สนามกีฬาทั่วโลกผู้รับผลประโยชน์ตัวจริง จากปรากฏการณ์ ‘Swiftonomics’
สนามกีฬาทั่วโลกผู้รับผลประโยชน์ตัวจริง ปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า “Switonomics” ทำให้ทุกฝ่ายยิ้มกันถ้วนหน้า แต่รู้ไหมว่าคนที่ได้ยิ้มกว้างอย่างผู้ชนะ ในปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ร้านค้า โรงแรม หรือภัตตาคารหรอก เจ้าของทีมกีฬาที่ใช้เช่าสนามสำหรับจัดการแสดงต่างหาก
KEY
POINTS
Key points
- ตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยจาก Wall Street Journal ในการแสดงแต่ละรอบของ Eras Tour จะทำรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดงเฉลี่ยที่รอบละ 10 ล้านดอลลาร์ หรือ 340 ล้านบาท โดยในบางรอบที่แสดงในสนามกีฬาขนาดใหญ่อาจทำรายได้เพิ่มมากถึง 13 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้าเป็นสนามกีฬาที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อยอาจจะลดลงมาที่ 6 ล้านดอลลาร์
- คิดสะระตะแล้วในแต่ละคืนสนามกีฬาเหล่านี้จะทำรายได้ประมาณ 3-4 ล้านดอลลาร์ต่อคืน สมมติถ้าจัดการแสดงขั้นต่ำ 2 รอบ รายได้จะอยู่ที่ 6-8 ล้านดอลลาร์ หรือราว 204-270 ล้านบาท
- แม้ว่าตัวเลขรายได้จากปรากฏการณ์ “Swiftonomics" จะเป็นเรื่องที่คงไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก หรืออาจจะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวก็ได้ แต่หากสนามกีฬามีศักยภาพที่จะรองรับการแสดงขนาดใหญ่แบบนี้ได้ก็อาจหมายถึงหนทางในการทำรายได้ที่งดงามเพิ่ม
ทัวร์คอนเสิร์ตสุดมหัศจรรย์ ‘Eras Tour’ ของ Taylor Swift ศิลปินหญิงอันดับหนึ่งแห่งยุคสมัยเพิ่งจะสิ้นสุดการแสดงรอบสุดท้ายไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ภายหลังจากที่เปิดการแสดงมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 ซึ่งเริ่มต้นจากการแผนการทัวร์ทั่วสหรัฐอเมริกา 52 รอบ แต่กลายเป็นการทัวร์รอบโลกที่เปิดการแสดงมากถึง 149 รอบใน 5 ทวีป
ตัวเลขที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจจากการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้อยู่ในระดับ “ปรากฏการณ์มหัศจรรย์” โดยมีการประเมินคร่าวๆแล้วว่าเป็นทัวร์คอนเสิร์ตที่ทำรายได้มากเกินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้ Taylor Swift กลายเป็นศิลปินคนแรกที่กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับ Billionaire หรือ “นักร้องพันล้าน” ที่ทำรายได้จากการแสดงดนตรีเพียงอย่างเดียว
แต่ความมหัศจรรย์นั้นไม่ได้จบแค่นั้น เพราะไม่ว่าเธอจะย่างเท้าก้าวไปที่เมืองไหน จะเกิดแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่เหลือเชื่อจากการที่เหล่า “สวิฟตี้” (Swiftie ชื่อที่เรียกแฟนเพลงของสาว Swift) เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปเพื่อชมการแสดงของเธอ ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงการ
ใช้จ่ายกับการเดินทาง โรงแรมที่พัก ไปจนถึงมื้ออาหาร สินค้าและบริการในเมืองที่จัดแสดงคอนเสิร์ต
มีการคำนวนกันว่าแฟนเพลงแต่ละรายอาจใช้จ่ายมากถึง 1,600 ดอลลาร์ หรือกว่า 54,000 บาทสำหรับการเดินทางไปชมการแสดงหนึ่งรอบ ซึ่งเป็นจำนวนตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่แฟนอเมริกันฟุตบอลยอมจ่ายสำหรับการไปชมเกมซูเปอร์โบวล์สักครั้ง เพียงแต่ความแตกต่างของเรื่องนี้คือซูเปอร์โบวล์นั้นมีขึ้นปีละหน แต่คอนเสิร์ตของ Taylor Swift มีขึ้นกว่า 149 รอบในช่วงระยะเวลา 18 เดือน
เราเรียกปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า “Switonomics” ที่ทำให้ทุกฝ่ายยิ้มกันถ้วนหน้า แต่รู้ไหมว่าคนที่ได้ยิ้มกว้างอย่างผู้ชนะมากที่สุดในปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ร้านค้า โรงแรม หรือภัตตาคารหรอก เจ้าของทีมกีฬาที่ใช้เช่าสนามสำหรับจัดการแสดงต่างหาก!
