"แบงก์ชาติ" จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง หวั่นรายใหญ่แบกหนี้สูง

"แบงก์ชาติ" จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง หวั่นรายใหญ่แบกหนี้สูง

“แบงก์ชาติ” เปิดผลประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 67 แนะจับตา “4 ปัจจัยเสี่ยง” ที่อาจกระทบต่อ “เสถียรภาพระบบการเงิน” ห่วงความเชื่อมั่นนักลงทุนเปราะบางลง

ล่าสุด “ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) เปิดรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย 2567 โดย “ผู้บริหาร ธปท.” ระบุว่า ที่ผ่านมา ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถสนับสนุนกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และ สหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.)

โดยรวมยังมีฐานะการเงินเข้มแข็งแม้คุณภาพหนี้ด้อยลง นอกจากนี้ ระดับหนี้ ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปรับลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึง การลดหนี้ที่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ และภาคการเงินที่อาจได้รับผลกระทบจาก ปัจจัยต่างๆ ทั้งภายใน และนอกประเทศ

อาทิ นโยบายการค้า และนโยบายภาษีของประเทศต่างๆ ปัญหา เชิงโครงสร้างของบางภาคธุรกิจ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า

1.ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เปราะบาง และอ่อนไหวต่อทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกประเทศ จากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงบางภาคธุรกิจที่ยังฟื้นตัวช้า มีปัญหาเชิงโครงสร้าง และเผชิญกับการแข่งขันจากจีน

ขณะที่ความเชื่อมั่นที่เปราะบางของนักลงทุนอาจนําไปสู่การขายสินทรัพย์ ที่ทําให้ราคาปรับลดลง กระทบต่อฐานะของนักลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายย่อย

รวมถึงทําให้ต้นทุน การกู้ยืมผ่านตลาดทุน และความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกําหนดอายุ ปรับเพิ่มขึ้น โดยหากมีเหตุการณ์ที่นําไปสู่การปรับตัวลงอย่างมากของราคาสินทรัพย์ใน ต่างประเทศ จะยิ่งกระทบความเชื่อมั่น และอาจนําไปสู่การเทขาย สินทรัพย์จากความตื่นตระหนกจะส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินมาก

2.ภาวะการเงินที่อาจตึงตัวมากขึ้น และส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจ และครัวเรือน รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจระยะต่อไป โดยปี 2567 ภาวะการเงินมีความตึงตัวขึ้นสะท้อนจากสินเชื่อที่ขยายตัวระดับต่ำ และการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่หดตัว

ทั้งนี้ มีสาเหตุจากความต้องการสินเชื่อลดลง การชําระคืนหนี้ และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ยืมบางกลุ่มสูงขึ้นทําให้สถาบันการเงินระวังให้สินเชื่อแก่ผู้กู้กลุ่มนี้ โดยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านําเข้าของสหรัฐจะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการลงทุน การค้า และการแข่งขันกับสินค้าจีนที่เข้ามาในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งออกไปสหรัฐในสัดส่วนสูง และหาตลาดทดแทนได้ยาก

ห่วงความสามารถธุรกิจ-ครัวเรือนลดลง

รวมถึงธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่มีปัญหาด้านการเข้าถึง สินเชื่อและความสามารถในการแข่งขันอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงานของธุรกิจเหล่านี้ และรายได้ครัวเรือน ทําให้ความสามารถในการชําระหนี้ของภาคธุรกิจ และครัวเรือนลดลง 

ขณะที่สถาบันการเงิน และนักลงทุนมีความระมัดระวังในการให้กู้แก่ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อีกทั้งสภาพคล่องที่ลดลงของธุรกิจ และครัวเรือนจะเป็นปัจจัยกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าได้

3.บริษัทขนาดใหญ่บางรายก่อหนี้ระดับสูง (HLLCs) และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น แม้บริษัทขนาดใหญ่โดยรวมจะมีฐานะการเงินดี ซึ่งระดับหนี้ที่สูงโดยเปรียบเทียบของ HLLCs เกิดจากสถาบันการเงิน และนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการชําระหนี้ของ HLLCs ที่ส่วนใหญ่มีผลการดําเนินงานดี จึงยังไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพในระยะสั้น

