“รวม ‘ความพิเศษ’ ของ Thai ESGX”

การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ไป Thai ESGX สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท ไม่มีการกำหนดเป็นสัดส่วนของเงินได้พึงประเมิน โดยปี 2568 ใช้สิทธิได้ 300,000 บาท ส่วนที่เหลือนำมาทยอยใช้สิทธิในปีภาษี 2569-2572 ปีละไม่เกิน 50,000 บาท
แม้จะว่าผ่านมาไม่กี่วันหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ ตามมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในหุ้นกลุ่มความยั่งยืนและเพิ่มเสถียรภาพตลาดทุนไทย แต่ผมเชื่อว่า วันนี้หลายท่านน่าจะได้ยินชื่อ “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ” หรือ “Thai ESGX” กันมาบ้างแล้วนะครับ
ซึ่งต้องบอกว่า Thai ESGX เป็นกองทุนที่มี “ความพิเศษ” สมกับชื่อกองทุน ผมจึงขอรวบรวมความพิเศษในด้านต่าง ๆ ของ Thai ESGX มาเล่าให้ฟังกันครับ
สิทธิลดหย่อนภาษีพิเศษ : ความพิเศษแรก คือ การลงทุนใน Thai ESGX จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีพิเศษ เพิ่มจาก Thai ESG เดิม ทั้งสำหรับเงินลงทุนใหม่ใน Thai ESGX และการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ไป Thai ESGX สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
สำหรับ Thai ESGX เม็ดเงินใหม่ ในปี 2568 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
ขณะที่การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ไป Thai ESGX สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท ไม่มีการกำหนดเป็นสัดส่วนของเงินได้พึงประเมิน โดยปี 2568 ใช้สิทธิได้ 300,000 บาท ส่วนที่เหลือนำมาทยอยใช้สิทธิในปีภาษี 2569-2572 ปีละไม่เกิน 50,000 บาท
สับเปลี่ยนแบบพิเศษ : การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ไป Thai ESGX จะใช้วิธี pay in kind ด้วยกระบวนการที่เป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยของทั้งกองทุนต้นทางและปลายทาง โดยเมื่อผู้ถือหน่วยส่งคำสั่งสับเปลี่ยนในมูลค่าเท่าใด กองทุน LTF จะโอนหลักทรัพย์ไปให้ Thai ESGX ในมูลค่าเดียวกัน ทำให้กองทุน LTF ไม่จำเป็นต้องขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ในทันที ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุน LTF ถืออยู่
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ : สำหรับผู้ถือหน่วยกองทุน LTF ที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ไป Thai ESGX มีเงื่อนไขที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ 3 ข้อ คือ
(1) ต้องไม่ขายและไม่สับเปลี่ยนหน่วย LTF เพราะการขายหรือสับเปลี่ยน LTF ไม่ว่าจะเป็นสับเปลี่ยนไปยัง LTF อื่นภายใต้ บลจ. เดียวกัน หรือข้าม บลจ. ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 68 จะทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
(2) ต้องสับเปลี่ยนหน่วย LTF ที่ถือครองทั้งหมด ทุกกอง ทุก บลจ. ณ วันที่ 11 มี.ค. 68 (ไม่รวมหน่วยใน class SSF) ไป Thai ESGX ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 68 โดยไม่สามารถสับเปลี่ยนไปเพียงบางส่วนได้
(3) ต้องถือครองหน่วยลงทุน 5 ปี วันชนวัน โดยนับจากวันที่สับเปลี่ยนหน่วย LTF ไป Thai ESGX ในกรณีที่มีการขายหน่วยลงทุนก่อนครบระยะเวลาที่กำหนดจะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้นและอาจมีเบี้ยปรับตามที่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์กำหนด นอกจากนี้ หากมีกำไรจากการขายหน่วยจะต้องนำกำไรนั้นมาคำนวณภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ทางภาษีด้วย
