เทรนด์รักษ์โลก กองทุนพลังงานสะอาด 10 เดือน เอ็นเอวีสะสม 1.4 หมื่นล้าน
กองทุนธีมพลังงานสะอาด ณ ปัจจุบัน สิ้นสุดเดือนตุลาคม 2565 มีจำนวน 27 กองทุน รวมทุกชนิดหน่วยลงทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม หรือ NAV อยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท เงินไหลออกสุทธิสะสม 10 เดือนรวม 363 ล้านบาท
กระแสเทรนด์ Green Energy รักษ์โลกถือเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์มาแรงที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาก เพราะจะเห็นได้ว่าผู้นำหลายประเทศทั่วโลกได้เข้ามาสนับสนุนนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซ และรณรงค์ให้หันมาใช้พลังงานทดแทน รวมถึงด้านของการลงทุน อย่างกองทุนก็ยังนำจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อรองรับเทรนด์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กองทุนธีมพลังงานสะอาด ณ ปัจจุบัน สิ้นสุดเดือนตุลาคม 2565 มีจำนวน 27 กองทุน รวมทุกชนิดหน่วยลงทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม หรือ NAV อยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท เงินไหลออกสุทธิสะสม 10 เดือนรวม 363 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในประเทศไทยกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนที่มักเป็นการลงทุนในอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก โดยมีการลงทุนในเซกเตอร์หลักได้แก่ สาธารณูปโภค, เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม ในด้านสไตล์การลงทุนส่วนใหญ่เน้นในกลุ่มหุ้นเติบโต และอาจเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีมาเก็ตแคปต่างกัน ซึ่งนำไปสู่ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ต่างกัน เช่น กองทุนเปิดธนชาต อีสท์สปริง Global Green Energy เป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดกว่า 7 พันล้านบาท เป็นการลงทุนที่ไม่ได้เน้นเฉพาะหุ้นมีการเติบโต หรือมีมูลค่า เป็นส่วนให้มีความผันผวนต่ำกว่ากองทุนอื่น ใกล้เคียงกับ Morningstar Global Market Index
ขณะที่กองทุนเปิด ทิสโก้ New Energy มีการลงทุนหุ้นขนาดเล็กเติบโตสูง เป็นส่วนทำให้กองทุนมีความผันผวนมากกว่ากองทุนอื่นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คล้ายกับกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Clean Energy และ กองทุนเปิด วี นิว ทรานซิชั่น เอนเนอร์จี ที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและมีความเสี่ยงรอบ 1 ปีที่มากกว่ากลุ่ม
ด้านกองทุนรถยนต์ไฟฟ้ามักเป็นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ อยู่ในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ สถานีชาร์จ โดยมักเป็นการลงทุนผ่านกองทุนอีทีเอฟและมีการลงทุนในบริษัทจีนในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ และลงทุนในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลักตามมาด้วยกลุ่มแบตเตอรี่
ทั้งนี้ กองทุนเปิด ยูไนเต็ด แบตเตอรี่ แอนด์ อีวี เทคโนโลยี , กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ฟิวเจอริสติก พาวเวอร์ ซัพพลาย แอนด์ โมบิลิตี้ และกองทุนเปิด แอล เอช สมาร์ท โมบิลิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า มีการลงทุน Global X Lithium & Battery Tech ETF ซึ่งเป็นกองทุนอีทีเอฟกลุ่มธุรกิจแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในสหรัฐตามที่ปรากฏในตารางด้านบน โดยรอบ 1 ปีที่ผ่านมากองทุนรถยนต์ไฟฟ้าถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างใกล้เคียงกองทุนพลังงานสะอาด แต่อาจมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเล็กน้อย
สำหรับ 8 กองทุน Green Energy ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ได้แก่
1.กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล คลีน เอ็นเนอร์จี ชนิดสะสมมูลค่า ผลตอบแทน 6 เดือนอยู่ที่ 19.40%
2.กองทุนเปิด เคดับบลิวไอ สมาร์ท เอนเนอร์จี้ อิควิตี้ เอฟไอเอฟ ผลตอบแทนย้อนหลังที่ 6 เดือน อยู่ที่ 5.99%
3.กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี รีนิวเอเบิล เอนเนอร์จี ชนิดผู้ลงทุนทั่วไปที่รับเงินปันผล ผลตอบแทนย้อนหลังที่ 6 เดือน อยู่ที่ 0.89%
4.กองทุนเปิดฟิลลิป ไชน่า กรีน เอ็นเนอร์จี แอนด์ เอ็นไวรอนเมนท์ ผลตอบแทนย้อนหลังที่ 6 เดือน อยู่ที่ -2.89%
5.กองทุนเปิดธนชาต อีสท์สปริง Global Green Energy ผลตอบแทนย้อนหลังที่ 6 เดือน อยู่ที่ -7.28%
6.กองทุนเปิด ทิสโก้ New Energy ผลตอบแทนย้อนหลังที่ 6 เดือน อยู่ที่ -7.85%
7.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Clean Energy (ชนิดสะสมมูลค่า) ผลตอบแทนย้อนหลังที่ 6 เดือน อยู่ที่ -9.63%
8.กองทุนเปิด ดาโอ นิว ทรานซิชั่น เอนเนอร์จี ผลตอบแทนย้อนหลังที่ 6 เดือน อยู่ที่ -10.97%