ค่าเงินบาทวันนี้ 14 ม.ค.68 ‘แข็งค่าขึ้น‘ ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD
ค่าเงินบาทวันนี้ 14 ม.ค. 68 เปิดตลาด “แข็งค่า“ขึ้น ที่ 34.69 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตลาดทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ออกมาบ้าง เงินบาทอาจแกว่งSideways ตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันพุธนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.65-34.80 บาทต่อดอลลาร์
ค่าเงินบาทวันนี้ 14 ม.ค. 68 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.85 บาทต่อดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 34.66-34.82 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ออกมาบ้าง
อีกทั้ง ในส่วนของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็รีบาวด์ขึ้นบ้าง จากที่อ่อนค่าลงหนักในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็ลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลงบ้าง หนุนให้ทั้งสองสกุลเงินสามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง หลังเงินบาทอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้าน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงคืนที่ผ่านมา ตามความกังวลแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ซึ่งหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.80%
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงิบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันพุธนี้ ตามเวลาประเทศไทย โดยเงินบาทอาจยังติดโซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับก็ยังอยู่แถว 34.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้
อย่างไรก็ดี เรามองว่า แม้ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ทว่า รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ที่จะรายงานในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ก็อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เร่งตัวสูงขึ้นและออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดจับตาใกล้ชิดนั้น เสี่ยงจะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน (และตลาดอาจยิ่งกังวลมากขึ้น หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันพุธนี้ ปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด) ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจยิ่งชะลอการลดดอกเบี้ย จนเป็นไปได้ว่าในปีนี้ เฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง หรือไม่ลดดอกเบี้ยเลย โดยภาพดังกล่าวอาจหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ นอกจากนี้ จากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวน +/-0.15% ในช่วง 30 นาที หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI
อนึ่ง ในช่วงระหว่างวันนี้ เราประเมินว่า ทิศทางฟันด์โฟลว์ ของนักลงทุนต่างชาติก็อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินบาทได้เช่นกัน โดยหากนักลงทุนต่างชาติกลับมามีความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยมากขึ้น หลังจากงาน Dinner Talk “Chat with Tony: Bull Rally of Thai Capital Market” ก็อาจช่วยหนุนเงินบาทได้บ้าง ลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท ที่อาจมาจากโฟลว์ธุรกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง หรือ โฟลว์ซื้อน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระยะนี้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ย ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กดดันบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Nvidia -2.0%, Meta -1.2% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน Exxon Mobil +2.6% หลัง ราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ และกลุ่มการเงิน JPM +1.8% ที่รอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.16%
ทางฝั่ง ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลง -0.55% กดดันแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ หุ้นสไตล์ Growth รวมถึงหุ้นกลุ่มอ่อนไหวต่อแนวโน้มดอกเบี้ย ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มมองว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 4 ครั้ง หรือ 100bps ในปีนี้ ทว่าตลาดหุ้นยุโรปก็พอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกับฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.80% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นบ้าง อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินก็อยู่ในภาวะระมัดระวังตัว นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองบอนด์ที่ชัดเจนต่อไป
ทางด้าน ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD และการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของสกุลเงินหลักฝั่งยุโรป ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ย่อตัวลงสู่โซน 109.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 109.3-110.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะย่อตัวลงบ้าง ทว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และแรงขายทำกำไรทองคำ หลังราคา (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ได้ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้นแถว 2,700-2,710 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง สู่โซน 2,685 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนธันวาคม ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดจับตาใกล้ชิด พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ เพียง 18%
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของเยอมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมกราคม พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และเจ้าหน้าที่ BOE เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของทั้งสองธนาคารกลางหลัก ดังกล่าว โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า ECB มีโอกาส 81% ที่จะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง หรือ 100bps ในปีนี้ ส่วน BOE ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสราว 65% ที่ BOE จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง หรือ 100bps ในปีนี้