สรุปรายการลดหย่อนภาษีปี 2567 เตรียมพร้อมก่อนยื่นภาษี ปี 2568
โค้งสุดท้าย สำหรับการเตรียมลดหย่อนภาษีปี2567 เพื่อการเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งสำหรับการยื่นภาษีในปี 2568 นี้ จะมีรายการไหนลดหย่อนได้บ้าง เหมือนหรือต่างจากปีที่แล้ว ไปติดตามพร้อมกัน
ช่วงสิ้นปีแบบนี้หลายคนเริ่มสังสรรค์จัดงานปีใหม่กันอย่างคึกคัก แต่หลังจากสนุกสนานกันแล้ว อย่าลืมเตรียมตัวเสียภาษีประจำปีกันด้วย
ช่วงยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.91, ภ.ง.ด.90 จะอยู่ช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และถึง 8 เมษายน (สำหรับยื่นภาษีออนไลน์) ของทุกปี
โดยภาษีประจำปี’67 ที่ผู้มีรายได้ที่รายได้ถึง 120,000 บาท (พนักงานเงินเดือน) และ 60,000 บาท (อาชีพอิสระ) ต้องยื่นภาษีแล้ว (แต่ไม่เสียภาษี) หากผู้มีรายได้มีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท หลังหักลดหย่อนต่างๆ แล้ว อย่าลืมเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งสำหรับปี 2568 นี้ จะมีรายการไหนลดหย่อนได้บ้าง เหมือนหรือต่างจากปีที่แล้ว ไปติดตามพร้อมกัน...
รายการลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
1. ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
2. คู่สมรส 60,000 บาท สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส และเป็นคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ หรือยื่นแบบฯ รวมกัน
3. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร หักสูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
3.1 ต้องมีใบรับรองแพทย์และใบเสร็จรับเงินจากสถ านพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 65
3.2 สามีใช้สิทธินี้ได้ หากภรรยาไม่มีรายได้ หรือมีรายได้แต่ยื่นแบบฯ รวมกัน
4. ลดหย่อนบุตร 30,000 บาท/คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
4.1 ต้องเป็นบุตรตามกฎหมาย
4.2 บุตรบุญธรรมใช้ได้ไม่เกิน 3 คน
4.3 บุตรอายุไม่เกิน 20 ปี
4.4 ในกรณีที่บุตรอายุ 21-25 ปี ต้องกำลังศึกษาในระดับชั้น ปวส.ขึ้นไป
4.5 บุตรมีเงินเดือนในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
5.บุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ลดหย่อนได้ 60,000 บาท/คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
5.1 เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2561
5.2 บุตรอายุไม่เกิน 20 ปี
5.3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
6. ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา อายุ 60 ปีขึ้นไป (คนละ) 30,000 บาท ไม่เกิน 4 คน รวม 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
6.1 บิดา-มารดา อายุ 60 ปีขึ้นไป
6.2 มีเงินได้ในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
6.3 บัตรสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียงคนเดียว
7. อุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ 60,000 บาท/คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
7.1 ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ
7.2 ผู้พิการมีเงินได้ในปี 2567 ไม่เกิน 30,000 บาท
รายการลดหย่อนกลุ่มประกันและการลงทุน
1. เงินสมทบประกันสังคม แบ่งตามประเภทเงินสมทบ ดังนี้
1.1 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลดหย่อนได้สูงสุด 9,000 บาท
1.2 ผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดหย่อนได้สูงสุด 5,184 บาท
1.3 ผู้ประกันตนมาตรา 40 ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 840-3,600 บาท
*ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ขึ้นอยู่กับเงินที่จ่ายสมทบไว้ของแต่ละคน
2. ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิต ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
2.1 มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
2.2 มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของดอกเบี้ย
2.3 เมื่อรวมกับประกันสุขภาพตนเอง ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
3. ประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
4. ประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
4.1 บิดา-มารดามีเงินได้ในปี 2567 ไม่เกิน 30,000 บาท
4.2 บุตรบุญธรรมใช้สิทธิ์ไม่ได้
4.3 บุตรหลายคนหารเฉลี่ยกันได้
5. ประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
5.1 สามี-ภรรยาต้องจดทะเบียนสมรส
5.2 ต้องมีสถานะเป็นสามี-ภรรยาตลอดทั้งปี
6. ประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
7. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
8. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. / สงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
9. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 13,200 บาท
10. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ เมื่อรวมเงินที่ซื้อทั้งหมดในข้อ 6-10 ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
รายการลดหย่อนกลุ่มบริจาค
1. บริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬาเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่นแล้ว โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1.1 ต้องเป็นสถานศึกษาที่ ศธ. กำหนด
1.2 ต้องเป็นสถานพยาบาลของราชการ
1.3 ต้องเป็นหน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
1.4 บริจาคผ่าน e-Donation เท่านั้น
2. บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
3. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง 10,000 บาท
4. เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่บริจาคจริง และรวมกับเงินบริจาคอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
หมวดกระตุ้นเศรษฐกิจ (จากมาตรการรัฐ)
1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสูงสุด 100,000 บาท
2. โครงการ “Easy E-Receipt” ลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาท เป็นการนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายในรูปแบบ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ที่ได้ในช่วง 1 มกราคม 2567 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 มาใช้ลดหย่อนภาษีของปี’68
3. ส่งเสริมการท่องเที่ยว 55 จังหวัดเมืองรอง โดยมีรายละเอียดดังนี้
3.1 ลดหย่อนนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
3.2 เป็นการท่องเที่ยวในช่วงระยะเวลา 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567
3.3 ค่าใช้จ่ายที่นำมาลดหย่อนภาษีปี 2567 ได้ ต้องเป็นค่าบริการท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ (ค่าแพ็กเกจทัวร์), ค่าที่พักในโรงแรม รีสอร์ต หรือโฮมสเตย์ โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)
สรุป ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ารายการลดหย่อนภาษีที่กล่าวมาสำหรับปีภาษี’ 67 ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนได้ในปี’68 ที่จะถึงนี้ มีทั้งรายการที่เหมือนเดิมทุกปีอยู่แล้ว และที่ต่างไปจากเดิมคือกลุ่มที่เพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้ในการนำมาลดหย่อนภาษี ซึ่งผู้มีรายได้สามารถวางแผนนำมาใช้ลดหย่อนภาษีของตนเอง เพื่อลดภาระการจ่ายภาษีลงได้
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting