โลกล้อมไทย ‘หั่นดอกเบี้ย‘ ส่งท้ายปี ‘ECB-ยุโรป’ แห่ปรับลง จับตาเฟดลดอีก 0.25%
จับตาสัปดาห์แห่งการประชุมแบงก์ชาติทั่วโลกส่งท้ายปี 2567 คาด ‘เฟด’ จะลดดอกเบี้ยต่อ 0.25% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี พร้อมส่งสัญญาณชะลอลดดอกเบี้ยปีหน้า “อีซีบี-ยุโรป ” แห่ลดดอกเบี้ยส่งท้ายปี “คลัง” หวัง กนง.ลดดอกเบี้ยอีก นักเศรษฐศาสตร์คาดไทยคงดอกเบี้ย 2.25%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กและรอยเตอร์สรายงานว่า ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเตรียมปิดฉากการประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายปี 2567 สัปดาห์นี้ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 17-18 ธ.ค.2567 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเฟดลดดอกเบี้ย 0.25% แต่อาจส่งสัญญาณร้ายชะลอลดดอกเบี้ยปี 2568
รายงานระบุว่า เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดอาจส่งสัญญาณชะลอลดดอกเบี้ยปี 2568 น้อยลงจากที่เคยคาดในรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคต (Dot Plot) ที่ออกเป็นรายไตรมาสก่อนหน้านี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของเฟด
บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า หลังจากคาดว่าลดดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกันในปีนี้ (รวมในเดือน ธ.ค.) หรือลดรวม 1.0% ทั้งปี จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับ 4.25-4.50% คาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณเปลี่ยนแนวทางลดอัตราดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไปในปี 2568 และลดอัตราดอกเบี้ยน้อยลง
เดวิด วิลค็อกซ์ อดีตเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์และสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าปี 2568 เฟดจะไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินทุกครั้งอีกแล้ว แต่จะชะลอลดดอกเบี้ยให้ช้าลง
นอกจากปัจจัยเงินเฟ้อที่ยังไม่ลงง่ายแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจหลายด้านของสหรัฐปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบข้อมูลเดือน ก.ย.2567 และมีตัวแปรล่าสุดเข้ามาเพิ่มจากชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบายเสี่ยงต่อเฟ้อเพิ่ม เช่น การขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนและประเทศต่างๆ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกระตุ้นเงินเฟ้อกลับมา
ด้านประธานเฟดเคยแสดงความเห็นไม่นานมานี้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งกว่าที่คิด และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นเฟดจึงมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเล็กน้อยในการรับมือเรื่องนี้
ทารา ซินแคลร์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า ความไม่แน่นอนจากนโยบายของทรัมป์อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และจำเป็นรักษาอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นนั้น อาจทำให้เฟดทยอยลดอัตราดอกเบี้ย
“การอธิบายคงอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องง่ายกว่าการอธิบายขึ้นดอกเบี้ยในสภาพแวดล้อมการเมืองเช่นนี้” ซินแคลร์กล่าว
คาดแบงก์ชาติญี่ปุ่นยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) วันที่ 18-19 ธ.ค.2568 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะรอสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มค่าจ้างและการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงจับตานโยบายสหรัฐที่อาจเปลี่ยนในรัฐบาลทรัมป์
ผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ 13 รายจากทั้งหมด 24 รายโดยซีเอ็นบีซีคาดการณ์ว่า บีโอเจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ในการครั้งนี้ โดยจะเลื่อนขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเดือน ม.ค.2568 รวมทั้งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการบีโอเจขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเดือน ก.ค.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก หากค่าจ้างและเงินเฟ้ออยู่สอดคล้องกับการคาดการณ์
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นต่ำสุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีนโยบายผ่อนคลายการเงินระดับดอกเบี้ยติดลบมานานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก ทว่าแนวโน้มดังกล่าวอาจเปลี่ยนเมื่ออัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นสูงขึ้นในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศอื่นเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย
“อีซีบี-ยุโรป” แห่ลดดอกเบี้ยส่งท้ายปี
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ตามคาดหมาย ส่งผลให้ตลอดปีนี้ อีซีบีลดไปแล้ว 4 ครั้ง รวม 1.0% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 3.00% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 3.40% พร้อมส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อเนื่องปีหน้า โดยตัดข้อความเชิงเข้มงวดที่มักปรากฎในแถลงการณ์ออก และสื่อสารการลดเงินเฟ้อที่เป็นไปด้วยดีแทน
คริสตีน ลาการ์ด ประธานอีซีบี กล่าวว่า กระบวนการลดเงินเฟ้อกำลังเดินในเส้นทางถูกต้อง โดยอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนอยู่ที่ 2.1% ในปี 2568 ก่อนลดมาอยู่ระดับ 1.9% ในปี 2569 ส่วนปี 2570 เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.1% นับเป็นครั้งแรกที่อีซีบีเปิดเผยคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2570
ขณะเดียวกัน อีซีบีลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจยูโรโซนอีก โดยคาดว่าจีดีพียูโรโซนจะขยายตัวเพียง 0.7% ในปี 2567 ก่อนขยายตัวเพิ่ม 1.1% ในปี 2568 และขยายตัว 1.4% ในปี 2569 โดยตัวเลขล่าสุดนี้ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เมื่อช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากอีซีบีแล้วธนาคารกลางหลายแห่งในยุโรปประกาศลดอัตราดอกเบี้ยส่งท้ายปี เช่น ธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ ลดดอกเบี้ยมากกว่าความคาดหมายถึง 0.5% เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ด้านธนาคารกลางเดนมาร์กลดดอกเบี้ยลง 0.25% ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษจบการประชุมวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75%
“คลัง”หวัง กนง.ลดดอกเบี้ย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 18 ธ.ค.2567 อยากเห็นลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพราะปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยังต่ำแม้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังขยายตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือหลายครั้งถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในและนอกประเทศ และทำความเข้าใจตรงกันว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยจะกระทบเศรษฐกิจอย่างไร อย่างไรก็ดีคงอยู่ที่ดุลพินิจของ กนง.
สำหรับการกำหนดกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายปี 2568 ใกล้ได้ข้อสรุปและเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ธ.ค.นี้ โดยกระทรวงการคลังหารือการดำเนินนโยบายการเงินกับ ธปท.ให้สอดคล้องนโยบายทางการคลังของรัฐบาล โดยอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงต้องมากกว่า 1% อยู่ในระดับเหมาะสมหรือค่ากลางที่ 2%
รวมทั้ง ธปท.ต้องมีมาตรการที่สนับสนุนการเจริญเติบโตเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไปสู่จุดที่เหมาะสม ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการลงทุน ซึ่งต้องกำหนดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ระดับเหมาะสม โดยเมื่อเทียบต่างประเทศและคู่แข่งอัตราดอกเบี้ยต้องอยู่ระดับแข่งขันได้
นักเศรษฐศาสตร์คาด กนง.คงดอกเบี้ย
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การประชุม กนง.วันที่ 18 ธ.ค.นี้ ส่วนตัวคาดว่าคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% แม้มอง กนง.มีโอกาสลดลงได้ เพราะเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ และเห็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยปี 2568 มากขึ้น แต่การลดจะไม่ใช่ครั้งนี้
ทั้งนี้การคาดการณ์คงดอกเบี้ยครั้งนี้มองว่า ธปท.เริ่มคลายความกังวลเกี่ยวเสถียรภาพระบบการเงิน หลังหนี้ครัวเรือนลดลง ควบคู่มาตราการแก้หนี้ ดังนั้น ครั้งนี้อาจเป็นรอบประเมินผลการลดดอกเบี้ยครั้งก่อนถึงความจำเป็นลดดอกเบี้ยในครั้งหน้า
โดยเฉพาะเดือน ก.พ.2568 คาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยอีกครั้ง และการลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นได้ 3 ครั้งในปี 2568 ทำให้อัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.50% ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะเกิดก่อนสิ้นไตรมาส 3 ปีหน้า เพื่อให้สอดคล้องเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำลง
“ลดดอกเบี้ยเป็นความพยายามแบ่งเบาภาระคนมีรายได้น้อย โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ และปีหน้าเห็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น การลดจะไม่ใช่รอบนี้แต่จะลดเดือน ก.พ.ปีหน้า และลดต่อเนื่องจบไตรมาส 3 ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.50%”
มีโอกาส “ลดดอกเบี้ย” ต่ำกว่า 50%
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินว่าโอกาสลดดอกเบี้ยครั้งนี้ มีต่ำกว่า 50% เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปีนี้จะเติบโต 4% และโตต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ที่ระดับ 4% ดังนั้นมองว่าเศรษฐกิจเติบโตค่อนข้างดี
ดังนั้น มองว่า อาจไม่เห็นการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ แต่เชื่อว่า ปีหน้าอาจเห็น กนง.ลดดอกเบี้ยลงที่ระดับ 2% บนคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าโต 2.7-2.8% แต่หากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 2.5% อาจเห็นการลดดอกเบี้ยมากกว่าคาด
“เฟทโก้” พบสัญญาณต่างชาติลงทุนไทยเพิ่ม
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดมีโอกาสขยายตัวเกินระดับ 3% ได้แน่นอน ด้านปัจจัยเสี่ยงปี 2568 ตลาดการลงทุนยังผันผวน ได้แก่ 1.ปัญหาวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนไม่จบง่ายและอาจใช้เวลาเป็นปีทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวไม่ดีตามคาด
2.นโยบายการเก็บภาษีนำเข้าของทรัมป์ ส่งผลให้เกิดสงครามการค้าหรือการตอบโต้ทางการค้า และทำให้การค้าทั่วโลกวุ่นวาย 3.ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์หรือสงครามที่แท้จริง ซึ่งก่อนทรัมป์รับตำแหน่งสงครามอาจร้อนแรงขึ้น ทั้งความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน,ภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงจีนและไต้หวัน
ขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นปี 2568 สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) คาดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2568 ระดับ 1,614 จุด จากสิ้นปีนี้คาด 1,494 จุด จากปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยโตดีกว่าปีนี้ และทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ดีขึ้น รวมถึงการลงทุนที่มีแนวโน้มย้ายเข้าไทยมากขึ้น
ส่วนแนวโน้มฟันด์โฟลว์ต่างชาตินั้น มองว่าปัจจุบันสภาพคล่องโลกมีค่อนข้างมาก สุดท้ายต้องหาแหล่งลงทุน ซึ่งเชื่อว่าหลังประกาศตัวเลขเศรษฐกิจออกมาความเชื่อมั่นผู้ลงทุนจะกลับมา รวมถึงกระแสด้าน ESG ช่วยการลงทุนเพิ่มขึ้น