นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ขึ้นภาษีไทย36% อาฟเตอร์ช็อค ฉุด ‘จีดีพี’ ต่ำ 2%

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ขึ้นภาษีไทย36%  อาฟเตอร์ช็อค ฉุด ‘จีดีพี’ ต่ำ 2%

นักเศรษฐศาสตร์มอง “ทรัมป์”ขึ้นภาษีนำเข้าจากทั่วโลกเป็นอาฟเตอร์ช็อคการค้าทั่วโลก ฉุดเศรษฐกิจไทยต่ำ2%ปีนี้ กดดันกนง.ลดดอกเบี้ยทันที 30เม.ย.นี้

ล่าสุด ประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์  ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับทุกประเทศขั้นต่ำอยู่ที่ 10% กับผู้ส่งออกสินค้าทั้งหมดไปยังสหรัฐฯ และจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมกับประเทศต่างๆ ราว 60 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากที่สุด  

รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้นอย่างมากกับคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดบางรายของประเทศ เช่น จีน ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญภาษีโดยรวมสูงถึง 54% จากภาษีเดิม 20% บวกกับภาษีตอบโต้ใหม่อีก 34% ส่วนไทยจะถูกเก็บในอัตราสูงถึง 36 %

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เมื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจคือความมั่นคงของชาติทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ชาติต่างๆพร้อมประกาศว่าเป็น Liberation day หรือวันปลดแอกที่สหรัฐถูกชาติต่างๆแย่งชิงทรัพยากรและความมั่งคั่งไป พร้อมจะตอบโต้แบบตาต่อตา

คือใครทำอะไรกับสหรัฐ สหรัฐก็จะทำคืน และบอกว่าภาษีที่จัดเก็บได้นี้จะมาลดหนี้ นำมาใช้จ่ายให้คนสหรัฐ ผมมองต่อได้คือ

  • 1. ทรัมป์ตั้งใจลดการพึ่งพิงจีนและชาติที่ไม่ใช่พันธมิตรแท้ๆของสหรัฐ อยากย้ายฐานการผลิตกลุ่มชิป เซมิคอนดักเตอร์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และรถยนต์กลับมาสหรัฐ โดยการขึ้นภาษีเพื่อให้โรงงานในตปท.ย้ายกลับไปตั้งฐานในสหรัฐ รวมทั้งเตรียมความพร้อมหากเกิดสงคราม เช่นยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ 
  • 2. ตั้งใจแก้ปัญหาระยะยาว เพราะหากทรัมป์ไม่ทำอะไร ประสิทธิภาพการผลิตในสหรัฐจะแย่ลง ต้องสู้เพื่อให้ประเทศอื่นยอมลดภาษีนำเข้า ข้อจำกัดทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี มีการอุดหนุนสินค้าส่งออกแย่งทรัพย์สินทางปัญญา ใช้ระบบ VAT เพื่อเอาเปรียบสินค้าจากสหรัฐ การบิดเบือนค่าเงิน และอื่นๆ (ส่วนของ Non tariff barrier มีมากและยากที่จะประเมิน)
  • 3. ทรัมป์ในช่วงนึงหยิบยกรายงานของตัวแทนการค้าสหรัฐ Foreign Trade Barrier ขึ้นมา อ่านรายละเอียดแล้วจะรู้ว่าชาติต่างๆ เก็บภาษีจากสหรัฐอย่างไร เช่นสหรัฐเก็บภาษีนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์จากประเทศอื่น 2.4% แต่ไทยเก็บจากสหรัฐ 60% เวียดนามเก็บที่ 75% หรือด้านรถยนต์ที่สหรัฐเก็บจากประเทศอื่น 2.5% แต่ยุโรปเก็บจากสหรัฐ 10% แถมมี VAT อีก 20% และยังบอกว่ามีมาตรการอื่นนอกจากภาษีอีกมาก จนรถในเกาหลีใต้เป็นรถที่ผลิตเอง 81% ญี่ปุ่น 94% แทบไม่มีรถนำเข้า (ผมคุ้นๆว่าในสหรัฐครึ่งต่อครึ่งเป็นรถที่ผลิตเองและรถนำเข้า) อีกทั้งกลุ่มภาคเกษตรที่ต่างชาติห่วงว่าสินค้านำเข้าจะกระทบเกษตรกร ทรัมป์บอกเขาจะเอาคืนด้วยการเก็บภาษี เพราะบางประเทศเช่นออสเตรเลียไม่ให้นำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐ หรือจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเก็บภาษีนำเข้าข้าวสูงมาก
  • 4. ภาษี Universal tariff (ทรัมป์เรียกว่า minimum cheating) จะเก็บที่ 10% ในวันที่ 5 เมษายน ส่วน Reciprocal tariff จะเก็บวันที่ 9 เมษายน (ภาษีจากจีนจะพุ่งไป 54%) ขณะที่ภาษีจากแคนาดาและแมกซิโกจะเลื่อนไปรอดูการตรวจสอบการแก้ปัญหายาเสพติดและผู้อพยพผิดกฎหมาย
  • 5. ทรัมป์วางแผนจะใช้ภาษีนี้ลดหนี้ และกล่าวถึงแผนการจะลดภาษีในประเทศ รวมทั้งการเลื่อนการชำระหนี้ (debt extension) ซึ่งประเด็นหลังนี้จะรอดูความชัดเจนว่าจะเป็นการสลับหนี้สั้นไปหนี้ยาวอย่างที่เป็นข่าวไหม แล้วดอกเบี้ยจะคิดอย่างไรซึ่งอาจกระทบตราสารหนี้
  • 6. แนวทางแก้ปัญหาหลังจากสงครามการค้ารุนแรง- ทรัมป์บอกวิธีแก้ไว้แล้วว่า ให้ลดภาษีนำเข้า ยกเลิก non tariff barrier หยุดบิดเบือนค่าเงิน เร่งนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ และมาลงทุนที่สหรัฐ ส่วนประเทศต่างๆ เตรียมรับมือเช่นกัน เช่น ยุโรปกำลังหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนจีนจะหามาตรการจำกัดการย้ายฐานไปสหรัฐเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง แล้วไทยจะทำอะไรได้หลังจากนี้ ผมมองว่าน่าจะทำตามที่ทรัมป์เสนอบ้าง อย่างน้อยก็แสดงความจริงใจ และเพิ่มการต่อรอง เร่งให้ข้อมูลว่าตัวภาษีที่ไทยเก็บจากสหรัฐไม่ได้สูงอย่างที่สหรัฐเห็น 

