‘หุ้นไฟแนนซ์’มีหนาว! 'ออมสิน'ปล่อยกู้พีโลน-กดดอกเบี้ยต่ำ
เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก หลัง “ออมสิน” แบงก์รัฐเพื่อสังคม ประกาศกระโดดเข้าสู่ธุรกิจนอนแบงก์อย่างเต็มรูปแบบ โดยเตรียมยื่นขอไลเซนส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้นปีหน้า และตั้งเป้าเริ่มธุรกิจภายในปลายไตรมาส 3 หรือ ต้นไตรมาส 4 ปี 2566
นำร่องด้วยการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) ผ่านแอพพลิเคชั่น MyMo พร้อมงัดหมัดเด็ดคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด 5% จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25% หวังช่วยรายย่อยที่ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยโหด
โดยธนาคารจะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ เปรียบเสมือนแบรนด์ที่ 2 ของออมสิน (2nd Brand) ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ใช้คนน้อย จ้างคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น
โครงสร้างของบริษัทใหม่ดูไว้หลายรูปแบบ เช่น บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ถือหุ้น 100%, ออมสิน ถือหุ้น 49% และมีที่ มีเงิน ถือหุ้น 51% หรือ ออมสิน ถือหุ้น 49% และพาร์เนอร์อื่น ถือหุ้น 51%
นอกจากนี้ ยังเปิดตัวบริการใหม่สินเชื่อ “MyMo My Credit” วงเงิน 1,000-2,000 ล้านบาท เจาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แรงงานนอกระบบ และมนุษย์เงินเดือนที่จำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชั่น MyMo โดยไม่ต้องใช้เอกสารหรือหลักประกันใดๆ
เนื่องจากธนาคารจะนำข้อมูลการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้ามาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ (Alternative Credit Score) แทนการวิเคราะห์รายได้ โดยกำหนดวงเงินกู้คนละ 10,000-30,000 บาท ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของออมสินสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งอุตสาหกรรม เล่นเอาเพื่อนๆ ร่วมธุรกิจ ร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน เพราะจัดหนักจัดเต็มเหลือเกิน ยิ่งเป็นแบงก์รัฐยิ่งหน้าเชื่อถือ ประกอบกับฐานทุนที่แข็งแกร่งยิ่งทำให้ได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นๆ ใครปรับตัวไม่ทันมีโอกาสถูกฉกลูกค้าแน่นอน
สำหรับกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเห็นจะเป็นบริษัทที่มีฐานสินเชื่อบุคคลเป็นลูกค้าหลักเพราะเป็นตลาดที่ออมสินกระโดดลงมาแข่งโดยตรง ซึ่งหากอิงข้อมูลจากบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) พบว่า บริษัทที่มีสัดส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลต่อรายได้รวมจากมากไปน้อย ได้แก่
บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS 49%, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC 39%, บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC 11% และบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD 7% ส่วนบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ไม่มีการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล
ล่าสุด หลายบริษัทเริ่มออกมาเคลื่อนไหว เช่น SAWAD มองว่าการที่ธนาคารเริ่มหันมาทำธุรกิจนอนแบงก์ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันสินเชื่อส่วนบุคคลมีสัดส่วนน้อยที่สุดเพียงแค่ 6% ของพอร์ตสินเชื่อรวม โดยขณะนี้บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้านและที่ดินเป็นหลัก
การรุกตลาดนอนแบงก์ของออมสินครั้งนี้ถือว่ามาถูกจังหวะ หลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มคึกคัก ส่งผลให้มีความต้องการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น
นอกจากสินเชื่อส่วนบุคคลแล้ว ออมสินยังแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ก่อนหน้านี้ จับมือ SAWAD เปิดตัว “บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด” รุกธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ กดดอกเบี้ยต่ำฮวบจนคู่แข่งค้อนมาแล้ว นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP และบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH จัดตั้ง “บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด” รุกธุรกิจสินเชื่อที่ดิน- ขายฝาก
ด้าน บล.ดาโอ ระบุว่า ผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายอื่นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากออมสินจะปล่อยสินเชื่อ Digital lending ที่ใช้เอกสารทางเลือก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก ธปท. เพียง 9 ราย ทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อในระบบยังน้อย
ประกอบกับฐานลูกค้าต่างจากผู้ประกอบรายอื่น เนื่องจากเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีรายได้ไม่ประจำหรือเป็นแรงงานนอกระบบ ต่างจาก AEONTS และ KTC ที่จะให้สินเชื่อกับผู้ที่มีเงินเดือนประจำ