เจาะพอร์ต ตระกูล 'แต้ไพสิฐพงษ์' หุ้นใหญ่ เบทาโกร มั่งคั่งเฉียด 3 หมื่นล้าน
คนในตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ ผู้ถือหุ้น BTG ด้วยกัน 6 ราย กับ 1 บริษัท รวมกันราว 776.07 ล้านหุ้น ทำให้คนในตระกูลก้าวขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีหุ้นหน้าใหม่ของไทยได้อย่างสบาย ด้วยมูลค่าพอร์ตรวมกันเฉียด 3 หมื่นล้าน
ผ่านพ้นไปเกือบสัปดาห์ของการเข้าเทรดหุ้นน้องใหม่เบทาโก หุ้นใหญ่ที่สร้างความผิดหวังให้แก่นักลงทุนรายย่อยเป็นอย่างมาก ด้วยคาดหวังไว้สูงกับหุ้นอุตสาหกรรมการเกษตรที่ครบวงจรรายใหญ่รายหนึ่งของไทย
ทั้งนี้ BTG ผ่านมา 6 วัน พบว่า ราคาสูงสุดต่ำสุดอยู่ระหว่างวันของวันที่ 2 พ.ย.65 (ซื้อขายวันแรก) สามารถทำราคาสูงสุดที่ 39.75 บาท ราคาต่ำสุด ที่ 36.25 บาท ก่อนปิดตลาดที่ 36.25 บาท ลดลงต่ำกว่าราคาจอง 40 บาท
โดยในช่วง 6 วันที่ผ่านมา พบว่า ราคายังวนเวียนขึ้นลงอยู่ที่ระดับ 36.25 - 37.75 บาท และยังไม่มีวี่แววว่าจะทะยานขึ้นสู่ระดับ 40 บาทได้ ขณะที่ราคาล่าสุด ณ วันที่ 9 พ.ย. 2565 ปิดที่ 37.75 บาท
สำหรับหุ้น BTG พบว่า คนใน ตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยกัน 6 ราย กับ 1 บริษัท รวมกันราว 776.07 ล้านหุ้น ทำให้คนในตระกูลก้าวขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีหุ้นหน้าใหม่ของไทยได้อย่างสบาย ด้วยมูลค่าพอร์ตรวมกันเฉียด 3 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 9 พ.ย.2565)
1.บริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด ถืออันดับ 1 จำนวน 634,800,000 หุ้น หรือคิดเป็น 32.81% หรือคิดเป็นมูลค่า 23,963 ล้านบาท
2.นางสาว เจนจิรา แต้ไพสิฐพงษ์ ถืออันดับ 4 จำนวน 35,352,122 หุ้น หรือคิดเป็น 1.83% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,334 ล้านบาท
3.นางสาว ปิยาภรณ์ แต้ไพสิฐพงษ์ ถืออันดับ 5 จำนวน 25,997,362 หุ้น หรือคิดเป็น 1.34% หรือคิดเป็นมูลค่า 981.40 ล้านบาท
4.นางสาว เปรมรัตน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ถืออันดับ 6 จำนวน 24,315,000 หุ้น หรือคิดเป็น 1.26% หรือคิดเป็นมูลค่า 917.89 ล้านบาท
5.นางสาว ถนอมวงศ์ แต้ไพสิฐพงษ์ ถืออันดับ 7 จำนวน 22,703,762 หุ้น หรือคิดเป็น 1.17% หรือคิดเป็นมูลค่า 857.06 ล้านบาท
6.นาง วฤษาย์ แต้ไพสิฐพงษ์ ถืออันดับ 9 จำนวน 17,142,662 หุ้น หรือคิดเป็น 0.89% หรือคิดเป็นมูลค่า 647.13 ล้านบาท
7.นาย รัชพล อัศวินวิจิตร (เป็นลูกของ อัญชนา ที่เป็นลูกสาวคนโตของชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ผู้บุกเบิกเบทาโกร) ถืออันดับ 10 จำนวน 15,762,014 หุ้น หรือคิดเป็น 0.81% หรือคิดเป็นมูลค่า 595.01 ล้านบาท
มูลค่าหุ้น ณ วันที่ 9 พ.ย.2565 รวมกันทั้ง 7 คนในตระกูล อยู่ที่ 2.92 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่า เจ้าสัวชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเบทาโกร เข้าถือหุ้นอยู่ 2 หลักทรัพย์คือ
- บริษัท ออลล่า จำกัด (มหาชน) หรือ ALLA เป็นผู้ถือหุ้นลำดับ 5 จำนวน 4,500,000 หุ้น หรือ 0.75% หรือคิดเป็นมูลค่า 6.25 ล้านบาท (ราคา ณ วันที่ 9 พ.ย. 65 ปิดที่ 1.39 บาท)
- บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HARN เป็นผู้ถือหุ้นลำดับ 7 จำนวน 15,920,000 หุ้น หรือ 2.72% หรือคิดเป็นมูลค่า 34.38 ล้านบาท (ราคา ณ วันที่ 9 พ.ย. 65 ปิดที่ 2.16 บาท)
รวมกัน 2 หลักทรัพย์ มีมูลค่าทั้งสิ้น 40.64 ล้านบาท
สำหรับจุดเริ่มต้น BTG ต้องย้อนไปเมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จากธุรกิจโรงสีเล็ก ๆ ริมแม่น้ำป่าสัก ที่ปากเพรียว สระบุรี ด้วยกำลังการสีเพียงวันละ 20 เกวียน ภายใต้การบริหารของ ชัยวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 1 ของ แต้ไพสิฐพงษ์ ก่อนที่จะขยายธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น BTG ในทุกวันนี้ ที่มีรายได้ทั้งเครือกว่า 1 แสนล้านบาท และอยู่ภายใต้การบริหารของ ทายายทรุ่นที่ 2 วศิษฐ์ แต้ไพสิฐพงษ์
โดยผลการดำเนินงาน BTG ไตรมาสที่ 3/65 มีกำไรสุทธิ 2,302.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 310.99% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1,091.52 ล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือน ปี 65 มีกำไรสุทธิ 6,141.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,597% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 107.79 ล้านบาท
ทั้งนี้ งวด 9 เดือน ปี 65 รายได้รวมอยู่ที่ 83,825.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.5% จาก 62,801.3 ล้านบาท ในไตรมาส 3/64 มาจากการเติบโตของรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการของทุกกลุ่มธุรกิจ
ขณะที่การเพิ่มขึ้นของกําไรสุทธิและอัตรากําไรสุทธิในไตรมาส 3/65 โดยหลักเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ และอัตรากําไรขั้นต้น รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขาย โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 29,690.7 ล้านบาท เพิมขึ้น 49.2% จาก 19,898.2 ล้านบาท ในไตรมาส 3/64