ค่าเงินบาทวันนี้ 15 พ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ จากตลาดสหรัฐเผชิญแรงขาย เฟดไม่รีบลดดบ.

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 พ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ จากตลาดสหรัฐเผชิญแรงขาย เฟดไม่รีบลดดบ.

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 พ.ย. 67 เปิดตลาด “อ่อนค่า” ที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้หลังถอยแถลงเฟดไม่ได้จำเป็นเร่งลดดอกเบี้ย กดดันตลาดหุ้นสหรัฐยังคงปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางแรงขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ขนาดใหญ่ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.85-35.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.15 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.20 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 34.79-35.17 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงกลับสู่โซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง หลังถ้อยแถลงล่าสุดของประธานเฟด Jerome Powell ที่ระบุว่า  “เฟดไม่จำเป็นต้องรีบร้อนในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย” ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม เพียง 48% ลดลงจากวันก่อนหน้าที่ผู้เล่นในตลาดประเมินไว้ถึง 83% (จาก CME FedWatch Tool) 

ภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดพนัน ที่ต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเพียง 59% จากที่เคยให้โอกาสไว้เกิน 70% ในวันก่อนหน้า (จาก Kalshi) โดยการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว ได้หนุนให้เงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับมาปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและค่าเงินบาท 

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 พ.ย.67 ‘แข็งค่า‘ จากตลาดสหรัฐเผชิญแรงขาย เฟดไม่รีบลดดบ.

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในวันก่อนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าได้ถึง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้กลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด พอสมควรแล้ว

โดยเฉพาะในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสที่จะคงดอกเบี้ยในการประชุมดังกล่าวได้ (โอกาสยังดู 50%-50% ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดจะ price-in แนวโน้มการคงดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้นอีกได้) ส่วนในปีหน้า ผู้เล่นในตลาดก็ยังมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ทำให้ เราประเมินว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นต่ออีกไม่มากนัก อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงอ่อนไหวต่อโฟลว์ธุรกรรมสินค้าโภคภัณฑ์อยู่พอสมควร ทำให้ตราบใดที่ราคาทองคำยังมีจังหวะปรับตัวลดลง ก็อาจกดดันหรือเร่งการอ่อนค่าของเงินบาทได้ 

อย่างไรก็ดี ในช่วงวันนี้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรือ อย่างน้อยก็ชะลอการอ่อนค่าลง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน (ทยอยรับรู้ในช่วง 9.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) นั้น สะท้อนการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน และหากออกมาดีกว่าคาด ก็จะช่วยหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) กลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออาจทรงตัว ไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจน ในกรณีที่ข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาตามคาด 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility ต่อเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

ถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุดที่ระบุว่า เฟดไม่ได้จำเป็นต้องเร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยนั้น ได้กดดันให้บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นได้ร้อนแรงหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่าง Tesla -5.8% ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.64% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.60% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.08% หนุนโดยรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวได้ +0.9%y/y ตามคาด ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาสดใส นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับอานิสงส์ จากคาดการณ์ยอดขายในช่วง 5 ปี ข้างหน้าที่โดดเด่นของบริษัท Semiconductor รายใหญ่ อย่าง ASML +7.0% ซึ่งช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor ของยุโรปต่างปรับตัวขึ้น

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยแม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะย่อตัวลงหลุดโซน 4.40% ทว่ามุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสมากขึ้นที่จะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ (และมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยในปีถัดๆ ไป ได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน) หลังรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุด ก็ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นกลับสู่โซน 4.45% อีกครั้ง โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างคงรอจังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดูจะเป็นไปอย่างจำกัด 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ที่ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นราว +1% ของตลาดหุ้นยุโรป และแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ทว่า เงินดอลลาร์ก็สามารถรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้ จากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงทรงตัวแถวโซน 106.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.4-107 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงแรกได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นกลับสู่โซน 2,580 ดอลลาร์ ก่อนที่จะเผชิญแรงกดดันจากการพลิกกลับมาสูงขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสมากขึ้นที่จะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนตุลาคม เป็นต้น โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีนก็อาจช่วยลดแรงกดดันต่อสินทรัพย์จีน ทำให้เงินหยวนจีน (CNY) มีโอกาสชะลอการอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียด้วยเช่นกัน 

ส่วนในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ 

ในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะการปรับดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธันวาคมนี้