ถอดบทเรียนทิศทาง 100 วันแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 1.0 กับแนวโน้มตลาดการเงินในช่วงต้นปี 2568

ถอดบทเรียนทิศทาง 100 วันแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 1.0 กับแนวโน้มตลาดการเงินในช่วงต้นปี 2568

การบริหารงานทรัมป์ 2.0 ในช่วง 100 วันแรก คาดว่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับในช่วงสมัยแรก ที่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องภายในประเทศ โดยเฉพาะการแก้กฎหมายต่าง ๆ ในยุคสมัยโจ ไบเดน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเลิกข้อจำกัดในการผลิตน้ำมันภายในประเทศ และการออกจากสนธิสัญญา Paris Accord ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี

เข้าสู่ปี 2568 อย่างเป็นทางการ หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ คงหนีไม่พ้นการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม 2568 และถือเป็นจุดเริ่มต้น 100 วันแรกของการทำงานของทรัมป์ ในสมัยที่ 2 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีความสำคัญมาก นอกเหนือจากจะเป็นการประกาศจุดยืนของรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีจะสามารถผลักดันนโยบายสำคัญที่เคยหาเสียงไว้ เนื่องจากระดับ Approval Rating (อ้างอิงผลสำรวจของ Gallup หรือ Pew Research Center) ที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงสามารถช่วยผลักดันนโยบายให้ผ่านสภาฯ ได้ไม่ยาก แน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านจุดยืนของนโยบายจากรัฐบาลชุดเก่ามาสู่ชุดใหม่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และต่อเนื่องสู่แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การย้อนกลับไปดูอดีต โดยเฉพาะในช่วงเวลา 100 วันแรก ภายใต้การบริหารงานสมัยแรกของทรัมป์ ในปี 2560 ผ่านขั้นตอนการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ทางการเงินในช่วงเวลาดังกล่าว อาจช่วยให้เราสามารถเห็นภาพแนวโน้มนโยบายสหรัฐฯ (ทรัมป์ 2.0) และทิศทางตลาดการเงินโลกใน 100 วันข้างหน้านี้ได้ไม่มากก็น้อย

ทรัมป์ 2.0 มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับประเด็นภายในประเทศในช่วงแรก คล้ายกับยุคทรัมป์ 1.0 หลังเป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจจาก Democrat กลับมาเป็น Republican อีกครั้ง 

การบริหารงานของทรัมป์สมัยแรก (ทรัมป์ 1.0) แม้ว่าจะมี Approval Rate ที่ต่ำหากเทียบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอดีต แต่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนจากรัฐบาลชุดเก่าของบารัค โอบามาอย่างชัดเจน หลังมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจาก Democrat ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายรัฐสวัสดิการ และการสร้างความเท่าเทียมต่าง ๆ เป็นการบริหารงานที่มีจุดยืนเป็นชาตินิยมสูง (American First) ของ Republican โดยใน 100 วันแรกของทรัมป์ 1.0 นั้น นโยบายส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องภายในประเทศ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากนโยบายเหล่านี้ สามารถผ่านกฎหมายด้วยคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี (Executive Order) ซึ่งไม่ต้องผ่านสภาฯ สามารถมีผลบังคับใช้ได้เร็ว เช่น การผ่านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้อพยพ ยกเลิกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคโอบามา โดยเฉพาะการลดภาระจากระบบ Healthcare ตลอดจนการลดความสำคัญของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมลง ขณะที่ในระดับนานาชาติ มีการถอดตัวจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (TPP : Trans-Pacific Partnership) และการต่อต้านนักท่องเที่ยวบางประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีหลาย ๆ นโยบายที่ทรัมป์ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ เนื่องจากขาดเสียงสนับสนุน หรือมีความเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมาย

สำหรับการบริหารงานทรัมป์ 2.0 ในช่วง 100 วันแรก คาดว่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับในช่วงสมัยแรก ที่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องภายในประเทศ โดยเฉพาะการแก้กฎหมายต่าง ๆ ในยุคสมัยโจ ไบเดน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเลิกข้อจำกัดในการผลิตน้ำมันภายในประเทศ และการออกจากสนธิสัญญา Paris Accord ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี อีกหนึ่งเรื่องที่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้น คือ การเปลี่ยนจุด Hotspot ของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยคาดว่าจะมีความพยายามเจรจาเพื่อหาข้อสรุประหว่างรัสเซียและยูเครน แต่จะกลับไปเพ่งเล็งประเทศกลุ่มตะวันออกกลางแทน ขณะที่นโยบายอื่น ๆ อาจจำเป็นต้องใช้เวลา และอาจไม่ได้เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ เนื่องจากต้องผ่านการเห็นชอบจากทางสภาฯ ทั้งเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนเรื่องการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างไรก็ตาม การผลักดันนโยบายของทรัมป์ในรอบนี้ มีความท้าทายมากกว่าในรอบแรกอย่างมีนัย ทั้งจำนวนที่นั่งของพรรค Republican ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ ที่มีไม่มากเท่าครั้งก่อน และภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19

