MORE ทำป่วน ตลท. - โบรกเกอร์ ช่องโหว่ใหญ่ในตลาดทุน

MORE ทำป่วน ตลท. - โบรกเกอร์   ช่องโหว่ใหญ่ในตลาดทุน

ความปั่นป่วนจากรายการซื้อ - ขายหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE เพียงแค่ 1 นาที รายการเสนอซื้อ หรือ OFFER เปิดตลาด (ATO)ด้วยจำนวนหุ้น 1,500 ล้านหุ้น ราคา 2.90 บาท กลายเป็นฉนวนเกิดความเสียหายพันล้านบาท กับอุตสาหกรรมโบรกเกอร์

          หุ้นเล็กขนาดมาร์เก็ตแคปไม่ได้ใหญ่เทียบกับหุ้นอีกจำนวนมากในตลาดหุ้นไทย ด้วยจำนวนหุ้น  6,876 ล้านหุ้น มูลค่ามาร์เก็ตแคป 10,000 ล้านบาท  หากแต่วันที่ 10 พ.ย. มีมูลค่าการซื้อขาย 7,161 ล้านบาท  สูงสุดของตลาดหุ้นในวันนั้น จนนำไปสู่ราคาร่วงติดฟลอร์ (Floor)ช่วงปิดเที่ยงที่ 1.95 บาท   และตามมาด้วยฟลอร์ที่ 2 ที่ 1.37 บาท (11 พ.ย.) ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 133 ล้านบาท

           ต้นต่อจาก " รายการ  ATO เสนอซื้อ 1,500 ล้านหุ้น ราคา 2.90 บาท มูลค่า 4,350 ล้านบาท (10 พ.ย.) " เป็นนักลงทุนรายเดียวตั้งออเดอร์ข้ามคืน และใช้บัญชีมาร์จิ้นหรือบัญชีกู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์จำนวน 20 แห่งมาซื้อหุ้น MORE ตัวเดียวในวันนั้น

            กระแสข่าวแฉเบื้องลึกเบื้องหลังรายการเสนอขาย 2.90 บาท มีบัญชีนอมินีเป็นพรรคพวกเดียวกันเข้ามารับซื้อกันหลายราคาก่อนจะลงไปราคาฟลอร์  1.95 บาท ดังนั้นรายการซื้อขายที่เกิดขึ้นจะสำเร็จ (Match) สมบูรณ์   

            ตามมา และทำให้เกิดสถานการณ์บานปลายคือ การชำระเงิน และส่งมอบหุ้นตามกำหนดคือ T+2 หรือวันที่  14 พ.ย.2565 จะสามารถขนเงินมาจ่ายรวดเดียวถึง 4,350 ล้านบาท ได้ไหม ซึ่งทั้งเงิน และหุ้นจะต้องถูกเคลียริ่งโดยตัวกลางคือ โบรกเกอร์ 

            ปรากฏชัดเจนตามการแถลงข่าวของตลาดหลักทรัพย์ว่าธุรกรรมชำระเงิน และส่งมอบดำเนินการปกติแค่ระหว่างสำนักหักบัญชีกับโบรกเกอร์  ส่วนโบรกเกอร์กับลูกค้าเป็นเรื่องไปเจรจาพูดคุยกัน   “สุดท้ายวันที่ 14 พ.ย. รายการซื้อหุ้น 1,500 ล้านบาท ผิดนัดชำระเงินเกิดขึ้นจริง !!”

            นั้นเท่ากับว่า "โบรกเกอร์"  ที่มีออเดอร์ซื้อหุ้น MORE  1,500 ล้านหุ้น วันที่ 10 พ.ย.  ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเงินจ่ายให้กับผู้ขายทั้งหมดแทน ยกเว้นบางโบรกเกอร์ มีการระงับจ่ายเงินให้กับลูกค้าของตนเองบางเคสที่เกิดขึ้นวันดังกล่าว เพื่อดำเนินการตรวจสอบถึงวันที่ 18 พ.ย.

          จนวันนี้ยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนจากทั้ง ตลท. และสมาคมโบรกเกอร์ ว่าตัวเลขความเสียหายที่แต่ละโบรกเกอร์รับไปใครหนักสุดมากสุด เพราะแม้ว่าจะมีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Rule :NCR) ของแต่ละโบรกเกอร์รองรับเพียงพอไม่กระทบฐานะการเงินแต่อย่างใด...แต่ใน “สถานการณ์ที่ข้อมูลไม่ชัดเจน – แถลงข่าวไม่ครบถ้วน” นักลงทุนต้องกลับไปคิดเองจะไว้ใจเก็บเงินหลักประกันไว้ในบัญชีโบรกเกอร์ไหม ทำให้เกิดปรากฏการณ์แห่ไปถอนเงินที่ฝากเป็นหลักประกันกับโบรกเกอร์ทันที วันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา

         กลายเป็น เคสประวัติศาสตร์ ของตลาดทุนไทย ที่เจอการ  “ล้วงเงินไปแบบซึ่งหน้า” จากบรรดาโบรกเกอร์ ที่ถือว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่ทำรายได้ และกำไรบนความโลภของนักลงทุนในระบบตลาดทุน กลับกลายเป็น "เหยื่อ" ของกระบวนการดังกล่าว

         หากใครมีเปิด บัญชีมาร์จิ้น มาแล้วจะรู้ดีถึงพลังงานอำนาจซื้อของบัญชีดังกล่าวด้วยการวางหลักทรัพย์หรือเงินสดมาค้ำประกันเพื่อได้รับสินเชื่อไปลงทุน หรือพูดง่ายๆ นักลงทุนจ่ายเงินซื้อเองส่วนหนึ่ง ที่เหลือโบรกเกอร์จะเป็นฝ่ายจ่าย ซึ่งเงินที่โบรกเกอร์จ่ายให้นั้น ถือว่าเป็นเงินส่วนที่นักลงทุนกู้จากโบรกเกอร์นั่นเอง

         ดังนั้นหากลงทุนถูกทางซื้อขาขึ้น และราคาขึ้น หรือซื้อขาลง และขาลง ได้กำไรมหาศาล ตรงข้ามจะขาดทุนหนักเช่นกัน เพราะโบรกเกอร์จะเรียกวางหลักประกันเพิ่มหรือบังคับขาย (Forced Sell)ไปเลย

       ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบข้อมูลผ่าน ตลท. พบว่าเฉพาะ ปี 2565 หุ้น MORE ติดอันดับหลักทรัพย์สูงสุด 5 อันดับแรกวางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นเฉลี่ย 3,000 ล้านหุ้นทุกเดือน และคิดเป็นเกือบ 50 % สัดส่วนหุ้นต่อจำนวนหุ้นทั้งหมด !!

      สะท้อนได้ดีว่าระบบบัญชีมาร์จิ้น และหลักการปล่อยกู้ไม่ได้ผิดปกติ แต่ความประมาท และชะล่าใจของโบรกเกอร์แต่ละรายพิจารณาปล่อยวงเงิน และการตรวจสอบหละหลวมจนทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล

     ที่สำคัญทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่า จะยังมี “ช่องโหว่ใหญ่” ตรงจุดไหนได้อีกให้เข้าไปสร้างความเสียหายได้ขนาดนี้ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์