' เท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว ที่อาจนำมาสู่ ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น การสูญเสียเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพเศรษฐกิจที่อาจสั่นคลอนในระยะข้างหน้า
เสียงค้านเหล่านี้ นำมาสู่การออกมาของ 'มวลชน' จำนวนมาก โดยเฉพาะเหล่านักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ที่ล้วนความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ การเงินเป็นอย่างดี
รวมถึง 'อดีต' ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 4 ท่าน ได้แก่ โดยได้แก่ ปรีดิยาธร เทวกุล, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, วิรไท สันติประภพ, ธาริษา วัฒนเกส ที่ออกมาแสดงความห่วงใยในการ ' คัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' ครั้งนี้
ซึ่งถือ เป็น 4 บุคคลสำคัญ ที่ร่วมลงชื่อไม่เห็นด้วย เพื่อให้บุคคลใกล้ชิดฝ่ายการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ร่วมกับกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ ที่ขณะนี้ขณะนี้มีกว่า 830 คนไปแล้ว
ล่าสุดกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ได้แถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรียกร้องให้ 7 กรรมการคัดเลือกยึดมั่นหลักการ ‘รักษาความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย’ โดยได้แสดงความห่วงใยการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกลุ่มการเมืองผ่านการคัดสรรประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
จึงขอเรียกร้องอีกครั้งให้คณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 7 ท่าน ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยพิจารณาอย่างถ่องแท้ต่อคุณสมบัติที่เป็นหลักสากลของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั่วโลก
ต้องคำนึงถึงประโยชน์และเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปราศจากความเกรงใจและความสัมพันธ์ทางการเมือง ยึดมั่นหลักการที่สังคมไทยในอดีตได้พยายามสร้างให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันที่เป็นอิสระจากการครอบงำเพื่อหาผลประโยชน์ในระยะสั้นทางการเมือง
เช่นเดียวกับ วิรไท สันติประภพ ที่ล่าสุดออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง
โดยระบุว่า....
ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงค์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ
candidate ชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติและวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมือง ก็ไม่สมควรครับ
ถ้าเรายอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงค์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอจนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควรได้
ต่อไปเราคงเห็นนโยบายประชานิยมแบบปลายเปิดเต็มไปหมด ไม่มีใครสนใจวินัยการเงินการคลัง มีแต่นโยบายที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์การเมืองเป็นหลัก ในอนาคตนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงินก็อาจจะถูกทำให้กลายพันธุ์เป็นนโยบายประชานิยมไปด้วยก็ได้ครับ
11.11 ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันอย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำแบงค์ชาติได้โดยง่ายครับ
ด้าน คณะศิษยานุศิษย์ที่น้อมนำธรรมองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน (คณะศิษย์ฯ)ก็ออกมาเคลื่อนไหวเล่นกัน
โดยเตรียมจะไปยื่น หนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการคัดเลือกบอร์ด ธปท. เป็นรายบุคคล เพื่อขอคัดค้านการเลือกบุคคลซึ่งเกี่ยวโยงการเมืองเข้ามาแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยพรุ่งนี้จะมีตัวแทนคณะศิษย์ฯ จะไปยื่นที่ทำเนียบก่อนในช่วงเช้า และคาดว่าจะยื่นให้ ธปท. ที่ใต้สะพานพระราม 8 ในช่วง
8.00 - 9.30 น.