 

ในส่วนของมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ในสมัยแรก การขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเกิดขึ้นในอีก 1 ปีถัดไป (มีนาคม 2561) หลังจากที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรอผลการสอบสวนสินค้าที่นำเข้าจากจีน ภายใต้มาตรการ 301 และ 232 ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสัญญาทางการค้า และความเสี่ยงต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การผลักดันนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสินค้ารอบนี้ คาดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นเร็วกว่าครั้งก่อน และคาดว่าจะเริ่มจากจีนและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบายที่ทรัมป์และไบเดน มีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะกับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับจีน อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีนำเข้าคาดว่าเป็นการทยอยขึ้น และจะเริ่มเป็นบางกลุ่มสินค้า ขณะที่การขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

แนวโน้มการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ทางการเงินในช่วง 100 วันแรก อาจแตกต่างจากช่วงทรัมป์ 1.0 จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทิศทางนโยบายการเงินที่เปลี่ยนทิศ ตลอดจนการ Price-in ของตลาดบางส่วน

ในส่วนของผลตอบแทนตลาดการเงินในช่วงต้นปี 2560 นั้น แม้ว่าทางทรัมป์เองจะถูกตลาดรับรู้ว่าจะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินโลกที่สูง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าว หลายสินทรัพย์ทางการเงินมีผลตอบแทนที่เป็นบวก โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่าง Broad-Based ตามธีม “Trump Bump” ที่เป็นผลมาจากแนวนโยบายที่ทรัมป์ใช้หาเสียง และจุดยืนที่เป็นมิตรกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ในส่วนของตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ แม้ว่าทางทรัมป์จะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มแนวโน้มการขาดดุลทางการคลังแล้ว ยังคงเพิ่มการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าให้เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ กลับทยอยปรับลดลงในช่วง 100 วันแรก หลังบางส่วนอาจถูก Price-in ไปในช่วงก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่ง และอาจเป็นผลจากความลำบากในการผลักดันหลายนโยบายให้ผ่านมติของสภาฯ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่า หลังตลาดรับรู้ว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2016 อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวอ่อนค่าในช่วง 100 วันแรกของทรัมป์ ซึ่งสอดคล้องกับค่าเงินบาทในช่วงเวลาดังกล่าวที่มี เทรนด์แข็งค่า สำหรับรอบนี้ ในเบื้องต้น ตลาดการเงินโลกมีการตอบสนองผลดังกล่าว ผ่านธีมที่มีชื่อว่า “Trump Trade” กล่าวคือ ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ กลับมาปรับสูงขึ้น และเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าอย่างมีนัย อย่างไรก็ตาม ในรอบนี้มีหลายปัจจัยที่เปลี่ยนไปจากครั้งก่อน ซึ่งอาจทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดมีความซับซ้อนและยากที่จะคาดเดามากขึ้น ได้แก่

1. วัฏจักรดอกเบี้ยนโยบายที่เปลี่ยนจากตึงตัวเป็นผ่อนคลาย : ทิศทางการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์เสี่ยงโลก โดยเฉพาะในตลาดหุ้น แต่ทั้งนี้ ด้วยอัตราการลดดอกเบี้ยที่แตกต่างกันของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ผลลัพธ์ดังกล่าวอาจไม่ได้ชัดเจน

2. หนี้สาธารณะสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงหลังช่วงโควิด-19 : หลังวิกฤตโควิดที่ผ่านมา หนี้สาธารณะสหรัฐฯ มีการปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น การกลับมาของทรัมป์ในรอบนี้ อาจมีความท้าทายในการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ให้เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งหากการผลักดันไม่เป็นผลสำเร็จ อาจส่งผลต่อมุมมองความคาดหวังของนักลงทุน

3. การเติบโตของเศรษฐกิจจีนและยุโรปที่ยังเปราะบาง : การเติบโตของตลาดการเงินโลกอาจไม่ Broad-Based หากมองการเติบโตเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่เปราะบางทั้งจีนและยุโรปอยู่ในปัจจุบัน แตกต่างจากช่วงปี 2560 ที่เศรษฐกิจจีนเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและดีกว่าเป้าที่ทางการตั้งไว้ แม้ว่าจะมีแนวโน้มถูกกดดันจากสงครามการค้า และระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปเองโตได้ 2.4% สูงสุดในรอบ 10 ปี หลังฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป

4. บทบาทสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต : โดยเฉพาะตัว Crypto Currencies อย่าง Bitcoins ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทำ all time high ภายหลังทรัมป์ได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากมีหลายนโยบายที่สนับสนุนสินทรัพย์ดังกล่าว เช่น จัดตั้งทุนสำรอง Bitcoin แห่งชาติ ตลอดจนการปลดแกรี่ เจนส์เลอร์ ที่มีจุดยืนเข้มงวดกับอุตสาหกรรม Crypto ออกจากตำแหน่งประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC)