หุ้น Meta ร่วงแรงสะเทือนพอร์ตกองทุน เร่งปรับพอร์ตหันถือ Apple-Microsoft แทน
นับตั้งแต่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอแห่งเฟสบุค เปลี่ยนชื่อเป็น เมตา (Meta) อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นการประกาศตัวเข้าสู่โลกธุรกิจเมตาเวิร์สอย่างเป็นทางการ และสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก
แต่หลังจากนั้น Meta ก็ต้องประสบกับข่าวร้ายมาเรื่อย ๆ เพราะดูเหมือนว่า เมตาเวิร์ส ยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกเท่าที่ควรนัก
กระทั่งล่าสุดผลประกอบการในไตรมาสที่ 3/2565 ที่ประกาศออกมามีรายได้รวม 27,714 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2564 มีรายได้รวม 29,010 ล้านดอลลาร์ เท่ากับลดลง 1,296 ล้านดอลลาร์ หรือปรับลดลงราว 4.47%
ขณะที่หุ้นเมตานับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันร่วงลงมาแล้วราว 70%เคลื่อนไหวที่ระดับ 97 ดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2016
ถ้าดูกระแสความสนใจของผู้คนที่มีต่อโลกเมตาเวิร์ส ปัจจุบันดูจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ โดย เดอะ แซนด์บ็อกซ์ (The Sandbox) และดีเซนทราแลนด์ (Decentraland) แพลตฟอร์มเมตาเวิร์สชื่อดังระดับโลก ที่มีมูลค่าหลักหลายหมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดกลับมีผู้ใช้งานไม่ถึง 1,000 คนต่อวัน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งกระทบมายังกองทุนรวมเมตาเวิร์ส และกองทุนที่มีการลงทุนหุ้นเมตาไม่ใช่น้อย
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า รายได้หุ้น Meta ที่ลดลงจากปีที่แล้วจำนวนมาก สาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ค่าเงินดอลลาร์ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้ค่าโฆษณา อีกประเด็นของหุ้น Meta คือการลงทุนในธุรกิจ Metaverse ที่ค่อนข้างสูงและยังคาดการณ์ได้ยากว่าจะเริ่มสร้างผลกำไรเมื่อใด แม้ว่าทางผู้บริหารจะมีแนวทางการลงทุนที่จะยังทำให้อัตรากำไรเติบโตได้ก็ตาม
อย่างไรก็ตามในส่วนของ ฟีเจอร์ Reel นั้น ปัจจุบันเริ่มมีผู้ใช้งานมากขึ้นและเริ่มมีสัญญาณที่จะสร้างรายได้ให้กับบริษัท และบริษัทกำลังลงทุนพัฒนาระบบการวัดผลการโฆษณาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ปัจจุบันกองทุนที่ลงทุนใน meta มักจะอยู่ในกลุ่มหุ้นสหรัฐที่เป็นกองทุน passive สำหรับกรณีกองทุน active นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกองทุน ซึ่งจะมีน้ำหนักการลงทุนแตกต่างกันไปหรืออาจไม่มีการถือหุ้น meta เลยก็ได้ โดยผู้ลงทุนสามารถดูรายละเอียดของกองทุนได้ในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม
นายอิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ดาโอ จำกัด เปิดเผยว่า คอนเซ็ปด้านเทคโนโลยีของอนาคตยังเป็นไปในทิศทางดังกล่าว แต่ว่ามันอาจจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าที่วิชันของผู้ที่บุกธุรกิจประเภทเมตาเวิร์สจะเป็นความจริงได้ เพราะฉะนั้นก่อนหน้านี้ที่ฮือฮาว่า เมตาเวิร์สจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งส่วนตัวคิดว่า น่าจะต้องใช้เวลาในกลุ่มเทคอีก 10 ปีข้างหน้า เมตาเวิร์สก็คงจะมีบทบาทจริง ๆ ซึ่ง ณ ตอนนี้อาจจะยังเร็วเกินไป บวกกับที่ผ่านมา ตั้งแต่สหรัฐฯ มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หุ้นเหล่านี้ในบางบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ยังติดลบ ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงเทขายค่อนข้างเยอะ
“ในธีมเมตาเวิร์ส ถือเป็นเรื่องใหม่ของการลงทุน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน ขณะที่เฟสบุ๊คเองก็ถูกผู้ถือหุ้นกดดันในเรื่องของการทุ่มทุนการทำวิจัยเมตาเวิร์สมาก ขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการยังมีไม่มาก บวกกับเรื่องอุปกรณ์อีโคซิสเต็มที่จะไปเชื่อมต่อกับคนอื่นก็ยังไม่สามารถเห็นภาพที่ชัดเจนได้ ดังนั้นแล้วนักลงทุนต้องเน้นการลงทุนระยะยาว เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีในอนาคต”
นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แลนด์ แลนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund เปิดเผยว่า กระแสเมตาเวิร์ส ณ เวลานี้ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางลบ แต่ถือว่า เป็นเทรนด์ในอนาคตที่สามารถมีการเติบโตได้ แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร บวกกับช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีการปรับขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนประเภทใดต่างก็ได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น แต่จะมากหรือน้อยต้องดูแต่ละประเภทของธุรกิจไป ซึ่งในส่วนของเมตาเวิร์สคาดว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดีได้หลังจากปี 2567 ไปแล้วก็จะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ เพราะเมตาเวิร์สถือเป็นช่องทางการตลาดใหม่ที่หลายธุรกิจต่างก็ให้ความสนใจ
จากการสำรวจ morningstarthailand ณ วันที่ 26 ต.ค.65 พบว่า กองทุน Metaverse มีด้วยกัน 2 กองทุนได้แก่ กองทุนเปิด M-META ของบลจ.เอ็มเอฟซี ผลตอบแทนตั้งแต่ต้น -49.72% โดยเข้าไปลงทุนในหุ้น META สัดส่วน 7.05% ขณะที่กองทุนเปิด วรรณ เมตาเวิร์ส อิควิตี้ เพิ่งได้เปิดขายเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (14 - 22 ก.พ. 65) เน้นลงทุนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ METAVERSE หรือ VIRTUAL PLATFORM และ SOCIAL MEDIA ที่เกี่ยวข้องกับ COMMUNICATION SERVICES ปัจจุบันยังไม่มีการเผยแพร่ผลการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้หากย้อนไปประมาณ 1 ปี ข้อมูลจาก morningstarthailand ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 พบว่า มีกองทุนหุ้นต่างประเทศในสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนใน META อยู่หลายกองทุนไม่ว่าจะเป็น TMBUSBLUECHIP เข้าไปถือ META ในสัดส่วนง 7.61%, กองทุน KT-US-A ถือ META ในสัดส่วน 6.11%, กองทุน SCBLEQ-SSF ถือ META ในสัดส่วน 2%, กองทุน KKP PGE-H-SSF ถือ META ในสัดส่วน 1.12%, และกองทุน TMBGQGRMF ถือ META ในสัดส่วน 2.46%
แต่ ณ ปัจจุบันกองทุนดังกล่าวได้ปรับสัดส่วน META ออกไปหมดแล้ว แต่ยังคงเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในหลักทรัพย์อื่นแทน อาทิ แอปเปิ้ล หรือไมโครซอฟแทน