คาดกดดดันกนง.ลดดอกเบี้ย30เม.ย.นี้

แต่ต้องเร่งประสานงานว่าเขาใช้อะไรวัด ขณะเดียวกันเราต้องเตรียมแผนรับมือผลกระทบด้วย เช่น การสวมสิทธิจากจีน สินค้าจีนทะลักกระทบภาคการผลิตไทย และหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ไม่ใช่เพียงแจกเงิน แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้างงาน สร้างรายได้ หามาตรการทางการเงินดูแลผู้ได้รับผลกระทบ คาดว่าหากเจรจายาก และภาษีเกิดจริง กนง.น่าลดอัตราดอกเบี้ยลงรอบ 30 เมษายนนี้ 
 

ฉุดจีดีพีไทยต่ำ2%ปีนี้

ส่วน GDPไทยจะกระทบแค่ไหน ผมห่วงว่ามีโอกาสโตต่ำ 2% เป็น downside risk (เราส่งออกสินค้านับเป็น 60% GDP ส่งไปสหรัฐเกือบ 20% ของการส่งออกทั้งหมด รวมๆ เกิน 10% ของGDPไทย

ถ้าส่งออกไปสหรัฐติดลบจะกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็ก้อนใหญ่ที่ส่งไปสหรัฐ ทางอ้อมคือที่ส่งไปประเทศอื่น อย่างจีน เวียดนาม ยุโรปที่จะลำบากมากขึ้นตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลง)

ส่วนท่องเที่ยวก็น่ากระทบด้วยเพราะคนขาดความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ จำนวนนักท่องเที่ยวอาจโตจากปีก่อนที่ 35.5ล้านคนมาแถวๆ 37-38 แทนที่จะทะลุ 39 ไว้จะรอประเมินกันอีกทีครับ แต่ความชัดเจนน่าเกิดก่อนสงกรานต์นี้

มองไทยมี3ทางเลือก “สู้-หมอบ-ทน”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การประกาศเก็บภาษีนำเข้าไทยถึง 36%ครั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยเองเขามองว่า ต้องทำ 3 เรื่อง 

หนึ่ง สู้ (แบบ แคนาดา ยุโรป หรือจีน) ซึ่งเราอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะเราพึ่งพาเขาเยอะกว่าเขาพึ่งพาเราเยอะมาก สหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเรา เราเกินดุลสหรัฐปีนึงหลายหมื่นล้าน (แม้ว่ามูลค่าของการเกินดุลจำนวนมากเป็นสินค้านำเข้าจากจีนที่อาศัยไทยเป็นช่องหลบเลี่ยงก็ตาม)

สอง หมอบ คือ เจรจาหาทางลงที่สหรัฐพอใจ เช่น ปรับลดภาษีที่เราเก็บเขาสูงๆ ยอมเปิดตลาดที่เราปกป้องอยู่ (เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย) ยกเลิก nontariff barrier เช่น การห้ามการนำเข้าเนื้อหมู ค่าตรวจสินค้า นู้นนี่

และ แค่นี้อาจจะไม่พอ เราอาจจะต้องนำเสนอทางออกให้สหรัฐอีก เช่น การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม นำเข้าสินค้าใหญ่ๆ อย่างเครื่องบิน อาวุธ เครื่องจักร  หรือต้องหาทางเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ

เราอาจจะต้องเปิดเสรีด้านต่างๆที่สหรัฐบ่นมาตลอด เช่น บริการทางการเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ประเด็นสิทธิของแรงงาน
แต่แน่นอนว่าทางเลือกนี้ นอกจากการเจรจา "ภายนอก" แล้วต้องการการเจรจา "ภายใน" ที่มีประสิทธิภาพ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะยอมเปิดสินค้าเกษตรแลกกับภาคการส่งออก ใครจะยอมเสียประโยชน์ใครจะได้ประโยชน์

