กลุ่มเศรษฐศาสตร์ ส่งหนังสือถึงครม. ชี้ ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ‘ อาจขัดกฎหมาย
กลุ่มเศรษฐศาสตร์ ทำหนังสือถึงครม.แจง การคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ คุณสมบัติอาจขัดกฎหมาย ได้คนไม่เหมาะสมคณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ไม่ให้ผ่านเป็นมติคณะรัฐมนตรี
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม เปิดจดหมายเปิดผนึกถึง พรรคการเมืองและรัฐมนตรีของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล
ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกบุคคลผู้มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างแนบแน่นให้เป็นประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2567
ในการคัดเลือกครั้งนี้ได้มีเสียงทักท้วงแสดงความกังวลจากนักวิชาการกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 4 ท่าน อดีตพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนมาก และบรรดาสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคมนับหมื่นคน ที่เป็นห่วงถึงผลกระทบต่อความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จำเป็นต่อการทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของชาติในระยะยาว
ซึ่งอาจขัดแย้งต่อเป้าประสงค์ของกลุ่มการเมืองที่ต้องการแสดงผลงานทางเศรษฐกิจในระยะสั้น อันจะส่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายในระยะยาวที่ยากจะกอบกู้คืนได้
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมขอเรียนต่อหัวหน้าพรรคการเมืองและรัฐมนตรีของพรรคที่ร่วมรัฐบาล ว่าคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจและบทบาทที่สำคัญสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยกำหนดได้ว่า จะไปลงทุนใน สินทรัพย์ใดบ้าง
[พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 25 (8) คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ 3 ของหมวด 6 การบริหารจัดการสินทรัพย์ ของ ธปท. เช่น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ว่าเอาเงินไปลงทุนอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวเพราะผิดพลาดอาจทำให้ประเทศล้มละลายได้]
2. แต่งตั้งคณะกรรมการด้านนโยบายที่สำคัญ (policy board) ทั้ง 3 ด้าน ที่เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทาง นโยบายการเงิน สถาบันการเงิน และการชำระเงินของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีอิสระจากการเมืองเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยการออกข้อบังคับในการเสนอชื่อการพิจารณาและในการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายตาม พ.ร.บ.ธปท.มาตรา 25 (3) ที่กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อการพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.)
แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 4 คน จาก จำนวนทั้งหมด 7 คน
[พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 28/6 ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการ ซึ่งผู้ว่าการกำหนดจํานวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่ง คณะกรรมการ รปท. แต่งตั้งจํานวนสี่คน เป็นกรรมการ]
แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) 5 คน จากจำนวนทั้งหมด 11 คน
[พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/9 ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการ ซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน
โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการธปท.แต่งตั้ง จํานวนห้าคนเป็นกรรมการ]
แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน คณะกรรมการระบบชำระเงิน(กรช.) 3 คนจากจำนวนทั้งหมด 7 คน
[พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 28/11 ให้คณะกรรมการระบบชำระเงิน (กรช.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนดจํานวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ประธานสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง คณะกรรมการธปท.แต่งตั้ง จํานวนสามคนเป็นกรรมการ]
3.ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีคลัง เพื่อปลดผู้ว่าการฯ ในกรณีบกพร่องในหน้าที่ร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ
[พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/19 (5) ผู้ว่าการฯ พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก โดยคำแนะนำของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท.เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดย มติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง]
การแสดงออกของประธานคณะกรรมการคัดเลือกและผลของการคัดเลือก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏชัดเจนว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยดังเช่นธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้ว และไม่ใส่ใจที่อดีตผู้บริหารและคนของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันสร้างธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นอิสระจากกลุ่มการเมือง
อีกทั้งไม่สนใจข้อท้วงติงของนักวิชาการและองค์กรสถาบันต่างๆที่ออกมาทักท้วงด้วยความห่วงกังวล เพราะหากฝ่ายการเมืองสามารถเข้าครอบงำการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศได้เสียแล้ว นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่แม้จะไปในทิศทางเดียวกัน
แต่อาจเป็นปัญหาในเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงในระยะยาว ความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทยในสายตาของสากลโลกจะตกต่ำลง กระทบความน่าเชื่อมั่นในนโยบายอัตราดอกเบี้ย อัตราการแลกเปลี่ยน และค่าเงินบาท
ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวลดต่ำลง ประชาชนจะเกิดความยากลำบากจากสภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพงขึ้นอย่างรุนแรง
อีกทั้งหากธนาคารกลางถูกแทรกแซงครอบงำจากการเมืองได้แล้ว จังหวะของการปรับนโยบายย่อมส่งผลถึงคนบางกลุ่มที่จะร่ำรวยผิดปกติได้ง่าย
ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงในพรรคเพื่อไทย เคยดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย (ที่ปรากฎหนังสือลาออกพ้นหนึ่งปีเพียงไม่กี่วัน)
เคยเป็นประธานที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐาที่จำต้องพ้นจากตำแหน่งเพียงสองเดือนเศษ แม้จะอ้างว่าไม่ใช่เป็นตำแหน่งข้าราชการการเมืองแต่ก็เป็นการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งน่าจะขัดกับคุณสมบัติตามกฏหมาย ที่ระบุจะต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งเป็นเจตนาจะป้องกันมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงครอบงำจากกลุ่มการเมือง
อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงวิสัยทัศน์ และพฤติกรรมการแสดงออกทางการเมืองในอดีต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงออกว่าเป็นผู้ที่ชอบกดดันแสดงอำนาจอยากจะปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง สะท้อนเจตคติว่าไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่สำคัญในอีกเจ็ดเดือนข้างหน้าจะมีการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนต่อไปซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญและต้องเป็นอิสระอย่างยิ่ง การทำการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครั้งนี้ จึงมีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศด้วย
ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เป็นรัฐมนตรีในนามของพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล ถือเป็นตัวแทนของประชาชนในการเข้าบริหารราชการแผ่นดิน และต้องร่วมรับผิดชอบในมติของคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่างๆ ขอเรียกร้องให้ท่านพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อดำรงไว้ซึ่งสถาบันที่สำคัญของประเทศคือธนาคารแห่งประเทศไทยให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซงครอบงำจากกลุ่มการเมือง ทั้งนี้เพื่อรักษาให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจตลอดไป
การตัดสินใจของท่านในครั้งนี้ ที่จะไม่เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือก จะมีความสำคัญต่อการรักษาสถาบันที่สำคัญของประเทศ และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว จึงเป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สามารถช่วยไถ่ความผิดพลาดในการตัดสินใจของพรรคการเมือง ที่ร่วมสนับสนุนให้ประเทศของเรามีผู้นำสูงสุดในฝ่ายบริหารที่อ่อนด้อยความรู้ความสามารถในเกือบทุกด้าน
นายกรัฐมนตรีจะได้ไม่ต้องเสี่ยงที่จะนำชื่อที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องถูกต้องตามเจตนารมย์ของกฎหมาย ขึ้นทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม