’สันติธาร เสถียรไทย‘มอง‘3 อยู่’ เพื่อรับมือสงครามการค้าโลก

’สันติธาร เสถียรไทย‘มอง‘3 อยู่’  เพื่อรับมือสงครามการค้าโลก

เมื่อ ‘วันปลดปล่อย’ ของอเมริกา กลายเป็น ‘แผ่นดินไหวใหญ่’ ของเศรษฐกิจโลก คำถามสำคัญคือ ไทยควรมี ’ยุทธศาสตร์ระดับประเทศ‘ อย่างไร

ในโลกที่กำลังเปลี่ยนกติกาการค้าและพันธมิตรทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวดเร็ว ต่อเนื่อง และบางการเปลี่ยนแปลงอาจจะถาวร

"สันติธาร เสถียรไทย"  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) ได้มีมุมมองว่า ผมยืมหลัก 3อยู่  คือ ‘อยู่รอด – อยู่เป็น – อยู่ยืน’ ที่เคยเขียนไว้รับมือวิกฤตโควิดมาปรับใช้กับสงครามการค้าโลก มาชวนคิดเผื่อจะพอเป็นประโยชน์ให้ผู้นำ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญเอาไปคิดต่อยอดนะ

1.อยู่รอด – ทำด่วนที่สุดเพื่อให้อยู่รอดจากศึกใหญ่ตรงหน้า

อย่างที่เคยเขียนไปก่อนนี้ว่าสิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำทันทีคือ การตั้ง “War Room ด้านการค้าระหว่างประเทศ” ในระดับชาติ มี นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่กำกับเศรษฐกิจเป็นประธาน ดู-สั่ง-ประสานงานข้ามกระทรวงได้เพราะสิ่งที่อเมริกาอาจอยากได้จากไทยอาจไม่ใช่แค่เรื่องสินค้า-ภาษีเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ กานลงทุน การเงิน-ธนาคาร เทคโนโลยี ความมั่นคง และการทูตในระดับโลก 

แม้วันนี้การเจรจาอาจจะดูสายไปแล้วในสายตานักวิเคราะห์หลายคนแต่ส่วยตัวมองว่าเป็นไปได้ที่ประตูการเจรจายังไม่ปิดและอาจต้องมีต่อเนื่องอีกหลายรอบแม้มาตราการภาษีจะลงมือทำแล้ว

War Room นี้ควรมี 4 ฟันเฟืองหลักที่ทำงานประสานกัน 

-ทีมเจรจาและการทูต: คัดคนที่มีประสบการณ์เวทีใหญ่ เข้าใจดีทั้งการเมืองระหว่างประเทศและการล็อบบี้ในวอชิงตัน
-ทีมเทคนิคและกฎหมาย: ผู้เชี่ยวชาญจากหลายกระทรวง ช่วยประเมินว่ากฎหมายไทยสามารถทำอะไรได้ และออกแบบมาตรการตอบโต้-เยียวยาให้ทันเหตุการณ์
-ทีมที่ปรึกษาจากภาคเอกชน: ตัวแทนจากอุตสาหกรรมหลัก เข้าใจว่าใครได้ ใครเสีย จากการเปิดหรือปิดตลาด เพื่อให้การเจรจาเป็นธรรมและเป็นจริง
-ทีมเศรษฐศาสตร์และยุทธศาสตร์: นักคิด นักวิเคราะห์ ที่สามารถมองออกไปข้างหน้า วางแผนรุกในตลาดใหม่ หรือเปลี่ยนตำแหน่งประเทศไทยในห่วงโซ่คุณค่าโลก

ที่สำคัญจะต้องคิดถึงนโยบายเยียวยากลุ่มที่อาจถูกกระทบจากการเจรจาด้วย เพราะการยื่นหมูยื่นแมว ย่อมอาจมีฝ่ายเสียประโยชน์ในประเทศ โดยเฉพาะSMEและกลุ่มคนเปราะบาง 

2.อยู่เป็น – สิ่งที่ต้องทำเพื่อปรับตัวให้เท่าทันศึกที่ยังไม่จบ

แม้จะตั้ง War Room และเจรจากับสหรัฐฯแล้ว เรายังต้อง “ระวังอาฟเตอร์ช็อก” ที่ตามมาอีกหลายระลอก ทำให้ต้องอยู่กับความไม่แน่นอน

-นโยบายสหรัฐอาจเปลี่ยนอีกหลายครั้ง รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆด้วย เช่น อย่าเพิ่งคิดว่าประเทศคู่แข่งโดนภาษีสูงกว่าเรา เพราะพอเขาเจรจาแล้วภาษีก็อาจเปลี่ยนอีกได้เสมอ  

-เตรียมการสื่อสารเตือนภัยอย่างเป็นระบบ (early warning) เป็นกระบอกเสียงเดียวจากรัฐบาลให้กับภาคเอกชนเพื่อให้รู้ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่อีกไม่ว่าจะจากสหรัฐหรือที่อื่น 

-ต้องระวังผลกระทบทางอ้อม เช่น ประเทศอื่นๆ หาทางเทสินค้าทะลักมายังตลาดอาเซียนแทนสหรัฐ อาจมีการทำทุ่มตลาด (dumping) หรือมีเงินทุนไหลบ่าแบบ ทุนเทา (grey capital)

3.อยู่ยืน – สิ่งที่ต้องทำเพื่อรุก ฉกฉวยโอกาสจากโลกที่เปลี่ยนไปถาวร

เมื่อแผ่นดินไหวแล้ว โลกจะไม่เหมือนเดิม เราต้องมองหาภูมิประเทศใหม่ที่เหมาะแก่การเติบโต

-ร่วมมือกับประเทศอาเซียนในการเจรจาเป็นกลุ่ม ให้เสียงดังขึ้น และต่อรองได้มากขึ้น นโยบายอเมริกาคราวนี้มาเพื่อให้ประเทศต่างๆแยกกันต่างเอาตัวรอด แต่เราควรใช้โอกาสนี้พยายามรวมตัวมากขึ้นกว่าเดิม

- ร่วมกับประเทศในเอเชียและประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ สนับสนุนหลักพหุภาคี(Multilateralism)และร่วมกับญี่ปุ่นร้องเรียนยังองค์การการค้าโลก โน้มน้าวประเทศต่างๆร้องไปยังเรียนเวทีเอเปค เวทีอาเซป(RCEP) เวทีการประชุมเอเชีย(ACD) และเวทีพหุภาคีทั้งหลาย ว่ามาตรการฝ่ายเดียวของสหรัฐ ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมย์ขององค์กรเหล่านี้ เพื่อผนึกกำลังเพิ่มอำนาจกดดัน และต่อรองกับสหรัฐฯ

-หาโอกาสให้ ‘กว้าง’ ขึ้น จากประเทศนอกวงสหรัฐ-จีน หรือผมขอเรียกว่า ตลาด NUSCH (Non-US-China) เช่น อาเซียน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป หรือแม้แต่ แอฟริกา และลาตินอเมริกา ที่ต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทานใหม่ เพราะในอนาคต ตลาดใกล้ตัวเราอย่าง อินเดียและอินโดนีเซียอาจเป็นเศรษฐกิจท๊อป 5 ของโลก 

เช่น จัดประชุมอาเซป(RCEP)โดยด่วนเพื่อหารือว่า16 ประเทศที่เป็นสมาชิก ควรร่วมมือกัน เปิดตลาดการค้า การลงทุนให้กันเพื่อบรรเทาผลจาก reciprocal tariff ของสหรัฐฯอย่างไรได้บ้าง

-เปลี่ยนจากการเป็น ‘ผู้ผลิต’ ไปสู่การเป็น‘ผู้สร้าง’มูลค่า (Value) โดยสนับสนุนแบรนด์ไทย การออกแบบนวัตกรรม และการวิจัยพัฒนา ลงทุนในการสร้างคน อัพสกิลรีสกิลสำหรับอนาคต

-สร้าง ‘ทีมประเทศไทย’ หาโอกาสใหม่ ตั้งองค์กรคล้าย JETRO ของญี่ปุ่น หรือ Enterprise SG ของสิงคโปร์ ทำงานเชิงรุกในประเทศเป้าหมาย โดยมีทั้งภาครัฐ เอกชน และคนไทยในต่างแดน 

เรากำลังอยู่ในโลกที่ ‘ขั้วอำนาจการค้า’ เปลี่ยนมือ
จากยุคที่กติกาโลกค่อนข้างนิ่ง ไปสู่ยุคที่ใครมีพลังต่อรองมาก ก็ตั้งกติกาเองได้

ประเทศไทยจะไม่สามารถ ‘กัดฟันทน’ ให้สงครามการค้าโลกครั้งนี้ผ่านไปได้ เพราะศึกอาจมีหลายรอบ หลากทิศ พลิกผันและยาวนาน

จึงคิดว่าหลัก “3 อยู่”นี้น่าจะเป็นหลักคิดที่พอมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย