เครดิตบูโร ชี้หนี้เสียไตรมาส 3 แตะ 1.2 ล้านล้าน เอสเอ็มอีรายเล็ก หนี้พุ่ง 20%
เครดิตบูโร เปิดหนี้เสียไตรมาส 3 พุ่งไม่หยุดแตะ 1.2 ล้านล้าน ตามคาด ห่วงเอสเอ็มอีรายเล็กค้างหนี้พุ่ง ล่าสุดหนี้เสียเพิ่ม 20%
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) โพสต์เฟซบุ๊กถึงภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3 ปี 2567
โดยรายงานภาระหนี้สินภาคครัวเรือนจากสถาบันการเงิน 157แห่งที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ครอบคลุมประชาชนคนไทย และผู้มีถิ่นฐานในประเทศไทยที่มีหนี้สินกับสถาบันการเงินสมาชิก ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมประมาณกว่า 30 ล้านคน
จากฐานข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตนในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มีรายละเอียดดังนี้
หนี้ครัวเรือนในระบบเครดิตบูโรอยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท(หนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด 16.3 ล้านล้านบาท) อัตราการเติบโต 0.5% yoy ถ้าเป็น QoQ จะ -0.2%
สรุปคือ สินเชื่อไม่โต เศรษฐกิจในไตรมาส 3 เติบโต 3% ในช่วง 9 เดือนโต 2.3% สินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็ก -4.6%yoy สินเชื่อเบิกเกินบัญชี -4.5%yoy ดำเนินนโยบายไทยคำอังกฤษคำ มาจนสินเชื่อให้กับผู้คนเดินถนนถอยลงได้ระดับนี้ต้องกราบขอประชดประชันด้วยการปรบมือชื่นชมครับ..
ภาพที่ 2 ระดับของ NPLs ก็เป็นไปตามคาดมาอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.8% ของหนี้รวม 13.6 ล้านล้านบาท มันคือ เส้นสีแดงที่พุ่งขึ้นมาชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 พักฐานไตรมาสที่ 4 ปี 2566 แล้วไปต่อตั้งแต่ปี 2567
พร้อมๆ กับมาตรการกลับไปสู่ความเป็นปกติ(normalize) เศรษฐกิจค่อยๆ โตกลับมาอย่างเชื่องช้า, มีเรื่อง การให้กู้อย่างรับผิดชอบ, การแก้หนี้เรื้อรัง แก้หนี้ครบวงจร
ภาพของเส้นหนี้เสียวิ่งจาก 7.7%สู่ 8.8% วันก่อน IMF. แวะมาคุยที่สำนักงานก็พยักหน้ากับผลกระทบหลังโควิด และยิ้มอ่อนเมื่อถามถึงตัวเลขความสำเร็จของการแก้หนี้แบบครบวงจรตลอดเส้นทางการเป็นหนี้ โดยเฉพาะแก้หนี้เรื้อรังว่ามีจำนวนกี่บัญชีที่เข้ามาตรการแก้ไขปิดจบ หรือมาตรการ debt consolidation ว่ามียอดทำได้เท่าใด
หนี้ NPLs. ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โดยประมาณ เติบโต 14.1%yoy, 3.4%QoQ ใจชื้นตรงที่ NPLs.สินเชื่อบ้าน, รถยนต์, เครดิตคาร์ด, สินเชื่อส่วนบุคคลนิ่งๆ หรือโตไม่มากจากไตรมาสก่อน
แต่ที่กังวลมากคือ สินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็กหรือ SME.มันเติบโต 20%yoy 5.2%QoQ อันนี้คือประเด็นสำคัญมากๆ
ส่วน SM ยอดคงค้าง Q3 ปี 2567มาหยุดที่ 4.8แสนล้านบาท โดยประมาณ ลดลงมาทั้ง yoy, QoQ น่าจะเบาใจขึ้นได้บ้าง
สุดท้ายคือ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้หลังเป็นหนี้เสียที่เรียกว่าทำ TDR.ซึ่งตัวเลขสะสมมาอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.6%ของ 13.6 ล้านล้านบาท ที่ไม่ค่อยดีคือ มันอืด มันเติบโต QoQ. ติดลบประมาณ 3%
ในส่วนของ DR.หรือปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันก่อนเป็นหนี้เสียยอดสะสมตั้งแต่เมษายน 2567 มาหยุดที่ 1.2 ล้านบัญชี 6.45 แสนล้านบาท
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และหลายท่านจะได้นำไปประกอบการพิจารณากับมาตรการแก้หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้ SMEs ที่กำลังจะประกาศความชัดเจนในเร็ววันนะครับ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์