ธุรกิจการเงิน-ลงทุน เดินหน้า เร่งเครื่อง ‘กรีนไฟแนนซ์’ เป็นรูปธรรม
“ตลท. - เอชเอสบีซี ” ปั้นแพลตฟอร์ม หนุนลงทุนยั่งยืน สู่เป้าหมายเน็ตซีโร่ “กสิกรไทย” แนะ “กรีนไฟแนนซ์-บลูไฟแนนซ์” ยังต้องมีเกณฑ์ชี้วัดชัดเจน เอื้อธุรกิจทุกระดับเข้าถึงแหล่งเงินทุน “บีกริม” หวังทุกภาคส่วนช่วยกัน กำหนดมาตรฐานใหม่ ขับเคลื่อนกรีนไฟแนนซ์เป็นรูปธรรม
งาน “Sustainability Expo 2022” ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก”(Sufficiency for Sustainability) เพื่อสร้างความสมดุลความยั่งยืนให้ตัวเองและโลก ในเสวนาหัวข้อ “Green Finance" โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และภาคเอกชน มาให้มุมมองความสำคัญในการขับเคลื่อนสู่กรีนไฟแนนซ์
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ความยั่งยืน (sustainability) มองว่าน่าจะเป็นจุดขายของประเทศไทย ซึ่งตลาดหุ้นไทย ติด 1 ใน 10 ของโลก ที่มีการรายงานความยั่งยืน
รวมทั้ง ตลท. ยังมุ่งพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถสร้างความยั่งยืนของตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ตลท. ได้พัฒนาระบบจัดการข้อมูลความยั่งยืนครั้งแรกของตลาดทุนไทย หรือ แฟลตฟอร์ม ESG Data Platform ที่จะเข้ามาเป็นกลไกเชื่อมต่อธุรกิจและการลงทุนที่ยั่งยืนโดยเปิดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (บจ.) จัดทำและนำส่งข้อมูล ESG ผ่านระบบ SET Link ตั้งแต่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา
พร้อมกับเพิ่มศักยภาพการใช้งานครื่องมือ เช่น ESG Rating , Green Rating , ดัชนี SETTHSI ที่จะช่วยสะท้อนความยั่งยืนของ บจ. ทำให้ บลจ. สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้ลงทุนใช้ประโยชน์ศึกษาข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้
นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย หรือ HSBC กล่าวว่า ปริมาณสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนทั่วโลกเติบโตขึ้น 180% อยู่ที่ 722 พันล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นในยุโรป 50% อเมริกาเหนือ 30% และเอเชียแปซิฟิกน้อยกว่า 15%
ด้านเงินกู้พันธบัตรที่ยั่งยืนทั่วโลก เติบโต 90% อยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งในเอเชียครองสัดส่วน 25% และมีการประมาณการว่าสามารถเติบโตได้ 6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2573 ทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและช่วยให้มุ่งสู่ Net Zero ได้จริง ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือในระดับโลก
อย่างเช่น HSBC ร่วมกับบริษัท Temasek ของสิงคโปร์ ปล่อยแพลตฟอร์ม Pentagreen Capita เพื่อการจัดหาเงินกู้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน และได้รับการออกแบบมาช่วยเติมเต็มช่องว่างเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะลงทุนในโครงการคาร์บอนเครดิตที่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
“แม้ข้อมูลระบุว่า 140 ประเทศทั่วโลกครอบคลุมการปล่อยมลพิษทั่วโลกที่มีเป้าหมายเป็นศูนย์ แต่จริงๆ แล้วมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนที่ชัดเจน และมีเพียง 20 บริษัท จาก 2,000 บริษัทใหญ่ที่สุดในโลก ที่ได้ออกความมุ่งมั่นเกี่ยวกับ Net Zero”
ดังนั้น ความท้าทาย คือ การเริ่มต้นอย่างจริงจัง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ให้ทุกธุรกิจควรปรับตัวเข้าหานโยบาย เพื่อสนับสนุนสินเชื่อและพันธบัตรที่สร้างแรงจูงใจในธุรกิจที่ใช้คาร์บอนจำนวนมากเพื่อเปลี่ยนสู่การลงทุนรูปแบบกรีนไฟแนนซ์
นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวว่า “กรีนไฟแนนซ์” กำลังเริ่มต้นเกิดขึ้นในประเทศไทย สะท้อนภาพรวมการออกพันธบัตร ESG ในประเทศไทย เติบโตสูงถึง 166% ในปี 2564 มีมูลค่า 62,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 มีมูลค่า 23,600 ล้านบาท ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะเดียวกันเพื่อผลักดันให้ “กรีนไฟแนนซ์” เติบโตก้าวไปข้างหน้า มองว่าโจทย์สำคัญ คือ ยังต้องมีเกณฑ์ที่จะชี้วัดสำหรับกรีนไฟแนนซ์ หรือบลูไฟแนนซ์ที่ชัดเจน เพื่อทำให้ธุรกิจทั้งกลุ่มบริษัทใหญ่ กลาง และเล็ก มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันพบว่าธุรกิจยังมีความต้องการเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก
โดยทางธนาคารพร้อมสนับสนุนให้ Green Ecosystem เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เพื่อให้พวกเราทุกคนร่วมมือกันทำให้เป้าหมายการเป็น Net Zero ของประเทศไทยเกิดขึ้นได้
นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชี บริษัท บี. กริมเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยหลักการความยั่งยืนกว่า 144 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม มองว่า การขับเคลื่อนกรีนไฟแนนซ์ เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เนื่องจากเรากำลังพูดถึงการเงินที่ไม่สามารถจับต้องได้ให้กลายเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่เพียงแต่ในแง่ของธุรกิจเท่านั้น ทั้งทางสังคม องค์กร และสิ่งแวดล้อม ต้องรวมช่วยกันเพื่อกำหนดมาตรฐานใหม่