MTC จ่อผลงานนิวไฮ รับเศษฐกิจฟื้น-เปิดประเทศ
"เอ็มทีซี" คาดผลงานปีนี้นิวไฮ ด้าน "แบงก์ชาติ" กำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ หนุนลูกค้าเพิ่ม
พร้อมตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 30% รับเศรษฐกิจฟื้น-เปิดประเทศ
สารพัดปัจจัยกดดันรอบด้านของ “กลุ่มลิสซิ่ง” หรือ “เช่าซื้อ” ที่ต้องเผชิญในช่วงที่ผ่านมา ไล่มาตั้งแต่ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนระดับสูง เงินเฟ้อพุ่ง อัตราดอกเบี้ยเป็น “ขาขึ้น” เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และล่าสุดกับประเด็น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดความคืบหน้าเรื่องการกำกับดูแลผู้ประกอบ “ธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์” ว่า อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อการกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในส่วนที่ยังไม่มีการกำกับดูแลเป็นการเฉพาะโดยจะเปิดรับฟังถึง 31 ส.ค. ที่ผ่านมา
หนึ่งในผู้ประกอบการผู้นำสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์และนาโนไฟแนนซ์ของเมืองไทยอย่าง บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลกำไร “สูงสุด” (New High) ติดต่อกันทุกๆ ไตรมาส !
“ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า บริษัทมองประเด็นทั้งเรื่องของ หนี้ครัวเรือนสูง-ดอกเบี้ยขาขึ้น-ธปท.กำกับดูแลเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ-เงินเฟ้อ ไม่ได้มองเป็น “ปัจจัยลบ” ของบริษัท เนื่องจากปัจจุบันความต้องการ (ดีมานด์) สินเชื่อของประชาชนยังมีจำนวนมาก และในภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงทำให้ประชาชนจำเป็นต้องการเงินไปใช้จ่ายมากขึ้น
ขณะที่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็น “ขาขึ้น” อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัทนั้น บริษัท มีแผนที่จะหาแหล่งต้นทุนที่ถูกเพื่อไม่ให้ผลักภาระไปให้ลูกค้า รวมไปถึงเน้นบริการต้นทุนภายในองค์กร แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า ธปท. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่สูงมาก ซึ่งหากอยู่ในระดับ 0.25% บริษัทยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่หากปรับดอกเบี้ยสูงกว่านั้น อาจจะมีโอกาสที่บริษัทต้องโยนภาระไปให้ประชาชนเพิ่มขึ้นได้
ขณะที่ การที่ ธปท. การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น คาดว่าเพดานดอกเบี้ยใหม่น่าจะอยู่ในระดับ 28% ซึ่งบริษัทไม่กระทบอยู่แล้ว เพราะว่าปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยแค่ 22-23% เท่านั้น และปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนธุรกิจเช่าซื้อแค่ 5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม หรืออยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะกำหนดเพดานดอกเบี้ยเท่าใด ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทแต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม กลับมองว่าการเข้ามาดูแลและควบคุมอัตราดอกเบี้ยของธปท. ในทางตรงกันข้ามจะส่งผลดีต่อบริษัทมากกว่า เนื่องจาก
กฎระเบียบปฏิบัติใหม่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ หรือดีลเลอร์ที่ทำธุรกิจดังกล่าวจะต้องส่งรายงานให้ธปท. ดู และหากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ จะได้รับผลกระทบโดยลูกค้าที่เคยใช้บริการจะหันมาหาผู้ประกอบการรายอื่นแทน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ MTC มีจำนวนลูกค้ามากขึ้น ดังนั้นประเด็นเรื่องการควบคุมดอกเบี้ยของธุรกิจลิสซิ่ง จึงไม่มีผลทางลบต่อบริษัทแต่ประการใด
“เราไม่ได้รับผลกระทบหากแบงก์ชาติกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ เพราะเราคิดอัตราดอกเบี้ยแค่ 22-23% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดว่า ธปท. จะกำหนดเพดานใหม่”
“ชูชาติ” บอกต่อว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อครึ่งปีหลังยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก หลังเข้าสู่ช่วงของไฮซีซั่นของธุรกิจ หรือ เป็นฤดูของการทำการเกษตร ทำให้จะมีความต้องการให้เงินลงทุนมากขึ้น ซึ่งบริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อปีนี้ไว้ที่ 30% ประกอบกับ มีแผนขยายสาขาเพิ่มเติมอีก โดยคาดว่าปลายปีนี้จะมีสาขาอยู่ที่ 6,500 สาขา จากไตรมาส 2 ปี 2565 มีสาขาอยู่ที่ 6,475 สาขา และในปี 2566 จะมีสาขาเป็น 7,000 สาขา
ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อน่าจะปรับตัวขึ้นไปแตะ “ระดับ 1.2 แสนล้านบาท” ตามเป้าหมายที่วาง ขณะที่บริษัทยังคงเป้าหมายในระยะยาวโดยภายในปี 2569 บริษัทยังคงเชื่อมั่นว่าพอร์ตสินเชื่อจะเติบโตทะลุ “2 แสนล้านบาท” ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับ 2 ธุรกิจใหม่ คือ เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ เจาะกลุ่มฐานลูกค้าเดิมกว่า 4 ล้านราย ยังมีความต้องการรถจักรยนต์ใหม่อีกมาก และยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ใหม่ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้างเติบโต “เท่าตัว” แตะ 10,000 ล้านบาท
อีกธุรกิจใหม่ คือ เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ (MTPL) ที่ให้บริการ “ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง” ปัจจุบันธุรกิจมีการเติบโตที่ดี โดยลูกค้าต้องการสินค้าและบริษัทจะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 17-18%
ส่วนแนวโน้ม “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) ไตรมาส 3 ปี 65 จะปรับตัวขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 65 ที่อยู่ที่ระดับ 1.96% และ จะปรับตัวขึ้นสูงสุดในไตรมาส 4 ปี 65 ก่อนปรับตัวลงในช่วงปลายปีนี้เป็นไปต้นไป ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น เป็นไม่ได้ที่ NPL บริษัทจะไม่ปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในอนาคตจะมีปัจจัยหนุนจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 5-8% เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้น โดยจะส่งผลดีต่อกลุ่มประชากร และ ลูกค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะปรับเกณฑ์การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุม NPL ไม่ให้สูงขึ้นไป รวมถึงมั่นใจว่า จะสามารถติดตามหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยปกติบริษัทจะติดตามหนี้ได้ถึง 30-40% ของ NPL ที่มีอยู่ด้วยสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ
“NPL จะลดลง ประมาณปลายปีนี้เป็นต้นไป และ กำไรก็จะกลับมาดีขึ้น จากปัจจัยบวก เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และ การเปิดประเทศ ซึ่งจะหนุนการจับจ่ายใช้จ่ายของประชากร”
ท้ายสุด “ชูชาติ” บอกไว้ว่า แม้กลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่งจะมีความเสี่ยงการกำกับระบบปล่อยสินเชื่อ การปฏิบัติงาน และการควบคุม แต่มองว่าไม่กระทบผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากทุกรายดำเนินงานตามกฎเกณฑ์อยู่แล้ว