และเกมที่ยากที่สุดคือการหาว่าสหรัฐต้องการอะไรจริงๆ เพราะอาจจะไม่ใช่เกมการค้า แต่เป็นเรื่องอื่นอย่างการทหาร ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เราคงต้องอ่านเกมดีๆและประเมินผลได้ผลเสีย

สาม ทน คือถ้าเราหาทางออกไม่ได้ ก็คงต้องทน หรือหาแนวร่วมจากเพื่อนหัวอกเดียวกันในการกดดันและเจรจากับสหรัฐ เพราะเกมนี้สหรัฐก็อาจจะเจ็บอยู่ไม่น้อย สุดท้ายอาจจะต้องลดภาษีลงมาถ้าแรงกดดันในประเทศเพียงพอ แต่การทนและได้แต่หวังแบบไม่มีแผนคงไม่ใช่กลยุทธ์ทางออกที่ดีนัก

ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าเป็นอาฟเตอร์ช็อคทั่วโลก    

ด้านดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอนาคต (Future Economy) ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)กล่าวว่า รัฐบาลอเมริกาเพิ่งประกาศกำแพงภาษีครั้งใหญ่ที่เปรียบเสมือนเป็น ‘แผ่นดินไหว’ ช็อคการค้าไปทั้งโลกก็ว่าได้ 

โดยทุกประเทศโดนภาษีอย่างน้อย 10% อีก 60ประเทศโดนภาษี ’หมัดสวน‘ (reciprocal tariff) ที่ประเทศไทยจะโดนถึง 36% สูงกว่าหลายประเทศ  

อาฟเตอร์ช็อคของมาตราการครั้งนี้อาจจะรุนแรงและซับซ้อน เพราะว่าหลายประเทศอาจเลือกที่จะใช้ไม้แข็งตั้งกำแพงภาษีกลับ สู้กันไปมา ทำให้การค้าโลกโดยรวมทรุดกว่าที่คิด
บางประเทศอาจเสี่ยงตกเข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย (ความเสี่ยงของอเมริกาเองก็เพิ่มขึ้น)ทำให้เมื่อตลาดอเมริกาเหมือนจะกลายเป็น เมืองล้อมด้วยกำแพง ที่สินค้าเข้าไม่ได้หรือยากขึ้น

ทุกประเทศก็จะคิดคล้ายๆกันคือต้องส่งออกไปตลาดอื่น ดังนั้นการแข่งขันจะเข้มข้นขึ้นทั้งสำหรับการส่งออกของไทยในตลาดที่3 และสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆอาจทะลักเข้ามาในไทยมาขึ้น 

เดิมการลงทุนที่ไทยได้จากการหลบเลี่ยงสงครามการค้าระหว่าง จีนและสหรัฐฯ อาจชะงักหรือชะลอเพราะตอนนี้ไทยเองก็โดนภาษีในระดับสูงเช่นกัน (แม้ว่าเวียดนามจะโดนมากกว่า)     

แน่นอนว่า ยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง เช่นว่ากำแพงภาษีทั้งหมดนี้เจรจาได้แค่ไหน แต่ความไม่แน่นอนนี่เองก็จะทำให้ธุรกิจต่างๆทั่วโลกต้องหยุดเพื่อรอดู ปรับแผน มีผลลบกับเศรษฐกิจการลงทุนทันที
ตอนนี้ยังฝุ่นตลบผมจะพยายามคอยเอาบทวิเคราะห์ดีๆมาแปะไว้ด้านล่างด้วย 

แต่สำหรับผมเชื่อว่านี่คือ ’แผ่นดินไหว‘ทางการค้าโลกที่มีผลกระทบต่อไทยอย่างมาก (และมากกว่าที่คนส่วนใหญ่เคยคิดกัน) แน่นอน 

ส่วนตัวจึงมองว่าจำเป็นต้องมี War Room ทีมพิเศษที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนจากหลากหลายอุตสาหกรรม-กระทรวงคุมโดยผู้นำที่สามารถสั่งงานข้ามหน่วยงานต่างๆได้เตรียมรับมือเรื่องนี้ (เพราะการแลกเปลี่ยนิาจไม่ได้มาแต่ในเรื่องสินค้า แต่รวมบริการ ดิจิทัล และเรื่องการต่างประเทศอื่นๆด้วย) และให้เป็นเรื่องเร่งด่วนพิเศษ

ที่สำคัญไม่ใช่เจรจากับอเมริกาได้แล้วจะจบ เพราะผลกระทบทางอ้อมจากอาฟเตอร์ช๊อคก็มาจากหลายทาง
ธุรกิจต่างๆเองก็คงต้องเตรียมรับมือแรงกระแทกและปรับกลยุทธ์หาโอกาสในวิกฤตเช่นกัน เพราะช็อคครั้งนี้อาจไม่ใช่กระแทกระยะสั้นแต่จะมีผลปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจการค้าโลกระยะยาวด้วย