ค่าเงินบาทวันนี้ 14 พ.ย.67 ‘อ่อนค่า‘ เหตุเงินเฟ้อสหรัฐสูงตามคาด
ค่าเงินบาทวันนี้ 14 พ.ย. 67 เปิดตลาด “อ่อนค่า” ที่ 34.95 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้เงินเฟ้อCPI สหรัฐยังตามคาด เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ แต่ในปีหน้ายังดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.75-35.00 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.95 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.00 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 34.58-34.96 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนตุลาคม ออกมาตามคาด (อยู่ที่ระดับ 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อยู่ที่ระดับ 3.3% ตามคาดเช่นกัน) ทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้เป็น 81% สูงขึ้นจากวันก่อนหน้าที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยเพียง 59%
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคงประเมินว่า แม้เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทว่าในปีหน้า ผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อาจทำให้เฟดลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง จากที่เคยประเมินไว้ถึง 4 ครั้งใน Dot Plot ล่าสุด โดยมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดก็สอดคล้องกับท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ออกมาให้ความเห็นว่า เฟดจะระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงหนักเกิน -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,570 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยการปรับตัวลดลงของราคาทองคำดังกล่าวก็มีส่วนเร่งการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นยังคงมีกำลังอยู่ เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทยังสามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนดังกล่าวได้ ก็มีโอกาสอ่อนค่าได้ถึง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยเรามองว่า นอกเหนือจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ ทิศทางราคาทองคำก็มีผลกับค่าเงินบาทพอสมควร ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังไม่สามารถรีบาวด์ ปรับตัวสูงขึ้น หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ อย่างไรก็ดี ในเชิงเทคนิคัล เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ราคาทองคำอาจเริ่มชะลอการปรับตัวลดลงและมีโอกาสที่จะกลับมาแกว่งตัว sideways ได้บ้าง ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าเงินบาทได้ นอกจากนี้ ควรรอจับตาทิศทางเงินหยวนของจีน (CNY) ซึ่งแม้ว่าในระยะสั้น เงินหยวนจีนอาจมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาดีกว่าคาด (ทยอยรับรู้ในวันศุกร์นี้) ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวนจีนและช่วยหนุนบรรดาสกุลเงินเอเชียได้ ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาตินั้น เรามองว่า เริ่มมีโอกาสที่บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยและเริ่มกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ซึ่งอาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามแนวโน้มเฟดอาจลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia -1.4%, Alphabet -1.5% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับมาปรับตัวสูงขึ้นใกล้โซน 4.50% อีกครั้ง ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.02%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อ -0.13% ตามแรงขายหุ้นกลุ่มยานยนต์ อาทิ BMW -1.9% ที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล Trump 2.0 นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มขายทำกำไรหุ้นธีม Trump Trades อย่างหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมทหารออกมาบ้าง อาทิ BAE Systems -2.7% ทว่าตลาดหุ้นยุโรปก็พอได้แรงหนุนตามการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน รวมถึงกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรับตัวลงพอสมควรในช่วงก่อนหน้า
ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวลงสู่โซน 4.35% หลังตลาดรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาตามคาด และกลับมาเชื่อว่าเฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคม ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นใกล้โซน 4.50% มากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot พอสมควร ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่โซนที่น่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประเมินความเสี่ยงและโอกาส ในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นหรือลดลงราว 50bps (0.5%) ซึ่งจะเห็นได้ว่าในเชิงของผลตอบแทนรวม (Total Return) การทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นพอสมควรนั้น ก็ยังมี Risk-Reward ที่น่าสนใจ ทำให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามการเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนเร่งการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จนทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ (ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 106.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.7-106.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงหนักสู่โซน 2,570-2,580 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาทองคำปรับตัวลดลงหลุดโซนดังกล่าว ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลงสู่ระดับ 2,540-2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ที่จะเป็นโซนแนวรับสำคัญได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เช่นเดียวกันกับในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เช่นกัน เพื่อประเมินโอกาสที่ BOE จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อในปีนี้ และแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell ซึ่งจะรับรู้ในช่วงราว 03.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันศุกร์นี้ นอกจากนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนตุลาคม รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟด