DTCENT หุ้นเทคโนโลยี จ่อระดมทุนเร่งขยายธุรกิจเติบโต
ยิ่งเทคโนโลยีมาเร็วเท่าไร ! ก็เป็นแรงส่งให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลกยุคใหม่เติบโตก้าวกระโดด และหนึ่งในนั้นคือ น้องใหม่ไอพีโอ บริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ DTCENT
ดำเนินธุรกิจออกแบบ วิจัย พัฒนา จัดจำหน่าย และให้บริการอุปกรณ์ติดตามยานพาหนะ (GPS Tracking) และพัฒนาระบบไอโอที (IoT Solution) และ Artificial Intelligence (AI) ครบวงจร รวมถึงวิจัยและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารการขนส่ง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
กำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 305 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.86 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 46.78 เท่า ซึ่งถือเป็นราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) 15 ธ.ค. นี้ มูลค่าการเสนอขาย 872.30 ล้านบาท
หุ้น DTCENT ถือเป็นหุ้นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เพราะมี “จุดเด่น”คือ การเป็นผู้นำระบบติดตามยานพาหนะ GPS Tracking อันดับ 1 ในประเทศไทย (อ้างอิงจากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกในเดือนม.ค.2565)
“ทศพล คุณะเพิ่มศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ DTCENTให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้ ! เพื่อต้องการสร้างการเติบโตครั้งใหม่ สะท้อนผ่านเงินระดมทุน เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ใน “การลงทุน” สร้างศูนย์บริหารจัดการ และบริการข้อมูลยานพาหนะราว 70 ล้านบาท
คาดจะเปิดให้บริการภายในปี 2566 เพื่อต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ GPS ที่สามารถสร้างรายได้เสริมและเป็น “รายได้ประจำ”เข้ามาให้กับบริษัท และส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ เพื่อรองรับสำหรับการประมูลงาน การซื้ออุปกรณ์ และเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเงินมัดจำในการเข้าประมูลงาน
นอกจากธุรกิจ GPS Tracking แล้ว กลุ่มบริษัทมีแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และโซลูชันใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเป็นระบบอัจฉริยะในกลุ่มงาน IoTอันประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการน้ำ, ระบบ SMART CITY SOLUTION หรือระบบบริหารการจัดการองค์กรส่วนท้องถิ่น, BAMS, BIM, EV Platform, Logistics Demand-Supply Matching Platform และระบบ AI สำหรับงาน IoT
“การเข้าตลาด ในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตของ DTCENT ให้เรามีความมั่นคงด้านฐานการเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลมากขึ้น และด้วยประสบการณ์ของทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า 25 ปี รวมถึงมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง จึงมั่นใจว่าในอนาคตบริษัทมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า ลูกค้า รวมถึงสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น”
ทั้งนี้ แนวโน้มของงานใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านระบบการติดตามที่ใช้ GPS บริษัทยังมีโอกาสเข้าไปประมูลงานได้อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มงานโครงการของหน่วยงานภาครัฐระดับเทศบาล ได้แก่ อบต. และ อบจ. เป็นต้น ซึ่งบริษัทคาดว่าในช่วงปลายปีนี้หน่วยงานภาครัฐระดับเทศบาลจะมีเริ่มเปิดประมูลงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ชะลอไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทจึงคาดหวังจะได้รับงานเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ ยังมี พันธมิตรที่เป็นบริษัทในระดับชั้นนำเข้ามาถือหุ้น ได้แก่ บริษัท ยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็มคอร์ปอเรชั่น (YES) ที่ถือหุ้น DTCENT อยู่ที่ 13.44% และ บริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด (BRS) ถือหุ้นอยู่ที่ 11.20% จะช่วยนำพาบริษัทไปขยายธุรกิจในต่างประเทศได้ในช่วง 3-5 ปี เน้นในภูมิภาคอาเซียนที่พันธมิตรมีการลงทุน และมีเครือข่ายธุรกิจอยู่ และเป็นกลุ่มประเทศที่ยังมีศักยภาพในการเข้าไปรุกตลาด และมีช่องว่างทางธุรกิจ
ขณะที่ตลาด GPS Tracking ในไทยเองก็ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก จากการที่กฎหมายจะเข้ามาควบคุมให้มีการติดตั้งระบบ GPS Tracking ในรถบรรทุกขนส่งทุกคัน คาดว่าจะต้องมีการติดตั้ง GPS ในรถบรรทุกเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคัน จากปัจจุบันติดไปเพียง 500,000 คัน ทำให้ยังมีโอกาสในการเติบโตสูง
สำหรับแนวโน้มผลของการดำเนินงานปี 2565 คาดว่ากำไรจะเติบโตได้ราว 10-15% จากการฟื้นตัวขึ้นหลังจากผ่านพ้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ไปแล้ว ทำให้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมถึงกลุ่มลูกค้าภาคเอกชน เริ่มกลับมาลงทุนในการติดตั้งระบบ GPS ทำให้เริ่มมีงานใหม่ๆ เข้ามา ผลักดันให้ผลการดำเนินงานฟื้นตัวขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
ท้ายสุด “ทศพล” บอกไว้ว่า ด้วยแนวโน้มของธุรกิจที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต จากความต้องการใช้บริการ GPS พร้อมด้วย การพัฒนากลุ่มงาน IoTเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการ ทั้งภาครัฐ และเอกชนมากขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์