“เศรษฐพุฒิ” เตือน สกุลเงินดิจิทัล ไม่มีมูลค่ามั่นคง คลังลุยออก Stablecoin

“เศรษฐพุฒิ” เตือน สกุลเงินดิจิทัล ไม่มีมูลค่ามั่นคง คลังลุยออก  Stablecoin

‘เศรษฐพุฒิ’ ออกโรงเตือน สกุลเงินดิจิทัลผันผวน มูลค่าไม่มั่นคง ด้านคลังคาด stablecoin ออกแน่ปีนี้ ล็อตแรกหมื่นล้าน เฟสถัดไปจ่อใช้ซื้อสินค้าบริการต่อ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส สะท้อนถึงความลังเลของ ธปท.เกี่ยวกับโครงการสเตเบิลคอยน์ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน และเสนอให้ทำการทดลองใช้ในพื้นที่ท่องเที่ยวบนเกาะภูเก็ตก่อน

โดยผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า “สกุลเงินดิจิทัลไม่มีมูลค่าที่มั่นคง” เทคโนโลยีพื้นฐานก็ยังไม่สามารถสเกลปริมาณเพิ่มได้มากนัก และอาจนำไปสู่ปัญหาในระบบการชำระเงิน

พร้อมชี้ให้เห็นว่าแพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัล Promptpay ที่มีอยู่ของไทยทำงานได้ดี

ด้านรัฐบาลเดินหน้าออก Stablecoin โดยนำพันธบัตรรัฐบาลมา Back ในรูปแบบ “แซนด์บ็อกซ์” โดยมาจากแนวคิดที่รัฐบาลมีการออกพันธบัตรในแต่ละปีค่อนข้างมาก และพันธบัตรส่วนใหญ่อยู่ในมือสถาบัน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน “สัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.ปี 2568” ว่า รัฐบาลมีความคิดของรัฐบาลคือ ต้องการกระจายส่วนนี้ ไปอยู่ในรายย่อย หรือคนธรรมดาทั่วไปมากขึ้น

ซึ่งอนาคตการลงทุนอาจมีการกำหนดเป็น Token เช่น 1 Token มีค่าเป็น 1 บาทเป็นต้น เพื่อนำหน่วยลงทุนส่วนนี้กลับมาลงทุนได้

 

 

โดยเบื้องต้น สำหรับการออก Stablecoin ครั้งนี้ อาจออกมาก่อนในเฟสแรกจะเป็นการออกเป็นรูปแบบ “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน” (Investment Token) ประเดิมอยู่ที่หลักหมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถออก Stablecoin ได้ภายในปี 2568 

“เริ่มแรก เราอยากออกล็อตเล็กๆ ก่อน เอามาทดสอบก่อน เพื่อให้โอกาสนักลงทุนรายทั่วไปได้ลงทุน โดยการลงทุนนี้เป็นการใช้  Token มาแบล็ก เช่น หนึ่งบาท ต่อหนึ่ง Token โดยเราพยายามทำให้เร็วที่สุด”

ส่วนการออก Stablecoin เบื้องต้น จะออกผ่านแพลตฟอร์มของกระทรวงการคลัง ที่จะเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อนำไปเชื่อมกับระบบการซื้อขายต่างๆ ในอนาคต

ต่อยอดเฟสสองใช้ Stablecoin ซื้อสินค้า

นอกจากนี้ มองว่า การออก Stablecoin สามารถต่อยอดไปสู่เฟสที่ 2 ได้ในอนาคต หากมีดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยการเชื่อมไปสู่ร้านค้าในอนาคต เพื่อนำไปสู่การซื้อของต่างๆ ตามมาได้

“เรื่องนี้บางเรื่อง ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บางเรื่องที่สามารถทำได้ เราก็ส่งให้แค่รีวิว แต่อันไหนที่ต้องขอความเห็นชอบก็ต้องส่งให้ แต่ในส่วนการออก Stablecoin อยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงการคลังเอง ไม่ได้อยู่ภายใต้แบงก์ชาติ และเชื่อว่าไม่กระทบเงินบาทที่อยู่ในระบบ เพราะไม่ใช่เงินใหม่ แต่เป็นเม็ดเงินที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว”

