ธปท. ชี้สินเชื่อแบงก์ไตรมาส3 ติดลบสูงสุดรอบ 14 ปี ธุรกิจชะลอขอกู้
ธปท. เปิดภาพรวม “ธนาคารพาณิชย์” ไตรมาส 3 ปี 67 “สินเชื่อ” กลับมา “หดตัว” ครั้งแรกที่ 2% เป็นการ “ติดลบ” ในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” เหตุ “ภาครัฐ-ธุรกิจ” คืนหนี้พุ่ง สินเชื่อปล่อยใหม่ชะลอตัว
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2567 ยังคงมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามการปล่อยสินเชื่อและความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่ปัจจุบันแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์หดตัวลง 2% เป็นไตรมาสแรก หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการกลับมาติดลบของสินเชื่อในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 ตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์)
เหตุผลหลักมาจากการชำระคืนหนี้คืนของรัฐ ที่เป็นช่วงเบิกจ่ายงบประมาณก่อนปิดปีงบประมาณ และมีธุรกิจขนาดใหญ่บางกลุ่ม มีการชำระหนี้คืน หลังระดมเงินจากการออกตราสารหนี้ต่างๆ ได้ ส่งผลให้ยอดการปล่อยสินเชื่อโดยรวมปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อใหม่ยังคงมีต่อเนื่องในธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมการผลิต
เช่นเดียวกับสินเชื่อธุรกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มชะลอลง ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิต ยังคงหดตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สินเชื่อที่หดตัว 2% เมื่อหักการชำระหนี้คืนภาครัฐจะอยู่ที่ราว 84,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อจะเหลือหดตัว 1.5% และสินเชื่อธุรกิจ -2.6% แต่หากหักการชำระหนี้คืนจะเหลือ -1.8% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวเล็กน้อยอยู่ที่ 0.2% ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีหดตัว 5.5% ในทุกหมวด
ส่วนสินเชื่อรายย่อยหดตัว 1.0% โดยสินเชื่อรถยนต์จะหดตัว 7.6% เป็นการหดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากการขายขาดทุนรถถูกยึด และราคารถที่ถูกลง ส่งผลให้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว 2.4% เป็นการหดตัวไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน
“การปรับลดลงของสินเชื่อ ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2553 คล้ายกับพอร์ตสินเชื่อในต่างประเทศที่หดตัวเช่นกัน ทั้งจากปัญหากีดกันทางการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้การธุรกิจแข่งขันไม่ได้มากขึ้น แต่หากมองไปข้างหน้า สินเชื่อมีทิศทางขยายตัวได้”
“หนี้เสีย”เพิ่มขึ้นทุกพอร์ตสินเชื่อ
สำหรับภาพรวมหนี้เสีย ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.97% โดยเพิ่มขึ้น จาก 2.84% จากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในทุกหมวดสินเชื่อ ทุกกลุ่มสินเชื่อ โดยคิดเป็นหนี้เอ็นพีแอลคงค้าง 5.53 แสนล้านบาท โดยหนี้เสียจากสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.84% จาก 2.70% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ 3.24% จาก 3.13%
หากแยกเฉพาะหนี้เสีย สำหรับสินเชื่อธุรกิจที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาท พบว่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยหนี้เสียมาอยู่ที่ 1.18% จาก 1.10% และหนี้เสียสำหรับธุรกิจที่มียอดขายต่ำกว่า 500 ล้านบาท มาอยู่ที่ 7.13% จาก 6.85%
ด้านพอร์ตหนี้เสีย สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อเช่าซื้อ หนี้เสียมาอยู่ที่ 2.33% จาก 2.29% สินเชื่อบุคคล 2.89% จาก 2.77% สินเชื่อบัตรเครดิต 3.65% จาก 3.53% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 3.82% จาก 3.71%
กลุ่มเปราะบางรายได้3-5หมื่นบาท“ค้างหนี้พุ่ง”
ในระยะข้างหน้า ธปท. มองว่า ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทั้งนี้ระดับหนี้เสียที่ยังเพิ่มขึ้น ยอมรับว่าเป็นจุดที่ธปท. กังวล แต่เป็นการกังวลในวงจำกัด ที่เป็นห่วง คือ กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเปราะบาง ลูกหนี้ธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยบางกลุ่มที่มีปัญหาอยู่เดิม และส่วนใหญ่ผ่านการให้ความช่วยเหลือมาแล้วทั้งสิ้นตั้งแต่ช่วงโควิด
“หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในส่วนสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต พบว่า มีการปรับเพิ่มขึ้นของ Stage 3 มาจากกลุ่มที่มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ยกเว้นสินเชื่อบ้านที่ขยับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และกลุ่มที่มีรายได้ 30,000-50,000 บาทด้วย ถามว่าเรากังวลหรือไม่ เรากังวลกับกลุ่มที่มีความเปราะบาง จากข้อมูลรายได้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่ต่ำกว่า 30,000 บาท หรือกลุ่มที่เป็นรายได้ประจำและกลุ่มที่เป็นอาชีพอิสระ”
สำหรับสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM หรือ Stage 2) ขยับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 6.50% มาอยู่ที่ 6.86% ในไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 1.27 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อธุรกิจขยับเพิ่มขึ้นจาก 5.98% เป็น 6.39% เป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพหนี้เจ้าหนี้ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยับเพิ่มขึ้น 7.60% เป็น 7.81% อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าตัวเลข SM ของรถยนต์ชะลอลง แต่เป็นผลมาจากสินเชื่อที่หดตัว
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90 วัน หรือ SM ในส่วนสินเชื่อธุรกิจทั้งเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ถูกจัดชั้นใน Stage 2 ส่วนใหญ่เป็นการจัดชั้นสินเชื่อเชิงคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ แต่ธุรกิจยังชำระหนี้ได้ โดยมาจาก 3 ปัจจัย คือ วันค้างชำระที่ล่าช้า รายได้กิจการ ยอดขายที่ปรับลดลง และเครดิตเรตติ้งของธุรกิจที่ถูกปรับลดลงในมุมของสถาบันการเงิน
จ่อคลอดมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนก่อนสิ้นปีนี้
สำหรับความคืบหน้ามาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ที่ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลัง และรัฐบาล และสมาคมธนาคารไทย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ คาดว่าจะเห็นมาตรการออกมาชัดเจนได้ในเร็วๆ นี้ ก่อนสิ้นปี 2567 โดยการแก้หนี้ครัวเรือนครั้งนี้จะเน้นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มเปราะบาง
“อีกด้านสิ่งที่ ธปท.กังวลคือ การเกิดพฤติกรรมผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard มองว่ามาตรการแก้หนี้ครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนในระยะข้างหน้าปรับตัวลดลงด้วย”
การทำมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ มีกำลังในการช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้นผ่านการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลด 0.23% จาก 0.46%
และมองว่าการลด FIDF ครั้งนี้ แตกต่างกับการลด FIDF ในช่วงโควิด-19 โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง ดังนั้นการช่วยเหลือลูกหนี้ครั้งนี้ทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ต้องมีส่วนช่วยเหลือเพิ่มเติมลูกหนี้ด้วย
“ยอมรับว่าการลด FIDF เหลือ 0.23% มีผลกระทบต่อการชำระหนี้ FIDF ล่าช้ากว่าที่คาด หากลด 1 ปี จะมีผลทำให้การชำระหนี้ล่าช้าออกไปครึ่งปี โดยต้องติดตามความชัดเจนมาตรการต่างๆ อีกครั้งถึงประเมินชัดเจนว่า มีผลกระทบต่อการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ลดเงินนำส่งด้วย”