ธปท.-ปปง.สั่งแบงก์ ’ยกการ์ด ’ ป้องโยง ‘ฟอกเงิน-ก่อการร้าย-อาวุธสงคราม‘

ธปท.-ปปง.สั่งแบงก์ ’ยกการ์ด ’ ป้องโยง ‘ฟอกเงิน-ก่อการร้าย-อาวุธสงคราม‘

ปปง. ผนึกธปท. สั่งยกระดับแบงก์ในการติดตาม ป้องกันธุรกรรมของสถาบันการเงินโยง ฟอกเงิน ก่อการร้าย การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยสั่งแบงก์ จัดทำมาตรฐานของระบบสถาบันการเงิน เพื่อป้องเกาะจับธุรกรรมเสี่ยงสูง เพื่อบังคับใช้ตั้งแต่ม.ค.68เป็นต้นไป

หนึ่งเหตุการณ์ เมื่อกลางปี 2567 ที่ผ่านมา ที่สร้างความแตกตื่นกันทั่วหน้า หลังมีกระแสข่าวเกี่ยวโยงกับ "แบงก์ไทย" ว่า อาจมีการใช้ระบบของธนาคารไทยในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการทำสงคราม การซื้ออาวุธ ที่เกี่ยวโยงกับการทำสงครามในรัฐบาลทหารเมียนมา

จึงนำมาสู่การประชุมเข้มระหว่าง คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เรียกตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สมาคมธนาคารไทย, ธนาคารไทย 5 ธนาคาร, กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือและตอบข้อซักถาม กรณีเกี่ยวกับรายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ซึ่งระบุว่ามีการใช้ระบบธนาคารไทยในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการทำสงครามโดยรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งในปีล่าสุดมีมูลค่าการทำธุรกรรมสูงถึง 120 ล้านเหรียญสหรัฐ 

ล่าสุด สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงที่ภาคธนาคารจะทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรในระดับนานาชาติ อันรวมถึงการคว่ำบาตรเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

 

ในปีที่ผ่านมา ประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยบางแห่งถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงตามแถลงการณ์ของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force : FATF)

สำนักงาน ปปง. จึงประกาศให้ประเทศดังกล่าวเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มาจากพื้นที่หรือประเทศดังกล่าวในระดับเข้มข้นทันที และได้ออกแนวทางซักซ้อมความเข้าใจ

เช่น ให้สถาบันการเงินใช้มาตรการที่เข้มข้นในการพิสูจน์ทราบผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้า (Ultimate Beneficial Owner : UBO) โดยใช้เอกสาร ข้อมูล หรือข่าวสารจากแหล่งอื่นที่น่าเชื่อถือนอกเหนือจากการขอข้อมูลจากลูกค้า และกำหนดให้สถาบันการเงินขอทราบวัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรมจากลูกค้า เพื่อพิจารณาว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวกับลูกค้าหรือไม่ เป็นต้น 

ที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. และ ธปท. ร่วมกันตรวจสอบและติดตามการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาอย่างต่อเนื่อง

โดยพบว่า สถาบันการเงินในไทยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (AML/CTPF) ที่สำนักงาน ปปง. กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

โดยไม่มีการทำธุรกรรมกับบุคคลที่มีชื่อปรากฏตาม Thailand list และ UN sanction list อีกทั้งพบว่า สถาบันการเงินหลายแห่งมีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เข้มงวดกว่าที่กฎเกณฑ์ของสำนักงาน ปปง. กำหนดไว้

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่รุนแรงขึ้นทำให้สถาบันการเงินจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นช่องทางสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประกอบกับกรณีที่มีรายงานจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ว่าสถาบันการเงินในไทยบางแห่งให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมาในปี 2566

ซึ่งถูกนำไปใช้ทำร้ายประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมานั้น สำนักงาน ปปง. และ ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยสั่งการให้สถาบันการเงินทุกแห่งทบทวนการทำธุรกรรมและเพิ่มความระมัดระวังในทันที

โดยได้ร่วมกันเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในรายงานดังกล่าว รวมถึงตรวจสอบนโยบายและการปฏิบัติงานของสถาบันการเงินในด้านการสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินตัวแทน (Correspondent Bank) การเปิดบัญชี และการทำธุรกรรมรับและโอนเงินกับลูกค้า

