ก.ล.ต.สั่งลุยดำเนินการ ‘เอาผิดอาญา’ผู้กระทำผิดหุ้น MORE เร็วที่สุด
ก.ล.ต. เดินหน้าบูรณาการการทำงานทุกฝ่าย เร่งดำเนินการเอาผิดทางอาญา กรณี “หุ้น MORE” โดยเร็วที่สุด ขณะที่ 10 โบรกร่วมหารือ เผยเข้าใจกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น พร้อมร่วมมือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม จับตา “บล.เอเชีย เวลท์” เสนอแผนแก้ไข “เอ็นซี” ภายใน 13 ธ.ค. นี้
ช่วงเช้าวานนี้ (8 ธ.ค.) นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) พร้อมด้วยตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1, บล.กรุงไทย เอ็กซ์ สปริง 2.บล.กรุงศรี 3.บล.เกียรนาคินภัทร 4.บล.คิงส์ฟอร์ด 5.บล.เคจีไอ 6.บล.ดาโอ 7.บล.ทรินีตี้ 8.บล.แลนด์แอนด์เฮาส์ 9.บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ 10.บล.เอเซีย เวลท์
เดินทางเข้าหารือกับ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอความชัดเจนในการเร่งรัดเอาผิดผู้กระทำความผิด กรณีปัญหาหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE
หลังจาการหารือร่วมกันแล้ว นางสาวรื่นวดี เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า กรณีปัญหาหุ้น MORE มีผลกระทบเป็นวงกว้างนั้น ขณะนี้ทางก.ล.ต.เดินหน้าเร่งดำเนินการ 3 โจทย์ที่ต้องพิจารณา คือ 1. การกระทำผิด อาจเข้าข่าย “การกระทำไม่เป็นธรรม” ตาม "พ.ร.บ.หลักทรัพย์" 2 . การทบทวนหลักเกณฑ์การดูแล บล. ที่มีอยู่เพียงพอแล้วหรือไม่อย่างไร 3 . เรื่องคุณภาพหุ้นโดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางและเล็กจะมีคุณภาพมากขึ้นอย่างไร
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการตรวจสอบการกระทำผิด เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น มอร์ ทางสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ได้ทำงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) โดยกำลังพิจารณาเรื่องการกระทำผิดที่อาจเข้าข่าย “การกระทำไม่เป็นธรรม” เพื่อดำเนินการเข้าสู่กระบวนการเอาผิดทางอาญาโดยเร็วที่สุด
ก.ล.ต. ยืนยันว่า จะนำกรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการเอาผิดทางอาญาโดยเร็วที่สุด โดยไม่ได้เข้าสู่มาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งความชัดเจนตรงนี้ เชื่อว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ในระดับหนึ่ง ส่วนมูลค่าความเสียหาย ยังไม่สามารเปิดเผยได้ เพราะถ้าเรื่องเข้าสู่ทางอาญาแล้ว การจะเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ไม่สามารถทำได้มาก อาจกระทบกระบวนการทำงานและรูปคดี "
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้มอบหมายให้ นายเอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานกรณีหุ้น MORE เป็นผู้ดำเนินการ และหากได้รับข้อมูลอะไรเข้ามาเพิ่มเติม ก็จะนำมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล โดยจะรายงานแจ้งความคืบหน้าในที่ประชุม ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์
" ขณะนี้ก.ล.ต. เดินหน้าดำเนินการบังคับใช้กฎหมายแบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ บูรณาการทำงานร่วมทุกฝ่ายอเพื่อให้กระบวนการแต่ละขั้นตอนรวดเร็วและกระชับมากขึ้น เราคงไม่ได้มองแต่การส่งฟ้องแล้วจบ แต่เรามองไปที่ความสำเร็จของคดี คือ การลงโทษผู้กระทำผิด"
นายพิเชฐ สิทธิอํานวย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) กล่าวว่า วานนี้ 10 บล.ได้เดินทางเข้ามาหารือ ก.ล.ต. มีวัตถุประสงค์ เพื่อขอบคุณทางสำนักงาน ก.ล.ต ที่ให้ความสำคัญการดำเนินการเร่งรัดเอาผิดผู้กระทำผิด จากกรณีผลกระทบหุ้น MORE พร้อมกับขอคำแนะนำ รับทราบข้อมูลและความชัดเจนต่างๆ จากก.ล.ต.เพิ่มเติม ในลักษณะขั้นตอนการทำงานของกระบวนการยุติธรรมและอื่นๆ ที่ทางบล.จะสามารถร่วมทำงานได้มากขึ้น
"ยอมรับว่า ตอนนี้เรามีความสบายใจมากขึ้น หลังจากรับทราบเข้าใจกระบวนการยุติธรรมทุกอย่างชัดเจนขึ้นและทุกฝ่ายอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการกันอยู่ หลังจากนี้ หากทาง ก.ล.ต.ต้องการข้อมูลมากกว่านี้ ทางบล.พร้อมร่วมมือให้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์เพิ่มเติม"
แหล่งข่าววงการตลาดทุน กล่าวว่า ทาง บล. สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมกับก.ล.ต. เช่น การเปิดบัญชีการซื้อขาย การโอนและการรับหุ้นเ ป็นต้น เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของเส้นทางการเงินได้เร็วขึ้นและชัดเจนมากขึ้น หลังจากนี้ทาง 10 บล. และสมาคมบล.จะมีการนัดเข้าไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทางก.ล.ต.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรณีหุ้นมอร์ คาดมีมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 4,500-5,000ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เกิดความเสียหาย และทางบล.กำลังทวงคืน โดยฝั่งค่าขายปปง. อายัดไว้ทันมูลค่า 5,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดฝั่งซื้อ มีมูลค่า 4,500 ล้านบาท
แต่ขณะเดียวกันได้เกิดความเสียหายต่อบางบล.แล้ว ที่ต้องนำไปจ่ายค่าซื้อก่อน อย่าง บล.เอเชีย เวลท์ ต้องหาเงินไปชำระเงินคืนให้ลูกค้าได้ตามกำหนด และดำเนินการแก้ไขปัญหา ที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital: NC) ได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีเงินกองทุนต่ำกว่า 0 ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.65 จึงถูกระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้
ต้องติดตามหลังจาก ก.ล.ต. สั่งให้บล.เอเชีย เวลท์ เสนอแผนแก้ไข NC ภายใน 13 ธ.ค. นี้ได้หรือไม่ หากก.ล.ต.อนุมัติแผนดังกล่าว จากนั้นให้บริษัทดำเนินการแก้ไขแผนเพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องกลับมาให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ ภายในระยะเวลา 90 วัน หรือ 13 ก.พ.2566