‘อาทิตย์’ แนะเพิ่ม ‘เพดานหนี้สาธารณะ’ เกิน 70% ปลุกเศรษฐกิจไทยพ้น ‘วิกฤติ’

‘อาทิตย์’ แนะเพิ่ม ‘เพดานหนี้สาธารณะ’ เกิน 70% ปลุกเศรษฐกิจไทยพ้น ‘วิกฤติ’

“อาทิตย์” แนะรัฐบาล “ขยายเพดานหนี้สาธารณะ” เกิน 70% ชั่วคราว หวังกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั้ง “สั้น-กลาง-ยาว” ทางรอดแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ด้าน “สันติธาร” ชี้ไทยต้องแสวงหาโอกาสจาก “นโยบายสหรัฐ” เร่งหาเครื่องยนต์ใหม่ ฉวยจังหวะจาก “เทคโนโลยี เอไอ”

‘อาทิตย์’ แนะเพิ่ม ‘เพดานหนี้สาธารณะ’ เกิน 70% ปลุกเศรษฐกิจไทยพ้น ‘วิกฤติ’ ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 23 “โพสต์ทูเดย์” จัดงานสัมมนา THAILAND ECONOMIC DRIVES 2025  เชิญบุคคลสำคัญทั้งในภาคการเงิน การลงทุน ภาครัฐเพื่อถ่ายทอด และมองทิศทาง และการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2025 

โดยในภาคการเงิน “นายอาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX กล่าวในหัวข้อ เศรษฐกิจไทยความท้าทาย และโอกาส ในปี 2025 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ

ร่วมด้วย “นายสันติธาร เสถียรไทย” ที่ปรึกษาด้าน FUTURE ECONOMY สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ฉายภาพมุมมองในอนาคตเศรษฐกิจไทยกับ 4 เรื่องหักมุมของโลก (Twist) ที่อาจกลายเป็นโอกาสประเทศไทย

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ในมุมของคนที่อยู่ใน “ธุรกิจธนาคาร” หากดูภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ภาพที่เห็น คือ “ภาพลบ” หรือสถานการณ์น่าเป็นห่วง 

คนกว่า 60% มีรายจ่ายมากกว่ารายได้

สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมี “ความน่าห่วง” อย่างมาก วันนี้คนเกินกว่า 60% ของประเทศ มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ประเทศไทยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 แม้ออกจากโควิดแล้ว ประเทศไทยยังเติบโตช้าที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

โดยเฉพาะหากดูกว่า 80 ประเทศ ไทยอยู่ในอันดับที่ 72% ออกมาจากโควิดได้ช้า แปลว่าโครงสร้างในระบบของประเทศมีสุญญากาศ ทั้งจากหลายปัจจัย ทั้งจากสภาพการเมือง วิธีจัดการต่างๆ ทำให้ไทย “Recovery” ช้า 

ดังนั้น ความอ่อนแอที่มีอยู่แล้วก่อนโควิด พอยิ่งเจอหนี้ที่สร้างขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ “หนี้ครัวเรือน” ของประเทศขึ้นมาแตะที่ระดับ 90% เหล่านี้เป็น “แผลเป็น” ขนาดใหญ่ ที่จะหน่วงประเทศไทยไปอีกยาว

 

และการขยายตัวเศรษฐกิจภายใต้ 2-3% หลักๆ มาจากเศรษฐกิจด้านบนของสังคม ที่เป็นตัวนำพาประเทศ และดึงให้ตัวเลขโดยรวมไม่แย่เกินไป แต่ข้อเท็จจริงกว่า 60% ของสังคม หรือคนส่วนใหญ่ยัง “เดือดร้อน” อย่างมาก และยังมองไม่เห็น “แสงสว่าง” มากนัก

ดังนั้นอยากให้กำลังใจรัฐบาล ให้กำลังใจตัวเอง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่พอ เพราะการจะนำพาประเทศให้พ้นจากสภาพที่มี “แรงหน่วงขนาดใหญ่” ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ต้องอาศัยทั้งการทำทั้งนโยบายระยะสั้น กลาง และยาว 

ทั้งนี้ เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทย มองว่า การจะขับเคลื่อนประเทศได้นั้นจำเป็นต้องมี “ระเบิดขนาดใหญ่” ต้องมีตัวฉุดลากขนาดใหญ่ และเห็นหลายเรื่องที่รัฐบาลได้ทำไปแล้ว เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต การแจกเงิน 10,000 บาท ดังนั้น หลังจากนี้มองว่า สิ่งที่จำเป็นควรจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น

