POLY ราคาพุ่งแรง 7 วัน บวก 119.12% เผยออเดอร์สั่งซื้อล้นหลังตลาดรถยนต์โต
บมจ.โพลีเน็ต หรือ POLY เข้าตลาดได้เพียง 7 วัน ราคาปรับตัวขึ้นแรงตั้งแต่เริ่มทำการซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 16 พ.ย.65 ที่ผ่านมา IPO ที่ระดับ 6.80 บาทต่อหุ้น หลังจากปิดที่ระดับ 7.30 บาท ล่าสุด 24 พ.ย. 65 ปิดที่ระดับ 14.90 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 7 วัน ที่ระดับ 8.10 บาท หรือ +119.12%
บมจ.โพลีเน็ต หรือ POLY บริษัทน้องใหม่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เพียง 7 วัน ราคาปรับตัวขึ้นแรงทะลุ 100.00% ไปแล้ว โดยซื้อขายวันแรกเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา ราคา IPO ที่ระดับ 6.80 บาทต่อหุ้น และปิดเทรดวันแรกที่ราคา 7.30 บาท ล่าสุดปิดตลาด ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ที่ระดับ 14.90 บาท เทียบกับราคา IPO ปรับเพิ่ม8.10 บาท หรือ +119.12% ระหว่างวันราคาสูงสุดที่ระดับ 16.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 13.70 บาท ปริมาณ 55,394,219 หุ้น มูลค่า 836.82 ล้านบาท
นางกาญจนา เหลารัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โพลีเน็ต หรือ POLY เปิดเผยกับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า ณ ขณะนี้บริษัทมีออเดอร์ล่วงหน้าที่เป็นคำสั่งซื้อเข้ามา 1,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะเป็นได้รายส่งต่อมายังในไตรมาส 4 และปีหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าของบริษัทจะเป็นระดับโกลบอลแบรนด์ที่มีการวางแผนล่วงหน้าเป็นปีและได้ทำการแจ้งสั่งออเดอร์เข้ามา ทำให้บริษัทสามารถคำนวณรายได้ล่วงหน้าได้ว่าจะเข้ามาประมาณเท่าไร ทำให้คาดว่าไตรมาส 4/65 มีผลประกอบการดีกว่าไตรมาส 3/65 และในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้แล้ว 790 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 122.5 ล้านบาท
โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ยิ่งมีความชัดเจนมากในการสั่งออเดอร์ เนื่องจากชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ในหนึ่งคันให้สมบูรณ์ จะมีชิ้นส่วนด้วยกันทั้งสิ้นกว่า 30,000 ชิ้น ฉะนั้นแล้วบริษัทเหล่านี้ที่เป็นลูกค้าก็จะทำการสั่งออเดอร์เข้ามาล่วงหน้า ซึ่งมองว่า คู่แข่งในธุรกิจนี้ไม่น่ามีมากเพราะเป็นการกระจายให้รับรู้รายได้ของแต่ละบริษัท ซึ่งไม่มีการแย่งชิงลูกค้ากัน
ขณะเดียวกันบริษัทได้ทำการปรับพอร์ตธุรกิจใหม่จากเดิมส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Automotive ยานยนต์ประมาณ 70% และ Non-Automotive 30% และปัจจุบันพยายามตั้งเป้าหมายในการปรับพอร์ตใหม่เป็นในกลุ่มยานยนต์ 30% กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ 30% และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 30% และที่เหลือ 10% วางไว้ในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น พลังงาน แพกเกจจิ้ง หรืออาหาร เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทยังมีลูกค้าต่างชาติอย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป ที่เริ่มเข้ามาสั่งออเดอร์แล้ว
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของหุ้น POLY อย่างแรกอาจจะเป็นไปได้ว่าฟรีโฟลทไม่ได้เยอะ ผู้ถือหุ้นรายย่อยมีประมาณแค่ 25% ส่วนใหญ่หุ้นจะอยู่ในผู้บริหารและเจ้าของกิจการ ซึ่งหุ้นมีการกระจายอยู่ในมือรายย่อยน้อย และหุ้นที่มีมาเก็ตแคปไม่ใหญ่มาก ปัจจุบันอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันสินทรัพย์ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อปีที่ 100 กว่าล้านบาท ถือว่าสมเหตุสมผลกับหุ้นขนาดเล็กที่จะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงตั้งแต่เริ่มไอพีโอ
ทั้งนี้บริษัททำเกี่ยวกับยางพลาสติก ยางซิลิโคลน ในพวกอุตสาหกรรมยานต์เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งดีมานด์ยังคงมีอยู่ และผู้แข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีผู้แข่งขันที่มาสายนี้ไม่ได้มีเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางบอดี้พวกส่วนประกอบรถยนต์อื่นๆ มากกว่าจะเน้นตัวรถมากกว่า และภายใต้อุตสาหกรรมยานยนต์ยังเป็นบวกอยู่ ยอดขายในประเทศยังดี เรื่องการส่งออกไปได้ ฉะนั้น POLY จึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในกลุ่มนี้อุตสาหกรรมการผลิตและผู้แข่งขันรายใหม่ ๆ สามารถเข้ามาได้ง่าย ซึ่งอาจจะคล้าย ๆ กับ STGT หวือหวาในช่วงแรก มีออเดอร์รออยู่ มีคำสั่งซื้อรออยู่มากมายได้เงินจากการระดมทุนแล้วนำมาตั้งโรงงานเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายเจอคู่แข่งเข้ามาในตลาดค่อนข้างมากจึงเป็นกับดักของอุตสาหกรรมการผลิตมักจะเป็นแบบนี้ เป็นการคาดการณ์ดีมานด์และซัพพลายผิด จึงอยากเตือนนักลงทุนว่า หากจะเข้าไปซื้อก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมีความระมัดระวัง เนื่องจากว่า ปัจจุบัน PE อยู่ที่ 30 - 40 เท่า ถือว่าค่อนข้างแพง
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า ชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นพลาสติกหรือยางจะไม่ได้โดนดิสรัปโดนตรงเหมือนกลุ่มโลหะ หรือพวกเครื่องยนต์ ซึ่งน่าจะโตตามกลุ่ม ซึ่งกลุ่มยานยนต์ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงขาขึ้น ไม่ใช่แค่ POLY ตัวเดียว แต่ทั้งกลุ่มก็ยังมีการปรับขึ้น ตัวใหญ่ในกลุ่มก็ปรับขึ้นมาด้วย อาจจะเล่นตามกลุ่มได้
ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ต.ค.65 อยู่ที่ 94,228 คัน ขยายตัว 15.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 84,917.32 ล้านบาท จาก 71,410.68 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปช่วง 10 เดือนแรกอยู่ที่ 800,672 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.48% โดยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 727,468.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.60% ยังถือเป็นภาพที่ดีของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้