มารู้จักไอพีโอ ‘บิ๊กซี รีเทล’ หลัง ‘เจ้าสัวเจริญ’ เสริมเสน่ห์ คืนตลาดหุ้น

มารู้จักไอพีโอ ‘บิ๊กซี รีเทล’ หลัง ‘เจ้าสัวเจริญ’ เสริมเสน่ห์ คืนตลาดหุ้น

เป็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง ในแวดวง "ธุรกิจค้าปลีก" เมื่อ "เจ้าสัวเจริญ" ส่ง "บิ๊กซี รีเทล" หวนกลับคืนตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ! หลังนำออกไปเสริมเสน่ห์เรียบร้อยแล้ว

เมื่อยักษ์ใหญ่ขยับตัวอีกครั้ง ! ถือว่าสามารถเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย... สำหรับแวดวง “ธุรกิจค้าปลีก” ของเมืองไทย หลังการกลับมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง

สะท้อนผ่านล่าสุด บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติอนุมัติให้ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) นำเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นสามัญของ BRC เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อีกครั้ง 

ส่งผลให้ปัจจุบัน “บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น” กำลังเตรียมตัวจะกลับมาติดป้าย “บริษัทมหาชน” รอบใหม่ ภายใต้ธุรกิจที่มีชื่อของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เป็นเจ้าของ และผู้ถือหุ้นใหญ่ตัวจริง ซึ่งชื่อดังกล่าวยังแข็งแกร่ง และทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้พอสมควร...

แต่รู้หรือไม่ ? ว่า BRC เคยเป็นหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้ชื่อ “หุ้น Big C” ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนที่ในปี 2559 จะถูกเข้าซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) จาก “กลุ่มทีซีซี กรุ๊ป” ในสัดส่วน 58.6% ด้วยมูลค่า 3.1 พันล้านยูโร และถูกควบรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจใน BJC ก่อนที่ในปี 2560 จะถูกนำออกจากตลาดหุ้นไทย !

ทว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2566 เกิดการขยับตัวครั้งใหญ่ของ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ภายหลังประกาศแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยจัดพอร์ตโฟลิโอใหม่ ด้วยการแยกธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งใน และต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนา และการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีก และ/หรือการค้าส่ง และธุรกิจเดิมของ Big C ทั้งหมด ให้รวมอยู่ภายใต้การบริหารงานของ “BRC”

มารู้จักไอพีโอ ‘บิ๊กซี รีเทล’ หลัง ‘เจ้าสัวเจริญ’ เสริมเสน่ห์ คืนตลาดหุ้น โดยปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 87,135,026,800 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 8,713,502,680 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ซึ่งในแผนการจะนำ BRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 29.98% ของทุนชำระแล้วทั้งหมด ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ของ BRC นั้น BJC จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ BRC จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ BJC ในสัดส่วน 70.02%

ทั้งนี้ ภายหลังการเพิ่มทุน และการออก และเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งรวมจำนวนหุ้นสามัญที่จะจัดสรรให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (หากมี) หรือจำนวนไม่เกิน 3,729,999,999 หุ้น ส่งผลให้ภายหลังการเพิ่มทุน และการเสนอขายหุ้น IPO จะมีจำนวนหุ้นรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 12,443,502,679 หุ้น

นอกจากการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่แล้ว ภายในองค์กรแห่งนี้ยังมีการปรับโครงสร้างระดับผู้บริหารสูงสุด ด้วยการแต่งตั้ง “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของ BRC

และ แต่งตั้ง “ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล” ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ BJC ซึ่งการขึ้นดำรงตำแหน่งครั้งนี้นับเป็นการแต่งตั้งผู้บริหารหญิงคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของ BJC ในรอบ 140 ปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการนำ “หุ้น BRC” หวนกลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้งนั้น คงพูดได้ว่าเป็นการกลับเข้ามาหลังแต่งตัวใหม่เสร็จแล้ว และการเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ ! จะเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับ BRC แข็งแกร่งมากขึ้นอีก

สะท้อนผ่านทิศทางแผนธุรกิจในการขับเคลื่อนองค์กร BRC สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยเป้าหมายให้ BRC คือ “บริษัทเรือธง” (Flagship Company) ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้า และการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งใน และต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีก และการค้าส่ง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มสินค้า และบริการทางค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของรายได้รวมของกลุ่ม BJC

อีกทั้ง ยังเป็นหนึ่งในช่องทางจำหน่ายสินค้าในเครือ ซึ่งครอบคลุมธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา BRC มีรายได้รวม 113,573 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 6,757 ล้านบาท และสินทรัพย์รวม 336,833 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินรวม 155,660 ล้านบาท

ดังนั้น การผลักดันบริษัทเข้ามานำระดมทุนในตลาดหุ้นในครั้งนี้ ! หากต้องการต่อยอดธุรกิจให้มีอัตราการเติบโตในอนาคต และ BRC สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว เป็นอิสระ และสามารถระดมทุนจากตลาดทุนได้ด้วยตัวเอง

รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ พร้อมช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมแบรนด์บิ๊กซี และแบรนด์อื่นๆ ในเครือ BRC ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

สอดรับกับการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นนั้น จะไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่มีช่องทางการหาเงินทุนมากขึ้น แต่จะได้เรื่องหน้าตา และความน่าเชื่อถือเต็มๆ มาตรฐานของบริษัทจะถูกยกระดับขึ้นทันที ที่สำคัญยังสามารถ “ดึงดูดพันธมิตรทางธุรกิจ” และ “ดึงดูดบุคลากร” ที่มีความรู้ความสามารถใหม่ๆ มาช่วยสร้างการเติบโต และความแข็งแกร่งให้ธุรกิจทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคในอนาคต

“การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้จะทำให้ BRC เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้กลุ่ม BJC เติบโตไปข้างหน้าภายใต้กลยุทธ์การปรับโมเดลธุรกิจไปสู่ธุรกิจชั้นนำในตลาดโลก เพื่อส่งมอบสินค้าผ่านช่องทางที่ทันสมัย และให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า และขยายสาขาบิ๊กซีเพิ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

สำหรับ เงินที่จะได้จากการขายหุ้น IPO ของ BRC คาดว่าจะนำไปใช้ลงทุนใน “การขยายธุรกิจ” ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งรวมถึงชำระหนี้บางส่วนของ BRC และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของ BRC

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์