คนไม่มีความสามารถ“ก่อหนี้-ใช้จ่ายเพิ่ม”

ตัวที่สะท้อน “ความยากลำบาก” ของเศรษฐกิจไทย อีกด้านหากดูจากการปล่อยสินเชื่อในระบบธนาคาร พบว่า แทบไม่มีการเติบโต มีเพียงลูกค้าขนาดใหญ่ ที่ยังสามารถเติบโตได้ ขณะที่ลูกค้าเอสเอ็มอี , รายย่อย สินเชื่อไม่ขยายตัว

นั่นแปลว่าคนอยู่ในภาวะตึงมือ ไม่สามารถก่อหนี้ใหม่ได้ ไม่มีความสามารถ “ซื้อ” หรือ “จับจ่ายใช้สอย” ผลกระทบเหล่านี้ต่อเนื่องไปที่ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่มีแวลูเชนเชื่อมต่อกัน

“ผมคิดว่า อยากจะส่งสัญญาณ ในมุมของคนมองว่าวันนี้หากเทียบปี 97 ตอนนั้นเกิดไครซิสกับคนทั้งประเทศ คนรู้ว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤติแต่วันนี้เราทะเลาะกันน้อย และหันมาบอกว่าจะให้ทำอะไร แต่วันนี้สภาพที่เป็นอยู่ คือ “กบต้ม” ความเป็นจริงแล้วคนส่วนใหญ่เดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งวันนี้สิ่งที่เห็นคือ รัฐบาลมีโครงการนโยบายต่างๆ เต็มไปหมด แต่สิ่งเหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นผมคิดว่าอย่าเสียเวลามาเถียงกันว่านโยบายใครดีกว่ากัน แต่ทำอย่างไร ที่จะอยู่กันแบบที่เห็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ และยอมเดินไปข้างหน้าบนการรักษากติกาต่างๆ”

ขยายเพดานหนี้สาธารณะเกิน 70% ชั่วคราว

ทั้งนี้ หากดู Resource หรือ ทรัพยากร แหล่งเงินต่างๆ ของประเทศ ภายใต้ที่ยังมีมาตรการกระตุ้นเยียวยาต่างๆ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ส่งผลให้วันนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะสูงกว่า 60% แต่เรามีเพดานหนี้สาธารณะอยู่ที่ 70%

 แปลว่าวันนี้เราเหลือ “รูม” น้อยมาก ในขณะที่การนำส่งรายได้ไปสู่ภาษีต่างๆ ของภาคเอกชนก็ไม่ได้ขยายตัว  ดังนั้นวันนี้เราอยู่ใน “จุดอับ” คือไม่มี Resource ในการทำสิ่งต่างๆ ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ประเทศมีแรงขับเคลื่อนอย่างรุนแรง

ข้อเสนอของผมคือ กรอบวินัยทางการเงินการคลังของเพดานหนี้สาธารณะ ควรทำไปขึ้นไปชั่วคราว เพื่อเอามาใช้ในโครงการต่างๆ ที่มองว่ามีความจำเป็น

โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังทำเพื่อผลักดันประเทศ ทั้งการให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี การขับเคลื่อนเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โครงการต่างๆ ที่จำเป็นอย่างมาก ที่ต้องควักทั้งเงินตัวเอง เพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่ต้องการดึงเข้ามาลงทุน หรือการเอาเงินภาษีที่ได้ ผลประโยชน์ต่างๆ ที่เก็บได้ ใส่ตรงเข้าไปที่ระบบภาษีกลาง เข้าสู่ระบบงบประมาณโดยตรงนำไปใช้ในโครงการต่างๆ

แต่ทั้งหมดนี้ ต้องตอบคนส่วนใหญ่ของสังคมให้ได้ว่า คนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์อย่างไร เช่น สวัสดิการในเชิงสาธารณูปโภค สาธารณสุข หรือช่วยลดภาระหนี้ของคนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น สิ่งจำเป็นคือ การทำให้คนส่วนใหญ่ของสังคม รู้สึกว่าได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น แต่ทั้งหมดมองว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก

แก้น้ำท่วม-น้ำแล้งมากกว่าโครงการเซ็กซี่

นอกจากนี้มองว่า โครงการต่างๆ ที่กำลังจะทำอาจต้องลดความเซ็กซี่ของโครงการลง เช่นที่พูดถึง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเอื้อประโยชน์เฉพาะคนไม่กี่กลุ่ม ดังนั้นโครงการที่จะทำในอนาคตต้องทำให้เซ็กซี่น้อยลง แต่ทำเรื่องที่ ทำอย่างไรให้น้ำไม่ท่วม ไม่แล้ง ให้เกษตรกรอยู่ได้