สำหรับการออก พ.ร.ก. เพื่อให้อำนาจก.ล.ต. ในการสอบสวน เอาผิดผู้กระทำผิดในตลาดหลักทรัพย์นั้น ล่าสุด อยู่ระหว่างการนำเข้าเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 2 สัปดาห์บวกลบหลังจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น คาดว่ากระบวนการดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนก.พ. ปีนี้ และหลัง ครม. อนุมัติ จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อออกเป็นราชกิจจาฯ บังคับใช้ต่อไป

นอกจากนี้ ยังอยากเห็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) มีส่วนร่วม และบทบาทในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะมองว่า บล. มีจุดแข็งเป็นที่รู้จักกับผู้ลงทุนเป็นอย่างดี มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน และอยู่ภายใต้การกำกับจากสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยเกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น พร้อมอยากเห็นการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย

เร่งให้ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ก.ล.ต. เอาผิดผู้กระทำผิดในตลาด

โดยเบื้องต้น การให้อำนาจ ก.ล.ต. ครั้งนี้ เป็นการให้อำนาจในการสามารถสอบสวน เพื่อเอาผิดต่างๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น เพราะหากปล่อยไว้นานเกินไป อาจทำให้ผลกระทบ หรือความเสียหายมีมากขึ้น

ดังนั้นการให้อำนาจ ก.ล.ต.ครั้งนี้ เป็นการให้อำนาจในการดำเนินคดีอาญา ในการทำสำนวน และการดำเนินคดี และเร่งส่งฟ้องไปยังอัยการ เพื่อไปสู่การฟ้องศาลที่รวดเร็วมากขึ้น จากเดิมที่มีข้อจำกัดในการสอบสวน และเอาผิดต่างๆ ทั้งนี้มองว่า การให้อำนาจ ก.ล.ต.ครั้งนี้ จะทำให้สามารถเอาผิดผู้กระทบผิดได้รวดเร็วขึ้นมากกว่าเดิม 6-7 เดือนได้ 

ทั้งนี้ มองว่าพ.ร.ก. ให้อำนาจก.ล.ต.ครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับในตลาดทุน และนักลงทุนให้มีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น จากการสร้างขีดความสามารถในการกำกับที่ใกล้ชิด และรวดเร็วมากขึ้น

ขณะที่ เคสการเอาผิดจากกรณีต่างๆ ปัจจุบัน ก.ล.ต.อาจต้องมีการกำหนดว่า ความเสียหายระดับใด ทั้งคำนึงถึงจำนวนผู้เสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้น และปัจจัยอื่นๆ ที่ก.ล.ต. ต้องกำหนดร่วมกัน เพื่อสร้างเกณฑ์ดังกล่าว ในการใช้อำนาจในการเข้าไปสอบสวน และดำเนินการได้เร่งด่วนทันที 

หนุนไทยเป็น “ไฟแนนเชียลฮับ”

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ตลาดหุ้นไทยเวลานี้ มองว่า บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกคล้ายกัน โดยนักลงทุนอยู่ระหว่างการชะลอการลงทุนหรือ และเชื่อว่า สิ่งที่ภาครัฐ และหน่วยงานกำกับกำลังเร่งดำเนินการ ทั้งการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การเพิ่มกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต จะเป็นส่วนทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้ ซึ่งก็ยอมรับว่า ความเชื่อมั่นเมื่อหายไปแล้ว ก็ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์และกลับมาได้

นอกจากนี้มองว่า การผลักดันด้าน Finance Hub เป็นโอกาสของไทยดึงดูดบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุน แต่กระทรวงการคลัง มองความในบางจุดที่ต้องระมัดระวัง โดยช่วงแรกการให้สถาบันการเงินจากต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยจะเป็นการให้รับลูกค้าเฉพาะต่างชาติเท่านั้น

ซึ่งเป็นการทดลองในช่วงแรกก่อนที่จะขยายการรับลูกค้าในประเทศ ประกอบกับอยากเห็นบริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น รวมถึงมีความตั้งใจอยากจะดึงบริษัทของไทยที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทยมากขึ้น 

