"เบทาโกร" รุกขยายธุรกิจต่างประเทศ ดันรายได้โต

"เบทาโกร" รุกสยายปีกสู่ต่างประเทศ เล็งนำเงินระดมทุนขยายธุรกิจ ดันรายได้โตก้าวกระโดด คาด “หุ้นไอพีโอ” เข้าเทรดไตรมาส 4 ปี 65
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “อาหาร” คือ หนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ! และกำลังส่งผลบวกต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่อย่าง บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG ผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรรายใหญ่ โดยเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5.0 บาทต่อหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด คาดเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ภายในไตรมาส 4 ปี 2565
“เบทาโกร” ก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 โดยเป้าหมายขององค์กรแห่งนี้ ! เพื่อเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำ ด้วยการสร้างการเติบโตใหม่ครั้งใหม่... ในฐานะ “บริษัทมหาชน” แม่ทัพใหญ่อย่าง “วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า การนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ! จะไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่มีช่องทางการหาเงินทุนมากขึ้น แต่จะได้เรื่องหน้าตา และมาตรฐานของบริษัทจะถูกยกระดับขึ้นทันที ที่สำคัญยังสามารถสร้างแบรนด์ และลงทุนในธุรกิจอาหารใหม่ๆ เพิ่มอีกด้วย และสร้างโอกาส New S-Curve เพื่อเป้าหมายเป็นบริษัทชั้นนำ
โดยบริษัทมีเป้าหมายการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นในครั้งนี้ ! เพื่อปลดล็อก และสร้างการเติบโตอย่างโดดเด่น สะท้อนผ่านเงินระดมทุนนำไปขยายธุรกิจประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.เป็นเงินทุนในการซื้อ ก่อสร้างฟาร์ม โรงงานใหม่ เช่น การลงทุนในโรงงานอาหารสัตว์ฟาร์ม โรงชำแหละสัตว์ การลงทุนในโรงงานอาหารสัตว์ฟาร์ม และโรงชำแหละสัตว์ในประเทศกัมพูชา ,สปป. ลาว และ เมียนมา เป็นต้น 2.ชำระหนี้ระยะสั้น และระยะยาว และ 3.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
“การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น เชื่อว่าจะช่วยเร่งให้เราปรับตัว และเพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพการเติบโตได้รวดเร็วขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาเรามีอัตราการโตเฉลี่ย 10%อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นช่วงสถานการณ์โควิด 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตเฉลี่ยระดับ 6-7%”
โดย ณ ปัจจุบัน BTG แบ่งธุรกิจหลักของบริษัท ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจเกษตร ผลิต และจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์และเวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ อุปกรณ์และเครื่องมือฟาร์ม รวมถึงการให้บริการห้องปฏิบัติการ 2. กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน ผลิตและจำหน่ายเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และปลา การแปรรูปเนื้อสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์ปรุงสุก ผลิตภัณฑ์กึ่งปรุงสุก ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ผลิตภัณฑ์พลอยได้ และโปรตีนทางเลือก
“วสิษฐ” บอกต่อว่า บริษัทมีเป้าหมายธุรกิจมุ่งเน้นนำสัตว์เป็นมาแปรรูปเป็นสินค้าปลายทางเป็น “อาหาร-สร้างแบรนด์-ช่องทางการจัดจำหน่าย” ซึ่งธุรกิจในกลุ่มอาหารถือว่าทิศทางยังเติบโตได้อีก “มหาศาล” เนื่องจากกลุ่มอาหารยังขยายตลาดทั้งในธุรกิจเดิมและขยายออกสู่กลุ่มอาหารในรูปต่างๆ ได้อีกหลากหลายโปรดักส์ที่เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งในเมืองไทยถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว
ดังนั้น บริษัทกำลังขยายโมเดลธุรกิจดังกล่าวออกสู่ “ต่างประเทศ” มากขึ้นจากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 5% เท่านั้น สะท้อนผ่านบริษัทกำลังศึกษากลับเข้าไปลงทุนใหม่ในประเทศเมียนมาอีกครั้งหลังจากระงับการลงทุนไปเมื่อ 3 ปีก่อน หลังเมียนมามีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำลังดูรูปแบบการลงทุนร่วมกับ “พาร์ตเนอร์” จะลงทุนเช่นไร คาดว่าปี 2566 จะมีความชัดเจน
ขณะที่ในประเทศกัมพูชา บริษัทจะมีการลงทุนสร้างโรงงานอาหารสัตว์ ส่วน สปป.ลาว จะลงทุนโรงงานสัตว์และแปรรูป คาดว่าจะมีความชัดเจนและก่อสร้างในต้นปี หรือกลางปีหน้า และเดินเปิดดำเนินการได้ในกลางปีหรือปลายปี 2567 ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศ บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอยู่แล้ว
ทั้งนี้ BTG ในประเทศไทย บริษัทมีแผนที่จะสร้างโรงงานอาหารสัตว์แห่งใหม่และปรับปรุงโรงงานอาหารสัตว์ที่มีการดำเนินการอยู่เดิม เพื่อขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์ให้ถึง 5.5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2569รวมถึงมีแผนสร้างโรงชำแหละแห่งใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตสุกรเป็น 4.8 ล้านตัวต่อปี ภายในปี 2569 เช่นเดียวกัน
ด้านไก่มีแผนขยายกำลังการผลิตของโรงชำแหละไก่เนื้อรวมเป็น 270 ล้านตัวต่อปี เพิ่มกำลังการผลิตอาหารแปรรูปเป็น 149,000 ตันต่อปี เพิ่มกำลังการผลิตสัตว์แปรรูปของบริษัทเป็น 74,000 ตันต่อปี และขยายกำลังการผลิตไข่ไก่ทั้งหมดของบริษัทเป็น 1,700 ล้านฟองต่อปี ภายในปี 2569
สำหรับ ผลิตภัณฑ์ที่วางขายภายใต้แบรนด์ของบริษัท ประกอบด้วย แบรนด์ BETAGRO และ S-Pure สำหรับเนื้อสัตว์อนามัย เนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารแปรรูป , แบรนด์ ITOHAM ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเกรดพรีเมียม , แบรนด์ betagro Balance และ MASTER ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ แบรนด์ Better Pharma และ Nexgen ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์
ท้ายสุด “วสิษฐ” บอกไว้ว่า เรายังได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา ศูนย์นวัตกรรมการเกษตร ศูนย์นวัตกรรมอาหาร และศูนย์นวัตกรรมสัตว์เลี้ยงเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ และเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Operating Efficiency) ของบริษัทให้สร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์