เรื่องนี้ฟังเหมือนไม่น่าเชื่อแต่เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะตลอดการทัวร์ทั้ง 149 รอบของ Taylor Swift นั้นการแสดงส่วนใหญ่ถูกจัดขึ้นที่สนามกีฬาขนาดใหญ่หลายแห่งเพราะสามารถรองรับจำนวนผู้ชมได้มากและพร้อมสำหรับการรับมือผู้ชมในจำนวนขนานมหาศาล
ใกล้ประเทศไทยที่สุดก็คือสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ที่มีการแสดงไปถึง 6 รอบด้วยกันในระหว่างวันที่ 2-4 และ 7-9 มีนาคมที่ผ่านมา เขยิบไปอีกนิดคือที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นที่มีการแสดงที่โตเกียวโดมในระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์
ขณะที่ทางฝั่งตะวันตกนั้นมีการแสดงในสุดยอดสนามกีฬาระดับตำนานอย่างสนามแอนฟิลด์ รังเหย้าของทีม “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล ในประเทศอังกฤษ รวมถึงสนามซานติอาโก เบอร์นาบิว ที่มีการปรับปรุงโฉมใหม่ของทีม “ราชันชุดขาว” เรอัล มาดริด ในประเทศสเปน ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดของสาว Swift มีการแสดงในสนามระดับเวิลด์คลาสเช่นกันทั้ง จิลเล็ตต์ สเตเดียม ในแมสซาชูเซตส์, ฮาร์ด รอค สเตเดียม ในไมอามี, เม็ตไลฟ์ สเตเดียม ในนิวเจอร์ซีย์ และ SoFi สเตเดียม ในลอสแองเจอลีส
ตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยจาก Wall Street Journal ในการแสดงแต่ละรอบของ Eras Tour จะทำรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดงเฉลี่ยที่รอบละ 10 ล้านดอลลาร์ หรือ 340 ล้านบาท โดยในบางรอบที่แสดงในสนามกีฬาขนาดใหญ่อาจทำรายได้เพิ่มมากถึง 13 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้าเป็นสนามกีฬาที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อยอาจจะลดลงมาที่ 6 ล้านดอลลาร์
ถึงกระนั้นต้นทุนของ Taylor Swift ที่ต้องจ่ายในการแสดงแต่ละครั้งมีรายจ่ายจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นค่าแรงงาน, ค่าขนส่งการเดินทาง, ค่าโปรดักชัน, ค่าเวที ไปจนถึงเงินสำหรับโปรโมเตอร์ที่จัดการแสดง
แต่มีรายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ได้ตระหนัก นั่นคือค่าเช่าสถานที่สำหรับการแสดง หรือพูดง่ายๆก็คือค่าเช่าสนามกีฬานั่นเอง
ตามข้อมูลแล้วจากรายได้เฉลี่ยรอบละ 10 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งราว 2-3 ล้านดอลลาร์จะถูกจ่ายเพื่อเป็นค่าเช่าของสนามกีฬา หรือคิดเป็น 20-30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เลยทีเดียว
สำหรับสนามกีฬาเหล่านี้เงินค่าเช่าสถานที่จะถูกนำไปใช้สำหรับการซ่อมบำรุงและเตรียมความพร้อมต่างๆ ซึ่งก็ใช้งบประมาณอยู่บ้างโดยเฉพาะสนามฟุตบอลที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการใช้เพื่อจัดการแสดงโดยเฉพาะ โดยเฉพาะหัวใจของสนามคือส่วนของพื้นหญ้า (Pitch)
แต่เงินค่าเช่านี้คุ้มยิ่งกว่าคุ้มโดยเฉพาะหากมีการเช่าจัดการแสดงต่อเนื่องหลายๆวัน!
ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายน - ซึ่งการแข่งขันฟุตบอลได้ปิดฉากฤดูกาลลงไปแล้ว - Taylor Swift ได้จัดการแสดงที่สนามแอนฟิลด์ในเมืองลิเวอร์พูล ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 วันด้วยกัน เช่นเดียวกับที่ จิลเล็ตต์ สเตเดียม, ฮาร์ด ร็อค สเตเดียม, โรเจอร์ส เซ็นเตอร์
ดีดลูกคิดแล้วสนามเหล่านี้ได้ค่าเช่าเฉลี่ย 6-9 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว ซึ่งไม่เลวเลยเมื่อคิดถึงการปล่อยให้สนามไม่ถูกใช้งานอยู่เหงาๆในคืนวันเสาร์
บางสนามเหมือนถูกหวยยิ่งกว่าเพราะได้ใช้งานติดต่อกันมากยิ่งกว่านั้น เช่น SoFi สเตเดียม ในลอสแองเจอลีส หรือสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ที่จัดการแสดงเต็มๆถึง 6 รอบ
ไม่เพียงเท่านั้นรายได้ที่จะเกิดจากการแสดงไม่ได้มาจากค่าเช่าเท่านั้น ยังมีรายได้จากการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ของที่ระลึกที่คาดกันว่าจะทำรายได้มากกว่า 2 ล้านดอลลาร์ต่อหนึ่งรอบการแสดงเลยทีเดียว
คิดสะระตะแล้วในแต่ละคืนสนามกีฬาเหล่านี้จะทำรายได้ประมาณ 3-4 ล้านดอลลาร์ต่อคืน
สมมติถ้าจัดการแสดงขั้นต่ำ 2 รอบ รายได้จะอยู่ที่ 6-8 ล้านดอลลาร์ หรือราว 204-270 ล้านบาท แต่ถ้าจัดการแสดงแบบเต็มเหนี่ยว 6 คืนรายได้จะอยู่ที่ 18-24 ล้านดอลลาร์ หรือราว 612-816 ล้านบาท
ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่บรรดาเจ้าของทีมกีฬาไม่สามารถมองข้ามได้ และทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าทำไมหลายสโมสรจึงพยายามจะสร้างสนามกีฬาใหม่ แม้ว่าจะผูกพันกับสนามกีฬาเดิมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานแค่ไหนก็ตาม
ทั้งนี้แม้ว่าตัวเลขรายได้จากปรากฏการณ์ “Swiftonomics" จะเป็นเรื่องที่คงไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก หรืออาจจะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวก็ได้ แต่หากสนามกีฬามีศักยภาพที่จะรองรับการแสดงขนาดใหญ่แบบนี้ได้ก็อาจหมายถึงหนทางในการทำรายได้ที่งดงามเพิ่ม นอกเหนือจากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขันหรือหวังรายได้จากการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าที่ระลึกเพียงอย่างเดียว
สำหรับทีมกีฬาที่ปัจจุบันมีการแข่งขันสูงทำให้มีรายจ่ายมหาศาลสำหรับความสำเร็จในสนาม และมีความผันผวนไม่แน่ไม่นอนในเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้หลักมาตลอด ทีมและสนามกีฬาจึงค่อยๆถูกเปลี่ยนแปลงสถานะไป
โดยเฉพาะสนามกีฬาที่กลายเป็นอสังหาริมทริพย์ขนาดใหญ่ ที่ไม่ใช้ประโยชน์แค่เกมกีฬา แต่ควรจะใช้งานได้หลากหลาย สนามกีฬาหลายแห่งที่สร้างขึ้นใหม่ถูกพัฒนาแบบ Mixed-use เลยทีเดียว
แต่ถ้าให้ดีที่สุด ตอนนี้ทุกสนามคงอยากให้ Taylor Swift ออกทัวร์ทุกปีเลย สาธุๆๆ
อ้างอิง
huddleup.substack.com/p/how-sports-team-owners-made-millions