ธีมการลงทุนเด่นปี 2568 พร้อมเทคนิคจัดพอร์ตที่ต้องรู้
การจัดพอร์ตการลงทุน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงที่แตกต่างกันของนักลงทุน โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง ยอมรับการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้
อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นสุดปี 2567 และเข้าสู่ปี 2568 แล้ว ซึ่งเป็นปกติที่ทางบรรดาผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศจะทำการทบทวนและปรับพอร์ตการลงทุนครั้งใหญ่ประจำปีเพื่อรองรับการลงทุนในปีถัดไป โดยบางแห่งอาจทำการปรับพอร์ตไปเรียบร้อยแล้วก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลหยุดยาวในช่วงครึ่งหลังของเดือนนี้ ในขณะที่บางแห่งอาจเริ่มปรับพอร์ตหลังปีใหม่ ในส่วนของนักลงทุนไทยก็อาจอยากได้แนวทางในการลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษี
ในช่วงปลายปีที่แล้ว ผมได้ให้แนวทางการลงทุนในกองทุนที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในปีนี้ ซึ่งได้แก่ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กองทุนที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย กองทุนหุ้นบุริมสิทธิ์ และกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว ซึ่งแต่ละกองทุนต่างให้ผลตอบแทนที่ดี
โดยตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม ดัชนี Nasdaq ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นกว่า 30% ดัชนี BSE Sensex ของตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นประมาณ 12% ดัชนี S&P US Preferred Stock Index ปรับตัวขึ้นประมาณ 5% และกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวของไทยให้ผลตอบแทนประมาณ 3.5%-4.3%
สำหรับการลงทุนในปีหน้า กองทุนแรกที่คาดว่าน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี ได้แก่ กองทุนที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาลง กอปรกับนโยบายเศรษฐกิจของว่าที่ประธานาธิดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้นสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ น่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐ
ทั้งนี้ ถึงแม้หลายฝ่ายกังวลว่านโยบายของนายทรัมป์อาจส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และเฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด แต่ผลกระทบอาจไม่รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านี้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง การใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ยังคงแข็งแกร่ง ท่ามกลางตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังคงเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่องเช่นกัน
สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการที่ดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับสูงได้ อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนต้องการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากกองทุนดังกล่าวมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอยู่มากพอสมควร และการดำเนินนโยบายของนายทรัมป์อาจไม่รุนแรงอย่างที่ได้ประกาศไว้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นอื่นๆ
กองทุนต่อมาที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องในปีหน้า ได้แก่ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นแรงต่อเนื่อง แต่แนวโน้มในปีหน้าก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ จะยังคงเติบโตได้ในอัตราที่สูง เนื่องจากนวัตกรรมใหม่ๆยังคงมีต่อเนื่อง และการพัฒนาในหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น ด้านการแพทย์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Cloud และ Data Center ฯลฯ ยังเติบโตได้อีกมาก โดยการพัฒนาในบางด้านยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น บางด้านอยู่ในช่วงเติบโต และอาจมีนวัตกรรมใหม่ๆที่มาช่วยผลักดันการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้น นักลงทุนที่กังวลว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอาจแพงเกินไป ก็ไม่น่าจะต้องกังวลมาก เนื่องจากการเติบโตของรายได้ของบริษัทในหุ้นกลุ่มนี้ยังคงมีแนวโน้มโดดเด่น
กองทุนที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นอินเดียก็ยังคงเป็นกองทุนที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียยังคงมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง ท่ามกลางปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง และรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวลดลงจากผลของเงินทุนไหลออกสู่ตลาดหุ้นจีน ข่าวการทุจริตในบริษัทขนาดใหญ่ จีดีพีโตต่ำกว่าที่คาด และรัฐบาลปรับลดการใช้จ่าย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ อาจเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลลบต่อบรรยากาศการลงทุน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ตลาดหุ้นควรจะสะท้อนถึงปัจจัยในระยะยาว ซึ่งก็คือการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่สูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ อินเดียอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของนายทรัมป์ไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียเน้นเติบโตจากภายในประเทศ และยังไม่ถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐมากนัก
กองทุนหุ้นบุริมสิทธิ์ และกองทุนที่เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จะได้ประโยชน์จากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวลดลง เนื่องจากกองทุน 2 ประเภทนี้ มีการจ่ายอัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ย กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว ก็ยังคงมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง อย่างไรก็ดี กองทุนในกลุ่มนี้อาจมีความผันผวนเป็นบางช่วงจากคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟดที่อาจช้ากว่าที่คาด
สำหรับสัดส่วนในการจัดพอร์ตการลงทุน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงที่แตกต่างกันของนักลงทุน โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง ยอมรับการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ อาจมีการลงทุนในกองทุนหุ้นตั้งแต่ 70% ถึง 100% ในขณะที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง อาจมีการลงทุนในกองทุนหุ้นระหว่าง 40% ถึง 60% ลงทุนในกองทุนหุ้นบุริมสิทธ์และกองทุนที่เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 10% ถึง 20% และส่วนที่เหลือลงทุนในกองทุนตราสารหนี้