’นักเศรษฐศาสตร์’ ปรับมุมมอง รับ’เอฟเฟกต์‘ กนง. ‘คงดอกเบี้ยยาว‘

’นักเศรษฐศาสตร์’ ปรับมุมมอง รับ’เอฟเฟกต์‘ กนง. ‘คงดอกเบี้ยยาว‘

‘นักเศรษฐศาสตร์’ปรับมุมมอง รับ‘เอฟเฟกต์’กนง.‘คงดอกเบี้ยยาว’ ชี้กนง.อาจลดดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาด คาดเห็นครั้งแรกเดือนเม.ย.หรือ ครึ่งปีหลังแทน จากเดิม คาดลดดอกเบี้ยครั้งเดือนก.พ.

’นักเศรษฐศาสตร์’ ปรับมุมมอง รับ’เอฟเฟกต์‘ กนง. ‘คงดอกเบี้ยยาว‘ เมื่องาน Monetary Policy Forum 4/2567 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ปี 2568 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการสื่อสารชัดเจนว่า ดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นระดับที่เป็นกลาง สอดคล้องการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมองว่า นโยบายการเงินปัจจุบันเหมาะสมกับบริบทที่ความไม่แน่นอนสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดสถานการณ์จำลองเหตุการณ์ (ซินาริโอ) ต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง การลดดอกเบี้ยอาจมีผลบวกจำกัด แต่หากมีการปรับลดดอกเบี้ยภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ที่ยังไม่มีความเสี่ยงจากนโยบายทรัมป์ หรือจะเกิดช็อคในครึ่งปีแรก 2568 อาจเป็นการสร้างต้นทุน หรือ Costs และอาจสูญเสียขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินไป (Policy Space) ไปได้ 

เหล่านี้นำมาสู่ การประเมินภาพการดำเนินนโยบายการเงินใหม่ ของ “นักเศรษฐศาสตร์” ที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับดอกเบี้ย

จากเดิมคาดการณ์ลดดอกเบี้ยได้ในก.พ. หรือครึ่งปีแรก มาเป็น อาจเป็นการลดดอกเบี้ยได้ในครึ่งปีหลัง หรือไม่ลดดอกเบี้ยตลอดปีนี้ได้

มองกนง. ยังไม่ปิดประตู ลดดอกเบี้ย แต่ลดช้าลง 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จากการสื่อสารของกนง. ล่าสุด ที่ส่งสัญญาณล่าสุดในการรักษา Policy Space ไว้ ทำให้ภาพในการมอง “อัตราดอกเบี้ยนโบบาย” เปลี่ยนไป  โดยเฉพาะคาดว่ากนง. อาจไม่ได้เป็นการลดดอกเบี้ยเหมือนที่คาดไว้ตามเดิม เมื่อก.พ.2568 

ภาพดังกล่าว ไม่ได้เป็นการ “ปิดประตู” การ “ลดดอกเบี้ย” ของกนง. แต่มองว่า จะเห็นการกลับมา ทบทวนในการ “ลดดอกเบี้ย” ได้อีกครั้งในช่วงเม.ย. เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมองว่ายังมีโอกาสเห็นดอกเบี้ยลดลงไปถึงระดับ 1.50% จาก 2.25% ในปัจจุบันได้ จากความเสี่ยงของเศรฐษกิจขาลงในครึ่งปีหลังแล้ว ยังเป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อปรับสมดุลให้สอดรับกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วย

อาจเห็นกนง.ลดดอกเบี้ยลงเหลือ1ครั้ง

นายนริศ สถาผลเดชา  ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า จากการสื่อสารของกนง. ทำให้ประเมินว่า โอกาสที่จะเห็นกนง. ลดดอกเบี้ยในครึ่งปีแรก อาจเห็นยากขึ้น จากเดิมที่มองว่าอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 1-2ครั้ง ในครึ่งแรก ดังนั้นมองว่า การลดดอกเบี้ยของกนง. อาจเห็นได้เพียง 1ครั้งเท่านั้น ในปีนี้ โดยเฉพาะในไตรมาส 2 เป็นต้นไป หลังสถานการณ์ต่างๆชัดเจนมากขึ้น

“การสื่อสารกนง.ครั้งนี้ ชัดเจนว่าเก็บกระสุนให้รอสถานการณ์ว่าจะออกหัวออกก้อย ดังนั้นการประชุมครั้งแรกไม่ลดแน่นอน และเดิมที่มองว่ากนง.อาจลดดอกเบี้ยได้ 2ครั้งอาจเห็นยากขึ้น อาจเห็นได้แค่ครั้งเดียว ยกเว้นเศรษฐกิจ หรือภาพเปลี่ยนไปมาก”

ลดดอกเบี้ยครั้งเดียว ให้เหมาะกับศักยภาพ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารคงมีการปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบาย หลังกนง. มีการสื่อสารชัดเจนว่าการลดดอกเบี้ยต้องรอสถานการณ์และผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ให้ชัดเจนก่อน ดังนั้น คาดกนง.จะกลับมาทบทวนการลดดอกเบี้ยอีกครั้งในครึ่งปีหลัง จากเดิมที่มองว่า กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 2 ปีนี้

โดยมองการลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง อาจไม่ช้าเกินไป เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาฟื้นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะครึ่งปีแรก

“การลดดอกเบี้ย ไม่ได้ลดจาก ดอกเบี้ยขาลง แต่ปรับเพื่อให้เหมาะกับเศรษฐกิจไทยคนใหม่ จากเดิมเราเป็นนักวิ่ง มาเป็นนักคลาน ดังนั้นเราอาจมีการปรับมุมมองการลดดอกเบี้ย จากเดิมที่มองว่ามีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 2 มาเป็นครึ่งปีหลังแทน"

อาจไม่เห็นกนง. ลดดอกเบี้ยทั้งปี

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Head of Global Investment Strategy บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการลดดอกเบี้ยข้างหน้าอาจมาจาก ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้นทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยลดลงมากๆ แต่ภาพเหล่านี้มองว่า อาจต้องรอให้สถานการณ์ หรือความเสี่ยงต่างๆ ชัดเจนก่อน ถึงจะลดดอกเบี้ยได้ เพราะขีดความสามารถในการลดดอกเบี้ยกนง. มีจำกัด 

ดังนั้น ประเมินว่า หากเห็นกนง. ลดดอกเบี้ยอาจเห็น ในช่วงครึ่งปีหลัง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยลงเลยในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่า จะลดดอกเบี้ยลงมาได้ ในครึ่งปีหลังไปแล้ว

“เรากลัวอย่างเดียวคือ เมื่ออุตสาหกรรมไม่ดี แล้วต้องปลดคนงาน เศรษฐกิจไม่ดี เหล่านี้ก็อาจนำไปสู่การลดดอกเบี้ยของกนง.ได้ จากเดิมที่เรามองว่า จะเห็นกนง.ลดดอกเบี้ยได้ หลังเฟดลดดอกเบี้ยไปแล้ว ตอนนี้โอกาสลดดอกเบี้ยเร็ว ยากมาก”