ซึ่งพบว่ามีสถาบันการเงินบางแห่งทำธุรกรรมกับบุคคลที่มีชื่อปรากฏในรายงานของ OHCHR จริง แต่ไม่พบหลักฐานที่เชื่อมโยงว่าเป็นธุรกรรมเพื่อการจัดซื้ออาวุธ และการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ปปง. และ ธปท. กำหนด 

อย่างไรก็ดี พบว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีการปฏิบัติงานที่เข้มงวดแตกต่างกัน จึงเห็นความจำเป็นที่ต้องยกระดับการปฏิบัติที่สำคัญด้าน AML/CTPF เพื่อให้สถาบันการเงินรับมือกับความเสี่ยงที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการส่งผ่านเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แฝงมาในรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทันมากขึ้น

ในการนี้ สำนักงาน ปปง. และ ธปท. จึงขอเน้นย้ำว่า ภาคการเงินไทยไม่สนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินที่สนับสนุนการฟอกเงิน การก่อการร้าย การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงการทำสงคราม ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการและมีแผนงานที่ต้องทำต่อเนื่อง ดังนี้

1. เร่งยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของสถาบันการเงินในไทยให้เท่าทันกับสถานการณ์และมาตรฐานสากลที่ปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง ได้แก่ (1) การเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นในการพิสูจน์ทราบ UBO เพื่อให้สามารถติดตามและป้องกันการใช้โครงสร้างธุรกิจที่ซับซ้อนในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย

โดยการตรวจสอบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องเข้มข้นกว่าลูกค้าทั่วไปอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับเกณฑ์ของ FATF เช่น การกำหนดนิยาม UBO ให้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่ถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 25 เป็นต้น

(2) การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงในระดับเข้มข้น (Enhanced Customer Due Diligence : EDD) โดยต้องมีหลักฐานว่ามีการหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมที่ชัดเจน เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับลูกค้า และมีกลไกจับสัญญาณเตือนภัยจากการทำธุรกรรมที่ผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และ (3) กำหนดเกณฑ์การเรียกเอกสารหลักฐานประกอบการทำธุรกรรมโอนเงินหรือรับโอนเงินเพิ่มเติมในกรณีลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) เพื่อให้ทราบวัตถุประสงค์การทำธุรกิจของลูกค้า ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินถูกใช้เป็นช่องทางสนับสนุนการฟอกเงิน การก่อการร้าย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

2. สำนักงาน ปปง. และ ธปท. ได้ออกนโยบายร่วม เรื่อง การดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการควํ่าบาตร เพื่อเน้นย้ำและผลักดันให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญและยกระดับการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตร

โดยต้องมีวิธีการและระบบประเมิน ติดตาม ตรวจจับความเสี่ยง และแจ้งเตือนหากพบความผิดปกติในการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการควํ่าบาตร

รวมทั้งกำหนดระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น (Risk Proportionality) และพิจารณาดำเนินการบริหารความเสี่ยงดังกล่าวอย่างเหมาะสม อันจะส่งเสริมให้ระบบการเงินไทยมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น โดยสถาบันการเงินจะต้องถือปฏิบัติตามนโยบายร่วมดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป 

3. กำหนดให้สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารในกลุ่มสมาชิก จัดทำมาตรฐานของระบบสถาบันการเงิน (Industry Standard) 

ในประเด็นที่สำนักงาน ปปง. และ ธปท. เล็งเห็นว่าต้องยกระดับการปฏิบัติงานข้างต้น รวมถึงจัดให้มีการพัฒนาระบบและเครื่องมือการตรวจสอบ DUI และรายการสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกนำไปใช้เพื่อผลิตอาวุธที่คุกคามความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศ (Common High Priority List : CHPL) อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะนำออกใช้ภายในเดือนมกราคม 2568 เป็นต้นไป 

ซึ่งการกำหนดวิธีปฏิบัติให้เข้มข้นขึ้นเป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ จะปิดช่องโหว่ไม่ให้เกิดการเลือกทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินที่มีมาตรฐานแตกต่างกันได้ 

ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. และ ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและตรวจสอบการปฏิบัติตามแนวทางที่ได้ยกระดับดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

โดยมุ่งหวังว่าสถาบันการเงินจะระมัดระวังในการทำธุรกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงิน และหากพบว่าสถาบันการเงินกระทำผิดหรือละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด สำนักงาน ปปง. และ ธปท. จะดำเนินการอย่างเข้มงวดตามอำนาจหน้าที่ต่อไป