โบรกชี้ก.ล.ต.งัด6เกณฑ์ ‘บัญชีมาร์จิน’ หวังสกัดธุรกรรมนอกตลาด ดีต่อภาพรวม

โบรกชี้ก.ล.ต.งัด6เกณฑ์ ‘บัญชีมาร์จิน’  หวังสกัดธุรกรรมนอกตลาด ดีต่อภาพรวม

หลังจากเอฟเฟกต์ “หุ้น MORE” ป่วนตลาด ตามมาด้วยกลยุทธ์ “ผู้นำบัญชีมาร์จิน” ทำให้ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ต้องต้านทานรับขาดทุนจากการปล่อยกู้มาร์จินจนมาเกือบสุดทาง และยกเลิกบริการบัญชีมาร์จินไปเมื่อปลายปีก่อน 

รวมถึงการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น WARRIX จำนำหุ้นนอกตลาด และข่าวร้าย ปลายปีที่ผ่าน หุ้นค้ำมาร์จินถูกบังคับขาย SCM-ตามรอย YGG หรือแม้แต่เคสใหญ่ คดี “หมอบุญ” ที่เป็นการออกใบหุ้นนอกตลาด กระทำในนามส่วนตัว ไม่พบความเชื่อมโยงกับบริษัท THG

นำมาสู่เปิดศักราชต้นปี 2568 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รื้อเกณฑ์ปล่อยมาร์จิน ถึง 6 มาตรการ ป้องกันธุรกรรมนอกตลาดและผิดกฎหมาย     

โบรกชี้ก.ล.ต.งัด6เกณฑ์ ‘บัญชีมาร์จิน’  หวังสกัดธุรกรรมนอกตลาด ดีต่อภาพรวม

โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (margin loan) จนถึง 4 ก.พ. 2568 เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คำนึงถึงความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จินและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์/หนี้เสีย และลดผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม

ปัจจุบัน บล. ให้บริการ margin loan แก่ผู้ลงทุน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นการลงทุน ที่ผ่านมา  ก.ล.ต. พบกรณีราคาหุ้นร่วงหนักกระทบมูลค่าหลักประกัน ต้องบังคับขายหลักประกันอาจไม่เพียงพอจนเกิดความเสียหาย บางโบรกยังหละหลวมปล่อย margin loan สูงกว่าฐานะการเงิน และกระจุกตัวในลูกค้าและหลักประกัน

นอกจากนี้ การบังคับขายหลักประกันที่เป็นหน่วยลงทุนอาจส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลดลง จนอาจนำไปสู่การไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่นๆ ตามมา และอาจมีความเสี่ยงทางกฎหมายจากการบังคับขายทอดตลาดที่ไม่ถูกต้อง

รวมทั้งการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะอาจเข้าข่ายเป็นการปล่อยกู้ให้บุคคลกลุ่มเดียวกันโดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธุรกรรม margin loan 

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มความรัดกุมในการบริหารความเสี่ยงของ บล. มีสาระสำคัญ ดังนี้ 

1.ปรับปรุงอัตรามาร์จินเริ่มต้น (Initial Margin: IM) ของหุ้นบจ.ที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO) เพื่อลดความเสี่ยงที่หลักประกันจะไม่เพียงพอชำระหนี้

2.ปรับปรุงหลักเกณฑ์ปล่อยกู้ให้สอดคล้องกับฐานะบล. ในเรื่องยอดหนี้คงค้างจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทุกรายรวมกัน และแก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งให้รัดกุมยิ่งขึ้น

3.กำหนดสัดส่วนการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันของลูกค้าแต่ละราย เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ต้องไม่เกินกว่าระดับที่กำหนด และให้ บล.ติดตามพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้าเพื่อป้องกันการซื้อขายไม่เหมาะสม

4.กำหนดให้บล.คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) ของลูกค้าอย่างเหมาะสมทั้งการเรียกให้ลูกค้านําเงินหรือทรัพย์สินมาวางเป็นประกันเพิ่ม (call) และการบังคับชําระหนี้ (force) margin loan

5.ยกเลิกหน่วยลงทุนจากการเป็นหลักทรัพย์ที่ให้กู้ยืมเพื่อซื้อในบัญชีมาร์จิน (marginable securities) และการเป็นหลักประกันในธุรกรรม margin loan และธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL)

6. กำหนดให้บล.มีมาตรการดูแลเพื่อให้กู้ยืมเงินผ่านบัญชีมาร์จินเป็นไปเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริง

ฝั่งธุรกิจบล. ต่างมองหากพิจารณาหลักเกณฑ์โดยรวม ถือเป็นการป้องกันการปล่อย margin loan ที่ผิดวัตถุประสงค์ หรือ เอาไปใช้ทำราคาหุ้น ถือเป็น“เรื่องที่ดีต่อตลาดหุ้นไทยในภาพรวม”  

“มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นสาระสำคัญ อยู่ใน 2 ข้อ คือ ข้อ 1 ปรับปรุงอัตรามาร์จินเริ่มต้นมองว่า อาจจะทำให้ หุ้น IPO อาจซื้อขายน้อยลง และข้อ 6.กำหนดให้ บล. มีมาตรการดูแลเพื่อให้การกู้ยืมเงินผ่านบัญชีมาร์จินเป็นไปเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงหรือสาระที่แท้จริงของธุรกรรมดังกล่าว มองเป็นเรื่องที่ดีต่อตลาด เนื่องจากการปล่อยกู้ที่ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ราคาหุ้น หรือการเคลื่อนไหวผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง เป็นหนึ่งของมาตรการควบคุมที่ตลท. และ กลต. เริ่มทำมาตั้งแต่ปีก่อน