ฟื้น "ช้อปดีมีคืน" หุ้นไหนได้รับประโยชน์
กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วที่ทุกๆ ปี รัฐบาลจะออกชุดมาตรการเศรษฐกิจเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งปีนี้ก็เช่นกันในการประชุม ครม. ล่าสุด นายกฯ สั่งการให้ทุกกระทรวงไปเฟ้นหาของขวัญมาเสนอ
ซึ่งอาจเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพของประชาชนก็ได้ โดยจะต้องเสนอกลับมาให้ ครม. พิจารณา ภายในเดือน พ.ย. นี้ เพื่อออกเป็น “บิ๊กแพ็คเกจ” อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยยังคงเน้นชุดมาตรการเดิมที่เคยนำมาใช้ก่อนหน้านี้ เน้นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มให้ตรงเป้าหมายมากที่สุด
เช่น “คนละครึ่ง” ซึ่งที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากๆ กลายเป็นมาตรการขวัญใจคนไทย ปัจจุบันเฟสที่ 5 กำลังจะจบลงสิ้นเดือน ต.ค. นี้ เชื่อว่าคงจะขยายเฟส 6 ต่อทันที ส่วนอีกมาตรการที่หลายฝ่ายเรียกร้อง “ช้อปดีมีคืน” แว่วว่าจะคัมแบ็กเช่นกัน โดยสามารถนำรายจ่ายจากการชอปปิงมาลดหย่อนภาษีได้
โดยมีข่าวสะพัดว่าครั้งนี้จะให้วงเงินลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30,000 บาทเท่ากับช่วงต้นปีที่เคยมีมาตรการออกมาแล้วรอบหนึ่ง แต่ที่พิเศษกว่านั้น คือ จะครอบคลุมค่าที่พักด้วย เพื่อสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศรับช่วงไฮซีซัน ซึ่งหากข่าวนี้เป็นจริงถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมในประเทศ
ที่ผ่านมา “ช้อปดีมีคืน” หรือในชื่อเดิม “ช้อปช่วยชาติ” ถูกนำมาใช้แล้วหลายครั้ง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มมนุษย์เงินเดือนและผู้มีกำลังซื้อที่อยู่ในระบบฐานภาษี แม้จะทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี แต่ก็จะมีเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของประชาชนสะพัดลงสู่ระบบเศรษฐกิจเข้ามาชดเชย
โดยบล.เอเซีย พลัส เคยประเมินไว้ เช่น ในปี 2558 มีการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. รวม 7 วัน ให้สิทธิลดหย่อนภาษี 15,000 บาท ส่งผลให้มีเงินสะพัดรวม 9,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษี 1,200 ล้านบาท
ปี 2559 ระหว่าง 14-31 ธ.ค. รวม 18 วัน ให้สิทธิลดหย่อน 15,000 บาท เงินสะพัดรวม 17,000 ล้านบาท รัฐสูญรายได้ 1,800 ล้านบาท มาปี 2560 เริ่ม 11 พ.ย.-3 ธ.ค. รวม 23 วัน ให้สิทธิ 15,000 บาท โดยมีเงินสะพัดรวม 22,500 ล้านบาท ในขณะที่รัฐสูญรายได้ภาษีรวม 2,000 ล้านบาท
ต่อมาปี 2561 เพิ่มเวลาใช้สิทธิเป็น 1 เดือน ตั้งแต่ 15 ธ.ค.-15 ม.ค. 2562 สิทธิลดหย่อนเท่าเดิม 15,000 บาท เงินสะพัดรวม 12,000 ล้านบาท รัฐสูญรายได้ 1,600 ล้านบาท และในปี 2563 ขยายสิทธิลดหย่อนเพิ่มเป็น 30,000 บาท ให้ใช้จ่ายระหว่าง 23 ต.ค.-31 ธ.ค. ส่งผลให้มีเงินสะพัดมากถึง 111,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี 14,000 ล้านบาท
สำหรับสินค้ายอดนิยมที่ประชาชนมักช้อปเพื่อนำมาลดหย่อนภาษี ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีราคาสูงเพื่อจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น กลุ่มสินค้าไอที โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าแบรนด์เนม
ด้านบล.ดาโอ ระบุว่า โครงการช้อปดีมีคืนมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากจีดีพีครึ่งปีแรกปี 2565 อยู่ที่ 2.5% ต่ำกว่าเป้าของปี 2565 ที่ระดับ 3-3.5% ประกอบกับการใช้จ่ายในประเทศเริ่มชะลอตัวลงจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและทรงตัวในระดับสูง จึงน่าจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม
ประเมินว่าโครงการช้อปดีมีคืนอาจเริ่มในต้นปี 2566 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจมีโอกาสเกิดภาวะถดถอย และเป็นการกระจายมาตรการลดหย่อนภาษี หลังเมื่อช่วงต้นปี 2565 ได้มีการดำเนินโครงการไปแล้วรอบหนึ่ง
โดยสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าลักชัวรี่น่าจะได้รับความสนใจมากที่สุดเมื่อมีมาตรการออกมา คาด HMPRO และ COM7 จะได้รับประโยชน์มากที่สุดในกลุ่ม รวมทั้ง CRC ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง (Mid-to-High Income)
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจะครอบคลุมค่าห้องพักด้วยนั้น หากเกิดขึ้นจริงจะช่วยกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซัน โดยหุ้นในกลุ่มโรงแรมที่จะได้รับผลบวกจากข่าวดังกล่าวจากมากไปน้อยเรียงตามสัดส่วนรายได้ในประเทศไทย ได้แก่ ERW, CENTEL, MINT, SHR