ซีไอเอ็มบีไทย ชี้ยอดปฎิเสธสินเชื่อรถทุบสถิติ ปรับทัพลุย ‘จำนำทะเบียน’
ซีไอเอ็มบีไทย” ชี้ยอดปฏิเสธสินเชื่อ “รถมือสอง” สูงสุดทุบสถิติ ล่าสุดขึ้นมาที่ 25-30% หากเทียบกับอดีต 15-20% เหตุ “แบงก์เข้มปล่อยกู้-เศรษฐกิจชะลอ-ผู้กู้มีหนี้สูง” หันปรับทัพลุยสินเชื่อ “จำนำทะเบียน” รับดีมานด์ขอกู้สะพัด
นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบีไทย ออโต้ จำกัด บริษัทในเครือธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน บวกกับเครดิตผู้กู้ และความสามารถในการขอสินเชื่อลดลง ส่งผลให้ปัจจุบันยอดการปฏิเสธสินเชื่อโดยรวมของตลาด หรือ Rejection Rate ของสินเชื่อรถยนต์มือสองถือว่าขึ้นมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 25-30% หากเทียบกับอดีตที่เคยอยู่เพียง 15-20% เท่านั้น
ส่งผลให้สถาบันการเงิน (แบงก์) หรือ ผู้ให้บริการทางการเงิน (นอนแบงก์) มีการให้ผู้ซื้อวางเงินดาวน์ในการซื้อรถมากขึ้น จากเดิมที่การวางดาวน์ 0% ขณะที่การปฏิเสธสินเชื่อรถใหม่อยู่ที่ 10-15% เดิม 5-10% ขณะที่ซีไอเอ็มบีไทยยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ระดับ 15-20%
โดยปัจจุบันสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อยังคงเข้มงวดต่อเนื่อง แต่คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 1-2 ปี 2568 สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อน่าจะคลี่คลายมากขึ้น ทั้งการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงยอดปฏิเสธสินเชื่อที่น่าจะลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
บวกกับทิศทางดอกเบี้ยขาลง ที่คาดว่าปีหน้าจะเห็นการลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50-1% ที่จะหนุนให้การขอสินเชื่อกลับมาคึกคักมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อรถโดยรวมจะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นในปีหน้า แต่ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อ และการแข่งขันของสถาบันการเงินในตลาดสินเชื่อรถอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
โดยเฉพาะการแข่งขันการจัดไฟแนนซ์หรือให้สินเชื่อรถ ที่อาจเปลี่ยนมาเป็นให้วางเงินดาวน์ หากเทียบกับอดีตที่ไม่ต้องดาวน์ และเชื่อว่าการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อคงหันมาดูเซกเมนต์ในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
โดยเฉพาะซีไอเอ็มบีไทย ที่ยังเน้นการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่มีข้อมูลเครดิต หรือมีประวัติ NCB จาก บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เป็นหลัก โดยปัจจุบันในพอร์ตของบริษัทมีการปล่อยให้กับลูกหนี้ที่มีประวัติ NCB อยู่ที่ราว 75% และการปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่ ยังเน้นกลุ่มที่มีรายได้ 2.5-3 หมื่นขึ้นไปเป็นหลัก และกลุ่มมนุษย์เงินเดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ
สำหรับการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรถ คาดว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ปีหน้าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ที่คาดทำได้ 1.2 หมื่นล้านบาท และคาดภายใน 3-4 ปี พอร์ตคงค้างของธนาคารจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.8-4 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่พอร์ตโดยรวมทรงตัวอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท
โดยในนี้แบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ 60% หรือ 2.4 หมื่นล้านบาท อีก 20% เป็นพอร์ตสินเชื่อสำหรับจำนำทะเบียนหรือ 8 พันล้านบาท และอีก 20% เป็นสินเชื่อมอเตอร์ไซค์มือสอง 20% หรือ 8พันล้านบาทเช่นกัน
ด้านสถานการณ์สินเชื่อรถยนต์มือสอง ปัจจุบันราคาตกมาสูงสุดประวัติการณ์ ปัจจุบันลดลง 50% หากเทียบกับในอดีต ที่กระทบต่อรถยึดคืน หรือรถขายทอดตลาด โดยเฉพาะรถยุโรปที่ราคาลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกันรถมือสอง เกิน 10 ปีขึ้นไป ที่เห็นราคาปรับลดลงอย่างมาก และการปล่อยสินเชื่อยากขึ้น
สำหรับหนี้เสียในปัจจุบัน หนี้เสียโดยรวมอยู่ที่ 1.9% ถือว่าเพิ่มขึ้นหากเทียบกับอดีตที่ หนี้เสียไม่ถึง 1% แต่ถือว่าต่ำกว่าระบบโดยรวมที่หนี้เสียอยู่ระดับสูง
นายเกรียงภพ ปานุราช รองกรรมการผู้จัดการ สินเชื่อการตลาดและบริหารสินเชื่อ ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า พอร์ตที่บริษัทจะบุกมากขึ้นในอนาคต คือสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยล่าสุดบริษัทได้เปิดตัว สินเชื่อรถปลดล็อก ที่คาดว่าจะตอบโจทย์ความต้องการสินเชื่อสูงในปัจจุบัน ทั้งการต้องการสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ
โดยคาดว่า การปล่อยสินเชื่อผ่าน “รถปลดล็อก” พอร์ตโดยรวมน่าจะเพิ่มเป็น 3 พันล้านบาทในปีหน้า หรือเติบโตขึ้น 300% จากปีนี้ จากปัจจุบันที่พอร์ตยังอยู่เพียง 5%ของพอร์ตสินเชื่อรถโดยรวมของบริษัทเท่านั้น
“สำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนวันนี้เราบุ๊กมาได้เพียง 5% ของพอร์ตสินเชื่อรถโดยรวม แต่ระยะข้างหน้าเรามองว่าเราจะเติบโตได้อย่างมาก ทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์มือสอง เพราะสินเชื่อประเภทนี้มีหนี้เสียต่ำมาก ที่เรามองว่าเป็นโอกาส ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่มีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ทำให้สินเชื่อเราจะเติบโตได้ และดอกเบี้ยเราต่ำที่สุดในตลาด สำหรับสินเชื่อนำจำทะเบียนที่ไม่โอนเล่ม โดยให้เครดิตดีดอกเบี้ยเพียง 9.95% จากเพดานดอกเบี้ยสูงสุดที่ 24%”