แต่การดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้ ก็มีหลายส่วนที่ต้องประกอบกัน ทั้งการมีสินค้าที่ดี มีโปรดักต์ที่ดี นโยบายที่ดี โครงสร้างการผลิตและบริการ และขีดความสามารถการแข่งขันที่ดี เหล่านี้ภาครัฐต้องทำให้เกิดขึ้น และภาคเอกชนต้องทำหน้าที่สานต่อนโยบายเหล่านี้ให้เกิดขึ้น

รวมไปถึง สิ่งที่อยากเห็นคือ อยากให้บริษัทหลักทรัพย์ให้บริการผ่าน Investment token โดยเฉพาะผู้ให้บริการต่างๆ ที่ให้บริการได้ โดยไม่จำเป็นที่ต้องเป็นบริษัทรายใหญ่ที่จะเข้ามาให้บริการ Investment token ซึ่งปัจจุบันยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่มองว่าหากเกิดขึ้นแล้วควรทำให้เกิดประโยชน์ต่อนักลงทุนมากขึ้น และยังนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ และสร้างมูลค่ากับเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าด้วย

มอง “ตลาดทุน” เป็นกลไกสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ ยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ต้องมองเห็นการไดเรกชัน ว่าจะไปทางไหน ไม่ใช่เฉพาะแผนยุทธศาสตร์แค่ 1 ปี แต่ต้องทำให้แผนยุทธศาสตร์มีการแอคชั่นได้ ดังนั้นในฐานะที่ตนสวมหมวก Policymakers ก็อยากเห็น Trust & Confidence ที่จะเป็นความสำคัญของทุกเรื่อง

โดยมองว่า ตลาดทุนจะต้องเป็นกลไกสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน เศรษฐกิจ และตลาดทุนจะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาครัฐต้องเป็นผู้นำทางในการเสริมสร้างศักยภาพ และโอกาสการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ โดยในส่วนของตลาดทุน สิ่งที่ภาครัฐเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญคือ Trust & Confidence โดยต้องมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น ลงโทษผู้กระทำผิดได้รวดเร็ว และจะเร่งขั้นตอนการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มอํานาจการสอบสวนของ ก.ล.ต. โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบสูง (high impact)

    รวมถึงการยกระดับในเรื่องต่างๆ ทั้งการเปิดเผยข้อมูล และการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน นอกจากนี้ ในด้านสินทรัพย์ดิจิทัล อยากจะเห็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมไปพร้อมกับการคุ้มครองผู้ลงทุน และเห็นว่าการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยทางภาครัฐ และภาคตลาดทุนจะร่วมมือกันพัฒนาตลาดทุน เพื่อนำไปสู่ตลาดทุนที่เข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้อำนาจ ก.ล.ต. ครั้งนี้มี 4-5 ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ หลักๆ คือ การให้อำนาจ ก.ล.ต.ในการเป็นพนักงานสอบสวน ซึ่งทำให้สำนวนหรือระยะเวลาดำเนินการกระชับมากขึ้น หรือหากบางเคสเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำงานร่วมกับ DSIได้

เช่นเดียวกับการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิด เช่น ชอร์ตเซล ที่จะมีการเร่งดำเนินการไปถึงผู้กระทำผิดที่จะต้องรับโทษทางกฎหมาย รวมถึงการยกระดับ Gatekeeper ที่ปัจจุบันมีข้อจำกัดเรื่องของดำเนินการ เช่น การเอาผิดกับสำนักงานสอบบัญชี, การเข้มงวดที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) 

“เศรษฐพุฒิ” ชี้สกุลเงินดิจิทัลไม่มีมูลค่ามั่นคง 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส สะท้อนถึงความลังเลของ ธปท.เกี่ยวกับโครงการสเตเบิลคอยน์ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน และเสนอให้ทำการทดลองใช้ในพื้นที่ท่องเที่ยวบนเกาะภูเก็ตก่อน โดยผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า “สกุลเงินดิจิทัลไม่มีมูลค่าที่มั่นคง” เทคโนโลยีพื้นฐานก็ยังไม่สามารถสเกลปริมาณเพิ่มได้มากนัก และอาจนำไปสู่ปัญหาในระบบการชำระเงิน

พร้อมชี้ให้เห็นว่าแพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัล Promptpay ที่มีอยู่ของไทยทำงานได้ดี

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์