กองทุนแบบพิเศษ : สำหรับท่านที่เคยลงทุนกองทุน Thai ESG คงทราบกันอยู่แล้วว่า กองทุนมีนโยบายลงทุนใน “ทรัพย์สิน” ที่ออกโดยผู้ออกหรือกิจการในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติด้านความยั่งยืน ซึ่งอาจจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ หรือโทเคนดิจิทัล รวมกันไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV แต่สำหรับ Thai ESGX มีความพิเศษตรงที่กำหนดไว้ชัดเจนเลยว่า อย่างน้อย 65% ของ NAV จะต้องลงทุนใน “หุ้นกลุ่มความยั่งยืน”
“หุ้นกลุ่มความยั่งยืน” ที่ Thai ESG และ Thai ESGX สามารถลงทุนได้จะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET หรือ mai ที่มีคุณสมบัติอย่างน้อย 1 ใน 3 ข้อนี้ คือ
(1) ได้รับการคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ESG ratings providers ว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (E) หรือด้านความยั่งยืน (ESG)
(2) มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผ่านการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์
(3) มีธรรมาภิบาลในระดับดีเลิศ (G) และมีการเปิดเผยเป้าหมายและแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัท (corporate value up plan)
ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ข้อมูลว่า ณ วันที่ 27 ก.พ. 68 มี “หุ้นกลุ่มความยั่งยืน” ที่ Thai ESG และ Thai ESGX สามารถลงทุนได้ทั้งหมด 242 บริษัท โดย 228 บริษัท อยู่ในรายชื่อ SET ESG Ratings และอีก 14 บริษัท ที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บริษัทจดทะเบียนที่ต้องการให้หุ้นของบริษัทเป็น “หุ้นกลุ่มความยั่งยืน” สามารถเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการจัดการ และจัดให้มีการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ ก็จะเป็นหุ้นที่ Thai ESG และ Thai ESGX สามารถลงทุนได้ โดยนับรวมในสัดส่วนทรัพย์สินด้านยั่งยืนที่ต้องไม่ต่ำกว่า 80% ของ NAV นอกจากนี้ Thai ESG และ Thai ESGX ยังลงทุนหุ้นที่ไม่อยู่ในกลุ่มความยั่งยืนได้ด้วยนะครับ แต่ต้องไม่เกิน 20% ของ NAV อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. คาดหวังว่า ความสนใจของผู้ลงทุนจะผลักดันและสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นครับ
สำหรับท่านที่เป็นห่วงว่า เมื่อ Thai ESGX ได้รับโอนหลักทรัพย์ที่อยู่นอกกลุ่มยั่งยืน มาแล้ว บลจ. จะต้องขายหลักทรัพย์นั้นออกไปทันทีหรือไม่ ผมขอให้ข้อมูลว่า บลจ. ไม่จำเป็นต้องขายทันทีครับ เพราะกองทุนรวมที่จัดตั้งใหม่ มีระยะเวลาการบริหารจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนภายใน 1 ปี นับจากวันที่จดทะเบียนกองทุน และการกำหนดสัดส่วนการลงทุนเป็นค่าเฉลี่ยในรอบปี
ในระหว่างที่รอ Thai ESGX เปิดขายและรับสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน (ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือน พ.ค. 68) ยังมีเวลาให้ศึกษาข้อมูลกันก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกใช้สิทธิหรือไม่ และสามารถติดต่อ บลจ. หรือตัวแทนขายหน่วยลงทุน เพื่อตรวจสอบจำนวนหน่วยลงทุน LTF ที่ถือครองได้เลยครับ และเมื่อ Fund Connext platform เปิดให้บริการเช็กสอบยอดหน่วยลงทุน LTF ได้ จะสามารถตรวจสอบผ่านระบบได้อีกทางหนึ่งด้วยครับ ซึ่งทั้ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ AIMC จะร่วมกันเร่งผลักดันให้แล้วเสร็จโดยเร็วครับ