รวมถึงรถไฟที่เอื้อต่อการขนสินค้าข้ามประเทศให้รวดเร็วขึ้น ที่จำเป็นต้องทำโครงการลักษณะนี้ให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้โอกาสกระจายไปสู่ทุกภาคส่วนหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศได้มากขึ้น

ผมคิดว่าปัญหาที่เราเผชิญอยู่ ทั้งภายในและภายนอกใหญ่เกินแก้ปัญหา แบบหวังว่าการเติบโต 2-3% แล้วประเทศจะผงกตัวได้ ผมคิดว่าไม่ได้ สองทำอย่างไรให้เราสามารถใช้ Resource ที่เหลือจำกัดมาก และทำอย่างไรที่จะพูดกับสังคมว่าอาจต้องไปถึงจุดที่ต้องเลย เรื่องวินัยการเงินการคลัง และทำให้ชัดเจนว่าจะเอาสิ่งเหล่านี้ไปอยู่ตรงไหน ทั้งโครงการระยะสั้น การเยียวยา การกระตุ้น หรือทำเรื่องระยะยาว หรือแม้แต่การปรับปรุงการสร้างใหม่ที่เป็นคีย์เวิร์ดที่อยากพูดถึง”

ศก.ไทย Resilience อย่างเดียวไม่พอ

ขณะที่ นายสันติธาร กล่าวว่า จากการพบปะนักลงทุนช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่นักธุรกิจพูดถึงประเทศไทย ถึงเศรษฐกิจไทยมองว่า ประเทศไทยมี Resilience ยืดหยุ่น อึดถึกทนอยู่ระดับหนึ่ง แต่ถามว่าเศรษฐกิจไทย Resilience อย่างเดียวพอหรือไม่ ต้องตอบว่า “ไม่พอ” เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะ Resilience ไม่ตาย แต่อาจเลี้ยงไม่ค่อยโต

หากย้อนไปดูภาพเศรษฐกิจไทย พบว่า ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตเกิน 7% พอเจอ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” การเติบโตลงมาเหลือ 5% จากนั้นเจอวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์กลับมาเหลือ 3% และหลังโควิด-19 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยเพียงกว่า 2%

และปีนี้นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้อย่างเก่งเพียงระดับ 3% นี่คือ “Normal” ระดับการขยายตัวปกติของเศรษฐกิจไทย 

แต่หากเทียบเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย เติบโต 5-6% อินเดีย 7-8% เวียดนาม 6-7% สะท้อนเรื่องแรก “โครงสร้างประชากร” ของประเทศไทยที่ปัจจุบันเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้แรงงานไทยน้อยลง หากเทียบแรงงานประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และประเทศที่กำลังพัฒนาที่แรงงานส่วนใหญ่ยังขยายตัว แต่ประเทศไทยแรงงาน หรือประชากรหดตัวลงต่อเนื่อง

ทางรอดของไทยต้องทำ “4 ด้าน”

ดังนั้น ทางรอดของประเทศไทยคือ การเพิ่ม Productivity การเพิ่มผลิตภาพ หนึ่งคนต้องทำงานมากขึ้น ดังนั้น ความอยู่รอดของประเทศไทย โจทย์ใหญ่คือ ต้องหา Growth Engine ว่าจะหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ๆ มาอย่างไร

โดยมองว่ามี 3 คำที่สำคัญ คือ Global โอกาสในการเติบโตมาจากโลก ทั้งออกไปสู่โลก และจากโลกมาสู่เรา ทั้งนี้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก และการมาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่จากการเปลี่ยนแปลงนี้ การเปลี่ยนขั้วอำนาจต่างๆ ไม่ได้เกิดมาจากทรัมป์อย่างเดียว แต่มองว่าเกิดมาต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา 

กรณีของทรัมป์ แม้ไทยจะไม่ถูกตั้งกำแพงภาษี แต่ไทยก็โดนหางเลขอยู่ดี แถมโดนแรงด้วย จีนในปัจจุบันมี กำลังผลิตเหลือเกินมหาศาล ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ เหล็ก ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และเป็นสิ่งที่ประเทศไทยผลิต และส่งออก ดังนั้น การที่จีนมีกำลังการผลิตอยู่มาก จึงมีการกระจายสินค้าออกไปทั่วโลกมาที่ไทย และอาเซียนมากขึ้น