อย่างไรก็ตามระดับหนี้ที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นการสะสมความเปราะบางทําให้ความสามารถรองรับความเสี่ยงของบริษัทลดลง โดยเฉพาะ HLLCs ที่มีระดับหนี้สูง มีรายได้ และความสามารถ ในการชําระหนี้ที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากจากนโยบายการค้าประเทศต่าง ๆ อาจกระทบฐานะการเงิน และการชําระหนี้ของ HLLCs บางรายแก่เจ้าหนี้ที่มีทั้งสถาบันการเงิน และผู้ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีทั้งนักลงทุนสถาบันและ บุคคลธรรมดา และอาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน และผู้ฝากเงิน

หวั่นภาคอสังหาฯ เปราะบางเพิ่ม

4.ฐานะการเงินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางรายที่ได้รับผลกระทบเพิ่มจากแผ่นดินไหวล่าสุดหลังจากภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่อง และฟื้นตัวช้าจากปี 2567 และจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และอุปสงค์อาคารชุดระยะสั้นทําให้ developer บางรายที่เน้นพัฒนาอาคารชุดเป็นหลักอาจเผชิญความเสี่ยงด้านชื่อเสียง และการระบายอุปทานคงค้าง

รวมทั้งในที่สุดจะกระทบธุรกิจระยะยาว โดย developer บางรายที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่แล้วช่วงก่อนหน้าอาจมีความสามารถชําระหนี้ลดลง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงินที่เปราะบางอยู่แล้ว ทําให้ความเสี่ยง ในระบบการเงินปรับเพิ่มขึ้นได้

ทริสเรตติ้งหั่นจีดีพีไทยเหลือ1.8%

“ทริสเรตติ้ง” ลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จาก 2.8% เป็น 1.8% เพื่อสะท้อนผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐ โดยภาษีนำเข้าของสหรัฐจะกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยผ่านดุลการค้าที่ลดลง เพราะสหรัฐเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของไทย ขณะที่การนำเข้าสินค้าของไทยยังขยายตัวจากการที่ประเทศคู่ค้าของสหรัฐรายอื่นหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนการส่งออกไปสหรัฐ

สำหรับผลกระทบทางอ้อม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มลดลงจาก 38.2 ล้านคนเป็น 36.0 ล้านคน จากตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ฟื้นตัวช้าตามเศรษฐกิจจีนที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มจากภาษีนำเข้าของสหรัฐ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว

กรุงไทยหั่นจีดีพีไทยต่ำสุดเหลือ 0.7% ปีนี้

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทยปรับประมาณการจีดีพีเศรษฐกิจไทยลง โดยมองว่ากรณีพื้นฐานหากไทยถูกขึ้นกำแพงภาษีเพิ่มเพียง 10% หลังเจรจาสหรัฐซึ่งใกล้เคียงประเทศอื่นมองว่าจีดีพีไทยจะเติบโตเพียง 2-2.2% จากประมาณการเดิม 2.7% จากยอดส่งออกที่ส่งออกไปสหรัฐลดลง ซัพพลายเชนถูกกระทบ และเศรษฐกิจทุกประเทศชะลอตัวเช่นเดียวกันจากผลกระทบนโยบายทรัมป์

กรณีร้ายแรง มองว่าหากไทยไม่ได้รับการปรับลดภาษีจากทรัมป์ทำให้ต้องจ่ายอัตราภาษี 36% เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่คาดโดนภาษี 30-50% อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนัก และเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 0.7-1.4% ในปีนี้ บนการคาดการณ์ว่าส่งออกติดลบ 2%

เศรษฐกิจไทยเราชะลอตัวต่อเนื่อง หลังโควิด-19 ยังไม่มีปีไหนที่เศรษฐกิจกลับไปโตตามศักยภาพ จากปัญหาที่เราเจอต่อเนื่อง”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์