‘กฤษณ์‘ ไทยพาณิชย์ เข็นเรือลำใหญ่สู้ ’เวอร์ชวลแบงก์‘ เร่งลดต้นทุนเหลือ 30%
“ธนาคารไทยพาณิชย์”เดินเครื่อง “เข็นเรือลำใหญ่” สู้เรือลำเล็กแข่ง “เวอร์ชวลแบงก์” กดต้นทุนดำเนินธุรกิจให้ต่ำเหลือ 30% จากปัจจุบันกว่า 36% พร้อมเร่งเครื่อง “ดิจิทัล-เอไอ” ปรับโครงสร้างแบงก์มุ่งสร้างการเติบโตใหม่
กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วง 850 วันตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งในธนาคารไทยพาณิชย์ หรือกว่า 3 ปี พันธกิจของธนาคารยังคงเดิมคือ การมุ่งสู่กลยุทธ์ Digital Bank With Human Touch ที่ธนาคารมองว่าจะยังคงเป็นกลยุทธ์ต่อเนื่องในอีก 5-10 ปีหลังจากนี้
โดยระยะใกล้ๆ ธนาคารยังคงมีเป้าหมายในการมีรายได้จากดิจิทัลเป็น 25% ในปีหน้า จากสิ้นปีนี้ที่คาดจะอยู่ที่ 15%
และการตั้งเป้ามีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 30% ใน 2 ปีหลังจากนี้ จากปัจจุบันที่ 27% สะท้อนการทำธุรกิจธนาคารหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจอื่นที่มิใช่ดอกเบี้ยจากสินเชื่อ จากการที่ธนาคารหันมาเติบโตในธุรกิจความมั่งคั่งมากขึ้น จากปัจจุบันที่ธนาคารถือเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ในธุรกิจเวลท์
ขณะที่ 3 ปีข้างหน้า เป้าหมายของธนาคารยังคงเดิมคือ การไปสู่ “ดิจิทัลแบงก์” เต็มรูปแบบ การเป็นอันดับหนึ่งในการบริหารความมั่งคั่ง อันดับหนึ่งในใจของลูกค้าทุกกลุ่ม และการปล่อยสินเชื่อยั่งยืนให้ได้ตามเป้าหมายที่ 1.5 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 1.3 แสนล้านบาท
เปิด 3 ความท้าทายปี 68
สำหรับ ความท้าทายในปี 2568 มองว่า การดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมธนาคาร และไทยพาณิชย์ ไม่ใช่โจทย์ง่าย ภายใต้ปัจจุบันที่
สินเชื่อไม่ได้เติบโต ทุกแบงก์มุ่งสู่ธุรกิจมั่งคั่งหรือเวลท์มากขึ้น ดังนั้น ไทยพาณิชย์ต้องปรับตัว และเตรียมตัวหลายด้าน โดยมี 3 เรื่องที่ธนาคารกังวล
ประเด็นแรก จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า และเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง ทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ไทยพาณิชย์คาดว่าจีดีพีเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.7% ปีนี้ โดยมาจาก 2-3 ปัจจัย จากการแจกเงินดิจิทัล รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ปีหน้าคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้าลงเหลือ 2.4% โดยมองว่า จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ และการมาของ “ทรัมป์” กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 0.5% ต่อจีดีพี
ประเด็นที่สอง ความท้าทายจากหนี้ครัวเรือน แม้ทิศทางหนี้ครัวเรือนลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้นความท้าทายของแบงก์ ทุกธนาคารยังคงระมัดระวังสินเชื่อต่อเนื่อง และมุ่งเป้าไปสู่กลุ่มที่มีศักยภาพมากขึ้น และกลับมาดูธุรกิจที่ไม่พึ่งพาการปล่อยสินเชื่อมากนัก เช่นการบริหารความมั่งคั่ง
ทั้งนี้มองว่ามาตรการแก้หนี้ครัวเรือนของรัฐบาลที่จะออกมาในช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้ จะมีผลบวกกับแบงก์และลูกค้าของธนาคาร ที่เข้าโครงการ แต่มาตรการนี้มได้ช่วยให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่ช่วยลดเพดานหนี้ให้ลดลง จากหนี้เรื้อรังในอดีต แต่ไม่ได้ช่วยทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นมองว่า ปีหน้าภาคธุรกิจธนาคารจะมีความท้าทายมากขึ้น
หั่นดอกเบี้ย0.25%รายได้หาย“หมื่นล้าน”
สำหรับทิศทางดอกเบี้ย ประเมินว่า ปีหน้าจะเห็นการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้ง ราวต้นเดือนก.พ. มาอยู่ที่ 2% ซึ่งมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสม แต่ส่วนนี้จะกระทบต่อผลการดำเนินงานของแบงก์ โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยแบงก์ลดลง 5,000-10,000 ล้านบาท
ความท้าทายสุดท้ายคือ จากเทรนด์ใหม่ AI & ESG และการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่หรือ Virtual Bank ที่จะทำให้ธนาคาร และภาคธนาคารพาณิชย์มีความท้าทายมากขึ้น
โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีหลังจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการมาของ Virtual Bank ที่จะมีผู้แข่งขันเข้ามาในสนามนี้อีก 2ปีข้างหน้า แต่ธนาคารต้องปรับตัว และเตรียมตัวให้พร้อมมากขึ้น