ดังนั้น การขึ้นกำแพงภาษีกับจีนของสหรัฐ จะทำให้ไทย และภูมิภาคเจอการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นไปอีก แต่ในวิกฤติก็ย่อมมีโอกาสทุกครั้ง คือ การโยกย้ายการลงทุนออกจากจีนมาอาเซียนมากขึ้น โดยปี 2023 เป็นปีแรกที่เห็น FDI เข้ามาในอาเซียนค่อนข้างมาก รวมถึงไทยด้วย แต่ครั้งนี้ประเทศไทยจะเหนื่อย เพราะนักลงทุนไม่ได้มองว่าประเทศไทยเป็น “พระเอก” ในการเข้ามาลงทุน

“ไทยยังมีงานที่เหนื่อย เพราะต้องต่อสู้กันหลายประเทศที่เข้ามาในอาเซียน เพราะนักลงทุนที่เข้ามา เขามองเรายังไม่ใช่พระเอกของหนังเรื่องที่ชื่อว่าอาเซียน มันยังไปที่สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซียมาก ขณะที่ตัวเลขที่เข้ามาไทยยังไม่สูง แต่ก็หวังว่าปีนี้ปีหน้าจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ไทยโดดเด่น และน่าฉกฉวยโอกาสได้มากกว่านี้ คือ การดึงดูดทาเลนต์ การดึงดูดคนเก่ง ทั้งผู้บริหารบริษัทการเงิน ผู้บริหารเทคโนโลยี ผู้บริหารกองทุนต่างๆ หากเราฉกฉวยโอกาสในโลกที่แย่งหัวกะทิกันดึงคนเก่งๆ มาอยู่ไทยได้ ในยุคที่ทุนวิ่งตามคนเก่ง อันนั้นจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย”

ถัดมา เทคโนโลยีและเอไอ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เป็นจุดที่ทำให้การเข้าถึงดีขึ้น เทคโนโลยีทุกยุคทุกสมัยเร็วขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมองว่าหลังจากนี้ การแข่งขันเทคโนโลยีวอลล์จะแข่งขันรุนแรงเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม สหรัฐอาจจะกีดกันเทควอลล์จากจีนรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจดีปรับเทคโนโลยีซัพพลายเชนจะรุนแรงขึ้น  

ทั้งนี้ มองว่าการแข่งขัน AI จะรุนแรงขึ้น เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงกับประเทศไทย เช่นเดียวกัน AI จะเข้ามาช่วยเพิ่มผลิตภาพ ด้วยเทคโนโลยี จากปัญหาของไทยที่ขาดแรงงาน และเราควรใช้ AI เข้ามาเสริมในอุตสาหกรรมที่เก่งอยู่แล้ว เช่น เกษตร อาหาร ท่องเที่ยวสาธารณสุข ที่ไทยมีจุดแข็งทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสมาร์ตไซบอร์กได้

สุดท้าย ด้านที่ 3 Sustainability เรากำลังอยู่ในโลกที่ร้อน ที่เพี้ยนแล้ว ประเทศไทยจะอยู่ได้หรือไม่ เศรษฐกิจจะเติบโตได้หรือไม่ ดังนั้น จากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ สิ่งที่สำคัญคือ ทำให้คนมีความต้องการเป็น Wellness รวมถึง Personal Care ที่ประเทศไทยมีจุดแข็ง ดังนั้นทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะทำให้เกิด High Value จากสิ่งเหล่านี้ได้

“ทั้งหมดเป็น 4 Twist ผมอยากให้เห็นว่า เรามองมันเป็นความเสี่ยง เป็นสีแดง และบอกว่า เราต้อง Resilient คือ คลื่นมา พายุมา เราชนมันแล้วเรากลับมาเหมือนเดิม อันนี้คือ Resilient แต่อาจจะไม่พอ อยากชวนคิดอีกคำคือ Antifragile คือ ไม่ใช่ล้มแล้วลุกแล้ว กลับมาอยู่ที่เดิม แต่ล้มแล้วต้องแกร่งยิ่งกว่าเดิม ต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในทุก Twist วันนี้คลื่นยักษ์กำลังมา ปีนี้เราจะเลือกสร้างกำแพง และมุดกำแพงหลบคลื่นให้ผ่านไป หรือเราจะคว้าบอร์ดมาแล้วยืนบนบอร์ดนั้น และขี่บอร์ดนั้นไปข้างหน้านั่นคือคำถามที่เราต้องตอบให้ได้ในปี 2025 นี้”

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์