แบงก์ชาติ ชี้สินเชื่อแบงก์ ติดลบสูงสุดรอบ 15ปี เอสเอ็มอี-รายย่อยเดี้ยง

แบงก์ชาติ ชี้สินเชื่อแบงก์ ติดลบสูงสุดรอบ 15ปี เอสเอ็มอี-รายย่อยเดี้ยง

แบงก์ชาติ ชี้สินเชื่อระบบแบงก์พาณิชย์ติดลบในรอบ 15 ปีมากสุดนับตั้งแต่ปี 52 หลัง “รายย่อย-เอสเอ็มอี” ขอกู้หดตัว จากการระมัดระวังการปล่อยกู้ จากเครดิตผู้กู้สูงขึ้น เปิดตัวเลขหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 2.78% จาก 2.97% รับยังไม่สบายใจ “ห่วงหนี้เสียบ้าน” ยังทะยานต่อเนื่อง

 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูภาพรวมสินเชื่อระบบ “ธนาคารพาณิชย์” ปี 2657 พบว่า โดยรวมสินเชื่อติดลบที่ 0.4% ซึ่งเป็นการติดลบมากที่สุดในรอบ 15 ปีนับตั้งแต่ปี 2552 และสินเชื่อยังขยายตัวติดลบต่อเนื่อง หากเทียบกับปีก่อนหน้าที่ติดลบ 0.3% 

โดยสินเชื่อที่ติดลบ 0.4% โดยเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อขยายโตต่ำ และติดลบ ยกเว้นรายใหญ่ที่ยังเห็นการเติบโตสินเชื่อได้ โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย ที่ภาพรวมติดลบหนักมาที่ -1.9% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ติดลบเพียง -0.8% หลักๆ มาจากสินเชื่อเช่าซื้อที่หดตัว -9.9%

ซึ่งเป็นการหดตัวไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นผลมาจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่า ธปท. จะเห็นสัญญาณการยึดรถเข้าลานประมูลน้อยลง ทำให้ราคารถมือสองกลับมาปรับดีขึ้น แต่ยังเป็นสัญญาณที่ธปท.ต้องจับตาดูอยู่

ขณะที่ สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวลดลง ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและรายได้กลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า

“สินเชื่อที่หายไป ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการระมัดระวังในการให้สินเชื่อของแบงก์ด้วย จากเครดิตริสที่เพิ่มสูงขึ้น และในช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อขยายตัวไปเยอะมากในภาวะที่จีดีพีไม่โต จีดีพีติดลบในช่วงโควิด”

หนี้เสียลด แต่ยังวางใจไม่ได้

ส่วนภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ปัจจุบันปรับลดลงทั้งปริมาณและสัดส่วน โดยปริมาณหนี้เสียอยู่ที่ 5.50 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.78% ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ที่อยู่ 5.3 แสนล้านบาท หรืออยู่ที่ 2.97% คิดเป็นหนี้เสียปรับลดลงราว 2 หมื่นล้านบาท

ถือเป็นการปรับลดลงในรอบหลายไตรมาส ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.82% เป็น 3.88% และมองว่ามาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” จะทำให้หนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับดีขึ้นในรอบไตรมาสถัดไปได้

โดยหนี้เสียที่ปรับดีขึ้น เช่น สินเชื่อธุรกิจปรับลดลงจาก 3.24% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 มาอยู่ที่ 3.20% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สินเชื่อเอสเอ็มอีปรับลดลงจาก 7.01% มาอยู่ที่ 6.92% ธุรกิจรายใหญ่ลดลงจาก 1.18% มาอยู่ที่ 1.00% และสินเชื่อธุรกิจรายย่อยจาก 3.24% มาอยู่ที่ 3.20% โดยเช่าซื้อลดลงจาก 2.34% อยู่ที่ 2.17% และบัตรเครดิตปรับลดลงจาก 3.65% เหลือ 3.12% เป็นผลมาจากการคงมาตรการชำระขั้นต่ำ (Minimum Payment)

แต่การลดลงของหนี้เสีย ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามของการลดหนี้ในช่วงสิ้นปี และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอี และรายย่อย ทำให้ลูกหนี้ถูกขยับจาก การเป็นหนี้เสียในกลุ่ม Stage 3 ไปอยู่ในกลุ่มสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2) เพิ่มขึ้นมาอยู่ 6.98% ขณะที่ยอดตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้สะสมอยู่ที่ 7.18 ล้านบัญชี และคิดเป็นมูลหนี้อยู่ที่ 2.66 ล้านล้านบาท

“หนี้เสียลดลง แต่ก็เรียนว่าเราก็ไม่ได้สบายใจ กับตัวเลขเอ็นพีแอล ที่อาจจะปรับดีขึ้นในไตรมาสนี้ ดังนั้น คงต้องดูกันยาวๆ เพราะโดยปกติไตรมาส 4 ก็จะเป็นช่วงที่สถาบันการเงินพยายามจะบริหารจัดการตัวเอ็นพีแอล เพื่อปิดงบ ดังนั้น ต้องยังติดตามกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด มันก็ต้องสะท้อนไปกลับมาที่รายได้ต้องฟื้นตัวด้วย เพราะหากรายได้ไม่กลับมาก็แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้ มันก็จะเป็นการลดภาระชั่วคราว นอกจากนี้ ธปท.มองว่า ที่ต้องติดตามใกล้ชิด และเป็นห่วงคือ กลุ่มสินเชื่อบ้าน ที่หนี้เสียยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ที่ธปท.ต้องติดตามใกล้ชิด”

ระดมทุนผ่านตราสารหนี้หดตัว 3 ไตรมาส

สำหรับ ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2567 ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง

โดยหากดูด้านเงินกองทุนต่อสินเทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยรวมอยู่ระดับสูงที่ 20.4% ด้านสภาพคล่อง(LCR)ขึ้นมาอยู่ที่ 206.4% ส่วนใหญ่มาจากสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านเงินสำรอง (NPL Coverage ratio) ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 177.1% หลักๆ เลยก็มาจากปริมาณ เอ็นพีแอลที่ลดลงประมาณ 20,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากดูด้านอัตราการขยายตัวของสินเชื่อและตราสารหนี้ พบว่าสินเชื่อหดตัว ขณะที่การระดมทุนผ่านตราสารหนี้หดตัวต่อเนื่อง โดยการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ หดตัวเป็นไตรมาสที่3 โดยไตรมาสล่าสุดหดตัวที่ 2.5% ตามความต้องการลดลง โดยหดตัวในเกือบทุกภาคธุรกิจ ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้างอสังหาฯ ยกเว้นการออกตราสารหนี้มากขึ้นใน กลุ่มสาธารณูปโภค

แต่โดยรวมยังชะลอตัวของการออกตราสารหนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากปัจจัยที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุน ที่มีความระมัดระวังมากขึ้น และมีการเลือกถือตราสารที่มีคุณภาพดีขึ้น