โดยสิ่งหนึ่งที่ธนาคารต้องปรับตัวคือ การลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ Cost to income อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้รวม ที่ต้องปรับลดลง เพราะหากดู ต้นทุนของ Virtual Bank ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 30% ต้นๆเท่านั้น หากเทียบกับไทยพาณิชย์ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 36% ดังนั้นธนาคารต้องพยายามทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกับผู้เล่นรายใหม่
นอกจากนี้ธนาคารต้องพร้อมที่จะแข่งขันกับ Virtual Bank รวมถึงผู้เล่นหน้าใหม่ๆ อื่นๆ ด้วย ซึ่งสิ่งที่จำเป็นคือการสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง การเตรียมตัวให้ดีขึ้น
“การทำให้ ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลงมาใกล้เคียงกับ Virtual Bank ที่ 30% ต้นๆ ถือว่าไม่ง่าย เพราะปัจจุบันไทยพาณิชย์มีโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่มาก แต่ก็จะพยายามให้เกิดขึ้นได้ เพราะหากเทียบก่อนที่จะมารับตำแหน่งที่ไทยพาณิชย์ อดีตต้นทุนแบงก์สูงถึง 41% แต่ 850 วันที่เข้ามา ต้นทุนแบงก์ลดลงเหลือ 36.7% แต่ปีหน้าเราจะพยายามรักษาต้นทุนแบงก์ให้ทรงๆเพราะเรามีแผนลงทุนอีกมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี”
อย่างไรก็ตาม สำหรับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของแบงก์ปี 2568 ธนาคารจะพยายามรักษาให้อยู่ระดับทรงๆตัว เช่นเดียวกันปัจจุบัน แม้ว่า ระยะข้างหน้า ธนาคารจะมีต้นทุนจากการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะข้างหน้าที่ธนาคารมีแผนลงทุนด้านเทคโนโลยี ลงทุนระบบคลาวด์ จากโครงสร้างของเอสซีบีเอกซ์ แต่เชื่อว่า หลังจาก 2 ปีหลังจากนี้ เมื่อทุกอย่างนิ่ง การปรับโครงสร้างต่างๆเริ่มมีประสิทธิ จะเริ่มเห็นประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเกิดขึ้นที่ไทยพาณิชย์
ดังนั้นบนความท้าทายของไทยพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารต้องปรับตัว 3 เรื่อง คือการกลับมาเน้นตอบโจทย์ลูกค้ารวดเร็วขึ้น ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ถัดมาคือการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสุดท้ายสำคัญที่สุด ในการเป็นดิจิทัลแบงก์ ธนาคารต้องทำให้พนักงานมีคุณสมบัติ ในการมีองค์ความรู้ในด้านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เป้าหมายของธนาคารที่สำคัญคือ การตั้งเป้าเป็นดิจิทัลแบงก์เต็มตัว และการตั้งเป้ามีรายได้จากดิจิทัล หรือ Digital Revenue ให้สูงขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่า เรือลำใหญ่จะแข่งกับเรือลำเล็กได้ และเชื่อว่าการแข่งขันบนเวทีนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากเศรษฐกิจไทยที่ไม่ง่ายขนาดนั้น”
ปักหมุดปรับโครงสร้างรอบใหม่
เส้นทางการไปสู่เป้าหมายหมายของธนาคาร ที่ธนาคารปักหมุดหลักจากนี้คือ ปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในอนาคต ที่จะอยู่คู่กับคนไทยไปอีกกว่า 100 ปีข้างหน้า โดยมีสิ่งที่ธนาคารต้องพิจารณา 3 เรื่อง การตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ถัดมาคือ การวางโครงสร้างด้านดิจิทัล การเสริมศักยภาพในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการปรับใช้เอไอ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการให้สินเชื่อ การเก็บหนี้ หรือการรู้จักตัวตนลูกค้าต่างๆได้มากขึ้น
“การปรับโครงสร้างทั้งหมดนี้ ก็เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น เป้าหมายคือ ลดกำแพง ลดความซับซ้อนในการทำงาน ในองค์กร ลดขั้นตอนในการทำงาน ลดระดับชั้นของผู้บริหารลง เพื่อลดความซับซ้อนของการทำงานลง เช่น ระดับผู้บริหารตรงสายตรงที่อยู่ใต้ผม วันนี้มี 19คน ตั้งเป้าลดให้เหลือ10 คน”
หันแข่งรายใหญ่-รายได้ปานกลางถึงบน
สำหรับ ภาพรวมสินเชื่อแบงก์ ปีนี้ทรงๆ ตัว บนการเลือกกลุ่มในการเติบโตสินเชื่อมากขึ้น ดังนั้นการเติบโตสินเชื่อข้างหน้าจะเป็นลักษณะ K- Shaped โดยกลุ่มที่แบงก์โฟกัสคือกลุ่มลูกค้าระดับกลางบน ที่มีรายได้เกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไป ที่เป็นกลุ่มที่ธนาคารมองว่ายังมีโอกาสในการเติบโตสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อดิจิทัลเลนดิ้ง เพื่อการลงทุน ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเลือกโตมากขึ้น
ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ มองว่าจะเติบโตกระจุกตัวมากขึ้น เพราะภายใต้การบริหารพอร์ตสินเชื่อ บนการรับความเสี่ยงที่ไม่มากเกินไป จะเห็นการแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อกับธุรกิจรายใหญ่มากขึ้น ที่จะตามมาสู่การแข่งขันด้านราคามากขึ้นในระยะข้างหน้า