‘ขัตติยา’ เปิดภาพธุรกิจแบงก์ปี68 เผชิญ ‘ความท้าทาย-ปัจจัยเสี่ยง’เพียบ

‘ขัตติยา’  เปิดภาพธุรกิจแบงก์ปี68 เผชิญ ‘ความท้าทาย-ปัจจัยเสี่ยง’เพียบ

ขัตติยา’มอง ธุรกิจแบงก์ปี68 เผชิญ‘ความท้าทาย-ปัจจัยเสี่ยง’เพียบ มุ่งรักษาคุณภาพหนี้ พร้อมตั้งเป้ายกระดับแบงก์สร้างผลงาน ลดต้นทุน ควบคู่เพิ่ม ROE เกิน2หลัก

ธุรกิจธนาคาร” ในปี 2568 ธุรกิจแบงก์ก็ยังคงเผชิญความท้าทายมาต่อเนื่อง ภายใต้โจทย์ ในการบริหารคุณภาพหนี้ การรักษาระดับกำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น รวมไปถึงโจทย์จากการปรับตัวแบงก์ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมของผู้บริโภค และให้เท่าทันกับมิจฉาชีพ

ล่าสุดมีโอกาสให้พูดคุยกับ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่จะฉายภาพให้เห็นถึง ความเสี่ยง ความท้าทายของธุรกิจแบงก์ในปี 2568 ว่ามีด้านใดบ้างที่แบงก์มองเป็นความท้าทาย และต้องระมัดระวังมากขึ้น

 

เริ่มต้น “ขัตติยา” ฉายภาพให้เห็นถึง  “ความท้าทาย” สำหรับ เศรษฐกิจไทย และการดำเนินธุรกิจของธนาคารปีนี้ มีหลายปัจจัยท้าทายมากขึ้น

 ทั้งจากเศรษฐกิจไทยโลกเก่า ที่เป็น Old Economy และ New Economy เศรษฐกิจยุคใหม่ และการเผชิญหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยปีนี้เต็มไปด้วยความระมัดระวัง

ปัจจัยข้างนอกยิ่งท้าทายมากขึ้น กว่าทั้ง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังคงมีต่อเนื่อง นโยบายของทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะการมีแนวคิดในการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติม เหล่านี้เป็นความท้าทายทั้งต่อลูกค้าของธนาคารและล้วนส่งผลต่อธนาคารเช่นเดียวกัน

สำหรับ เป้าหมายการดำเนินธุรกิจของ “ธนาคาร” ปี 2568 ธนาคารอยู่ระหว่างเสนอเข้าคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) พิจารณาในสิ้นเดือนนี้ โดยได้มีการ Take into Account ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโตต่ำ ปัญหาจากทรัมป์ 2.0 รวมถึง ปัญหาด้านคุณภาพหนี้ ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงไปแล้ว

ดังนั้น ปีนี้คงจะเห็นแต่ละธนาคารที่ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และหันมาเน้นลูกค้าที่เป็นลูกค้าเดิมเป็นหลักที่ราว 80% จากลูกค้าที่เข้ามาทั้งหมด ไม่ใช่คนที่เพิ่งเปิดบัญชีใหม่ 2-3 เดือนหรือไม่ถึง 1 ปี แต่การปล่อยสินเชื่อในระยะข้างหน้า ธนาคารอาจต้องดูดาต้า ที่ลูกค้าอยู่กับธนาคารค่อนข้างนานขึ้น เพราะข้อมูลที่ธนาคารกสิกรไทยมีในอดีต อาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ หลีกเลี่ยงการสร้างข้อมูลเท็จขึ้นมาได้  

แต่ก็ยังมีกลุ่มที่ธนาคารไปได้คือ ธุรกิจรายใหญ่ ที่ฐานะมั่นคง รวมไปถึงการเร่งสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการโอนเงินระหว่างประเทศ จากธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ เวลธ์ เป็นต้น เหล่านี้เหมือนน้ำซึมบ่อทรายที่รายได้เข้ามาเรื่อยๆ หากทำได้ดีรายได้ก็จะเข้ามามากขึ้น

ในมุมของคุณภาพหนี้ มองว่า ปีนี้น่าจะทรงตัว จากการตั้งรับของธนาคารมาก่อนหน้า ที่จาก “หดมือ” จากการการทดลองปล่อยกู้ คนตัวเล็ก กลุ่มที่เข้าไม่ถึงทางการเงินเพียงพอ ผ่าน “ชาเลนเจอร์แบงก์” ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารเห็นความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จึงต้องเบรกการปล่อยสินเชื่อไปก่อน ขอกลับไปสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงก่อน ถึงจะกลับมาลุยปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อีกครั้ง สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยง

“เรามองว่าคุณภาพหนี้ มีทิศทางดีขึ้น เพราะหนี้ที่เสีย ก็เสียไปหมดแล้วก่อนหน้านี้ และเราก็ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อแบบเดิม การปล่อยสินเชื่อปีนี้เรามุ่งไปสู่ลูกค้าเก่าเป็นหลักราว 80% และกลุ่มที่แข็งแรง ทำให้พอร์ตที่ปล่อยกู้วันนี้ เห็นพอร์ตรายใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 39% จาก 30% เอสเอ็มอี 27% และรายย่อยลดลงเหลือ 28% จาก 33% ก็เห็นชัดเจนว่าเราก็หดมือ โดยเฉพาะรายย่อย” 

การมองภาพคุณภาพหนี้ หรือ “เอ็นพีแอล” ในปีนี้ คาดจะลดลง มองว่า ส่วนสำคัญการที่แบงก์ระมัดระวังมากขึ้น และการที่ธนาคารมีการบริหารจัดการหนี้เสียได้มีคุณภาพ ผ่านบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์หรือ JVAMC รายใหญ่ทั้งสองแห่งอยู่ในมือ ทั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ JKAMC และบริษัท บริหารสินทรัพย์อรุณ ทำให้มีการบริหารหนี้ทั้งมีหลักประกันและหนี้ไม่มีหลักประกันได้อย่างมีคุณภาพ  

“ขัตติยา” กล่าวปิดท้ายว่า ในมุมของธุรกิจธนาคาร หลายคนมองว่า “มีกำไรค่อนข้างมาก” หากพูดถึงตัวเลขใช่ เฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาท แต่หากเทียบกับแบงก์ทั่วโลกแบงก์ไทยยังผลประกอบการแย่ ทั้งดูกจากอัตราส่วน (Ratio) อัตราผลตอบแทนจากผู้ถือหุ้น (ROE) ของไทย ที่เฉลี่ยเพียง 8-9 บาท ขณะที่ประเทศอื่นๆ สูง 15-20% เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ หรือต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ (Credit Cost) ที่พบแบงก์ไทยแย่ที่สุด เนื่องจากคุณภาพหนี้ของไทยแย่มาก ทั้งตัวเลขหนี้เสีย และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษหรือ SM ที่ยังมีส่วนที่แบงก์ต้องแบกรับและบริหารความเสี่ยงต่อเนื่อง 

ดังนั้น เป้าหมายธนาคาร คือการยกระดับผลการดำเนินงานในภาพรวมให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการลดต้นทุน Credit Cost ได้อยู่ในระดับปกติ หรือระดับที่เป็น Normalization ที่ 140-160 bps จากเป้าปี 67 ที่  175-195 bps จาก 9เดือน ปี67 190 bps รวมไปถึง การตั้งเป้าเพิ่ม ROE ในปี 26 เป็น double digit จากปัจจุบันที่หลักเดียว เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้มากขึ้น