วางแผนภาษีร้านขายวัสดุก่อสร้าง ลดความเสี่ยง เพิ่มความมั่นคง

เปิดแนวทางการจัดการภาษีที่มีประสิทธิภาพ สำหรับธุรกิจร้านขายวัสดุก่อสร้าง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น สร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ
การวางแผนภาษีสำหรับร้านขายวัสดุก่อสร้างเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างมั่นคงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้นการจัดการภาษีที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป แต่ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจอีกด้วย
ทั้งนี้ยังมีเจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างจำนวนไม่น้อยอาจมองว่าภาษีเป็นเรื่องซับซ้อน แต่หากมีการวางแผนที่ดีและเข้าใจสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายภาษีในการจัดการต้นทุนได้ ซึ่งภาษีที่ร้านวัสดุก่อนสร้างต้องเสียมีอะไรบ้าง สามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้
ร้านขายวัสดุก่อสร้างกับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ร้านขายวัสดุก่อสร้างที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.รายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้รวมคำนวณเป็นรายได้ของรอบระยะเวลานั้น เช่นเดียวกับรายจ่าย ให้นำรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับรายได้มาคำนวณในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเช่นกัน
2.ให้คำนวณกำไรสุทธิที่ได้จากรายได้ของกิจการ หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้การเสียภาษีของร้านขายวัสดุก่อสร้างที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะต้องจ่ายภาษี 2 ช่วงหลักๆ คือ
1.ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ยื่นและชำระภายใน 2 เดือนหลังจากครึ่งปีแรกของรอบบัญชี (เช่น รอบบัญชี ม.ค.-ธ.ค. ต้องยื่นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม) ซึ่งเป็นการจ่ายภาษีล่วงหน้าก่อนรอบบัญชีสิ้นสุด
2.ภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นปี (ภ.ง.ด. 50) ยื่นและชำระภายใน 150 วันหลังจากสิ้นสุดรอบบัญชี (เช่น รอบบัญชี ม.ค.-ธ.ค. ต้องยื่นภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมปีถัดไป) หักภาษีที่ได้จ่ายไว้ตอนครึ่งปีออก และจ่ายส่วนที่เหลือ (ถ้ามี)
ร้านขายวัสดุก่อสร้างกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ร้านวัสดุก่อสร้างที่ดำเนินการในรูปแบบบุคคลธรรมดา มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมาย
โดยรายละเอียดเกี่ยวกับการเสียภาษีประเภทนี้มีดังนี้
1.การคำนวณรายได้ ร้านขายวัสดุก่อสร้างต้องนำรายรับทั้งหมดมารวมกันเพื่อนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งประกอบด้วย รายได้จากการขายวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน ปูน ทราย เหล็ก ฯลฯ และรายได้จากการให้บริการเสริมที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
2. การเลือกวิธีหักค่าใช้จ่าย ในการคำนวณภาษีสามารถเลือกวิธีหักค่าใช้จ่ายได้ 2 รูปแบบ
2.1 การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องใช้หลักฐานค่าใช้จ่าย
2.2 การหักค่าใช้จ่ายตามจริง ต้องเก็บรวบรวมหลักฐานการใช้จ่าย เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบ
ส่งของ ฯลฯ เพื่อใช้ในการคำนวณหักค่าใช้จ่าย
3.การยื่นแบบและชำระภาษี ร้านขายวัสดุก่อสร้างที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ดังนี้
- ภ.ง.ด.94 ยื่นกลางปี (สำหรับรายได้ช่วงมกราคม - มิถุนายน) ภายในเดือนกันยายนของปีนั้น
- ภ.ง.ด.90 ยื่นปลายปี (สำหรับรายได้ทั้งปี) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป หรือยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายนของปีนั้นๆ
ร้านขายวัสดุก่อสร้างกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับร้านขายวัสดุก่อสร้างที่ขายวัสดุก่อสร้างหรือสินค้าที่เกี่ยวข้องจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากมีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มจะคำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ขาย ซึ่งอัตราภาษีปัจจุบันคือ 7% ของมูลค่าการขาย
กรณีนี้เจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าทุกครั้งที่ทำการขายสินค้า และสามารถหักภาษีซื้อจากภาษีขายได้หากมีการซื้อสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ทางร้านมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกวันที่ 15 ของเดือน
ร้านขายวัสดุก่อสร้างกับการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ร้านขายวัสดุก่อสร้างที่ดำเนินธุรกิจขายสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูน ทราย เหล็ก อิฐ กระเบื้อง หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง มีความเกี่ยวข้องกับ “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” ในบางกรณีเท่านั้น โดยปกติแล้ว ร้านวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่จะไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะเป็นการขายสินค้า ซึ่งการขายสินค้าจะอยู่ภายใต้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นหลัก อย่างไรก็ตามภาษีธุรกิจเฉพาะจะเกี่ยวข้องในกรณีที่ร้านมีการประกอบกิจการเฉพาะที่กฎหมายกำหนด เช่น การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ การรับจำนอง การกู้ยืม หรือการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการเงิน
ดังนั้นถ้าร้านวัสดุก่อสร้างดำเนินธุรกิจเพียงแค่การขายวัสดุก่อสร้าง ก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ถ้ามีธุรกรรมอื่นๆ ที่เข้าข่ายตามประมวลรัษฎากร ก็อาจมีความจำเป็นต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราที่กฎหมายกำหนดด้วย
ร้านขายวัสดุก่อสร้างกับการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีสำหรับเจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีสิทธิ์หักเมื่อมีการจ่ายเงินให้แก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส และรายได้อื่นๆ ผู้ประกอบการร้านขายวัสดุก่อสร้างจำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน และนำส่งภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 และ/หรือ ภ.ง.ด.53 ภายใน 7 วัน นับจากวันสิ้นเดือนที่มีการจ่ายเงินดังกล่าว
สรุป การวางแผนภาษีสำหรับร้านขายวัสดุก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงทางการเงินและเพิ่มความมั่นคงให้กับธุรกิจ การวางแผนที่ดีเริ่มจากการทำความเข้าใจโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย
การจัดระบบบัญชีให้ถูกต้องช่วยให้สามารถตรวจสอบรายรับรายจ่ายได้อย่างชัดเจน และเพิ่มประสิทธิภาพในการคำนวณต้นทุน ซึ่งส่งผลต่อการคำนวณกำไรและภาษีได้ถูกต้องนั่นเอง
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting