เปิดวิชั่น ‘แม่ทัพใหญ่’ BRC ไอพีโออีกครั้ง ยก ‘จุดเด่น’ แข็งแรงกว่าเดิม

เปิดวิชั่น ‘แม่ทัพใหญ่’ BRC ไอพีโออีกครั้ง ยก ‘จุดเด่น’ แข็งแรงกว่าเดิม

เปิดวิชั่นตอกย้ำความโดดเด่นของ "บิ๊กซี รีเทล" ผ่านแม่ทัพ “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” กับภารกิจเตรียมเคลื่อนทัพธุรกิจกลับมาโลดแล่นในตลาดหุ้นอีกครั้ง ! ที่ "แข็งแกร่ง" และ "มูลค่ากิจการใหญ่" กว่าเดิม...

บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ของเจ้าของตัวจริง “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” กำลังจะกลับเข้ามาสร้าง “สีสัน” ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อีกครั้ง...! หลังเพิกถอนหุ้น (Delisting) ออกจากตลาดหุ้นไปเมื่อปี 2560 ด้วย “มูลค่าตามราคาตลาด” (Market Cap) ราว 2.1 แสนล้านบาท !! 

เดิม BRC เคยเป็นหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้ชื่อ “หุ้น Big C” ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนที่ในปี 2559 จะถูกเข้า “ซื้อกิจการ” (เทคโอเวอร์) จาก “กลุ่มทีซีซี กรุ๊ป” ในสัดส่วน 58.6% ด้วยมูลค่า 3.1 พันล้านยูโร และถูกควบรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจใน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC

“เรามีความตั้งใจที่จะนำ BRC กลับเข้ามาในตลาดหุ้นอีกครั้ง ! ซึ่ง BRC วันนี้มีความแข็งแกร่งมากกว่าในวันที่ถอนหุ้นออกจากตลาดครั้งก่อน!” 

ประโยคเด็ดของ “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ที่ฉายภาพความแข็งแรงของ “หุ้น BRC” ในวันที่พร้อมจะเข้ามาเป็นสมาชิกตลาดหุ้นไทยอีกครา....

บนความตั้งใจที่เพิกถอนหุ้นบิ๊กซีครั้งนั้น ! เพื่อเป้าหมายนำธุรกิจเสริมเขี้ยวเล็บให้แข็งแกร่ง และเติบโตมากกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายให้ BRC คือ “บริษัทเรือธง” (Flagship Company) ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้า และการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งใน และต่างประเทศ การพัฒนา และการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีก และค้าส่ง ปัจจุบันกลุ่มสินค้า และบริการทางค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของรายได้รวมของกลุ่ม BJC

สะท้อนเส้นทางการเติบโตของ BRC เริ่มปฏิบัติการในปี 2561 มีการลงทุนสร้าง และขยายศูนย์กระจายสินค้า ต่อมาในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 บริษัทขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน อาทิ สปป.ลาว และ กัมพูชา โดยมีการรีแบรนด์ M-Point Mart ในสปป.ลาว เป็น Big C Mini รวมทั้งการเปิดตัว Big C hypermarket แห่งแรกนอกประเทศไทยที่ประเทศกัมพูชา

ต่อมาในปี 2563 ซึ่งเกิดการระบาดของโควิด-19 บริษัทเปิดตัวบริการ Call-Chat-Shop และ Social Commerce ในปี 2564 มีการเปิดตัวช่องทางการจัดจำหน่ายแบบ Omnichannel และร้านค้าโดนใจ ถัดมาในปี 2565 บริษัทมีการเปิดตัวซอฟต์แวร์สำหรับใช้วิเคราะห์ข้อมูล , ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งรวมถึง Application Big C Plus , การเข้าซื้อกิจการ Kiwi Mart ในประเทศกัมพูชา และเปิดตัว MM Food Service แห่งแรกในประเทศไทย และล่าสุดปี 2566 ปรับโครงสร้างธุรกิจ และกำลังจะเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหุ้นไทย

เปิดวิชั่น ‘แม่ทัพใหญ่’ BRC ไอพีโออีกครั้ง ยก ‘จุดเด่น’ แข็งแรงกว่าเดิม ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) หลังจากยื่นไฟลิ่งไปแล้วในช่วงเดือนเม.ย. ที่ผ่าน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอการพิจารณาจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้น IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2566

โดย BRC ได้ยื่นไฟลิ่งเสนอขาย IPO จำนวนรวมไม่เกิน 3,730 ล้านหุ้น วัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน 5 ราย ได้แก่ บล.บัวหลวง , บล.กสิกรไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , บล.เกียรตินาคินภัทร และบล.ฟินันซ่า

 

 

จุดเด่นสำคัญ ! ของหุ้น BRC เป็น “ผู้นำ” ทางการตลาดในกลุ่มร้านค้าขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง และสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเป็นหนึ่งในแบรนด์ในใจของคนไทย และตอกย้ำความมั่นใจด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี !!

ขณะที่ในแผนธุรกิจ 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทยังเดินหน้าในการขยายธุรกิจทั้งใน และต่างประเทศ และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (Market share) ในไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมี Market share เป็นอันดับ 2 ที่ 18.3% รองจากอันดับ 1 ที่มี Market share 28.2% และมากกว่าอันดับ 3 ที่มี Market share 8.7% กว่า “2 เท่า” 

ถือว่ามีความท้าทาย และพร้อมผลักดัน Market share ให้เข้าใกล้คู่แข่งรายใหญ่อันดับ 1 ต่อเนื่องในทุกๆ ปี ผ่านการรีโนเวทสาขาเดิม และการเปิดสาขาใหม่ให้ครอบคลุม รวมถึงการพัฒนาโมเดลร้านค้าที่เข้ากับลูกค้าในยุคใหม่ โดยที่วางงบลงทุนไว้ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2566-2567

โดยบริษัทมีแผนขยายการลงทุนในประเทศจีน โดยกำลังเจรจากับพาร์ตเนอร์จีน โดยโมเดลธุรกิจจะเข้าไปเชื่อมโยงในด้านแพลตฟอร์มขายสินค้าผ่านออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีเงินทุนเตรียมไว้แล้วก้อนหนึ่ง ซึ่งมองการเข้าไปตลาดจีนเป็นแค่ส่วนน้อย เพราะตลาดจีนใหญ่มาก ซึ่งการขายผ่านแพลตฟอร์มถือเป็นการขยายช่องทางขายเพิ่ม 

ขณะเดียวกันบริษัทยังมองตลาดต่างประเทศเป็นโอกาสเติบโต โดยในภูมิภาคอาเซียนที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น สปป. ลาว , กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งบริษัทได้เข้าไปขยายธุรกิจแล้วทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งทั้งในลาว และกัมพูชา บิ๊กซีถือเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีก ส่วนในเวียดนาม ถือเป็นเจ้าใหญ่ในธุรกิจค้าส่ง ซึ่งได้เข้าไปถือหุ้นใน MM Mega Market เวียดนาม 

ท้ายสุด “อัศวิน” บอกไว้ว่า เรากลับมาเข้าตลาดหุ้นอีกครั้งอยากให้ทั้งนักลงทุนไทย และอาเซียนมีส่วนร่วมในการสร้างการเติบโตของ BRC ผ่านการกลับมาระดมทุนอีกครั้ง ! 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์